ใบมะตูม
ใบมะตูม เดิมนั้นเข้าใจว่ามาจาก คติของพราหมณ์ เพราะตัวผู้เขียนเองก็เคยมีพราหมณ์มาหลั่งน้ำเทพมนตร์จากสังข์ แล้วให้ใบมะตูมไว้ทัดหู โดยมีคติว่า หญิงทัดหูข้างซาย ส่วนชายทัดหูข้างขวา ส่วนความหมายของใบมะตูมนั้นเคยได้ยินมา 3 แนว คิด
1. ตรีศูรของพระอิศวร เพราะพระเจ้าแผ่นดินคือสมมุติเทพ กล่าวคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค มีใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์ เปรียบกับพระพรหมทรงหงษ์ ยามประทับก็เชิญธงพระครุฑขึ้นเหนือสถานที่นั้น เพราะ พญาครุฑจะมีวิมานอยู่เหนือพระวิษณุ ยามเสด็จพระราชดำเนินทรงสถลมารคก็มีธงพระครุฑนำไป ดุจพระวิษณุที่ใช้พยาครุฑเป็นเทพพาหนะ แล้วสุดท้านเวลาเสด็จพระราชดำเนินต้องลาดพระบาทไมให้พระบาทต้องแผ่นดิน เพราะคติพราหมณ์เชื่อว่าเมื่อใดพระอิศวรเหยียบพระบาทลงโลกแล้ว โลกย่อมถึงกาลพินาศ นั้นคือตามคติของพราหมณ์ หรือที่เรารู้ๆกันว่า พระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ หรือ เทวราชา ใบมะตูมก็ดุจการประทานพรชัยของพระอิศวร
2. ใบมะตูม มีสามแฉก เปรียบได้กับ พระพรหม พระวิญณุ และพระอิศวร
3. เป็นความเชื่อที่คงนำมาประยุกต์ให้เข้ากับคติทางพระพุทธศาสนา คือใบมะตูมมีสามแฉก เปรียบได้กับ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
มะตูม
ชื่ออื่นๆ : กะทันตาเถร ตูม
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Aegle marmelos ( L.) Correa ex Roxb.
วงศ์ : RUTACEAE
มะตูมเป็นไม้ต้น สูง 10- 15 เมตร ต้นและกิ่งมีหนามแหลมคม เปลือกเรียบ สีน้ำตาล ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักเป็นคลื่น ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีนวล ผล สด รูปทรงกลม หรือค่อนข้างกลม เปลือกนอกแข็ง เมื่อสุก สีเหลือง เมล็ด จำนวนมาก สีน้ำตาลอ่อน รูปไข่กลับ ออกดอกเดือน มีนาคม- เมษายน การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และตอนกิ่ง ประโยชน์ ยอดอ่อนหรือใบอ่อน กินเป็นผักสด ผลดิบ กินได้ เปลือกรากและต้น แก้ไข้จับสั่น ผลอ่อน ช่วยเจริญอาหาร แก้ร้อนใน ขับผายลม แก้ท้องเสีย บำรุงธาตุ ผลสุก คุมธาตุ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงกำลัง มะตูมมี ตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคในไทย ต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา และออสเตรเลีย
สำหรับใบมะตูมนั้นตามตำนานเทวปางของพราหมณ์ได้กล่าวไว้ว่า พรหมองค์หนึ่งจุติเป็นช้างชื่อ เอกทันต์ มีอิทธิฤทธิ์กำลังมหาศาล ไม่ยอมปฏิบัติการใด ๆ ตามที่พระนารายณ์มีโองการ พระนารายณ์ทรงกริ้วมาก จึงนำเอารุกขเจ็ดประการ คือ เถาไม้ต่าง ๆ เจ็ดชนิด ทรงร่ายมนต์แล้วฟาดลงที่รอยเท้าอันเป็นทางเดินของช้างเอกทันต์ ด้วยอำนาจมนต์ของพระนารายณ์ ทำให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวแทบจะแตกเป็นเจ็ดภาคจนทนไม่ไหว วิ่งมาด้วยความโกรธตรงเข้าต่อสู้ แต่สู้ฤทธิ์พระนารายณ์ไม่ได้จึงบ่ายหน้าหนี พระนารายณ์จึงทรงเชือกบาศก์ซัดผูกมัดเท้าขวาของช้างเอกทันต์ แล้วทรงนำพระแสงตรีซึ่งเป็นอาวุธประจำพระองค์ปักลงที่พื้นดินอธิษฐานให้เป็นต้นมะตูม จากนั้นเอาปลายเชือกบาศก์กระหวัดผูกไว้กับต้นมะตูมช้างเอกทันต์จึงพ่ายแพ้ต่อพระนารายณ์ พราหมณ์ถือว่า ใบมะตูม ซึ่งมีลักษณะเป็น ๓ แฉก คล้ายพระแสงตรีเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล จึงถวายพระมหากษัตริย์ ทรงใช้ในโอกาสพระราชทานน้ำสังข์เป็นราชประเพณีสืบมา
ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เราจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมและทรงทัดใบมะตูม พระราชทานพระยาแรกนา และเทพีคู่หาบทั้งสี่ เป็นต้น ดังนั้นการที่ไทยใช้ใบมะตูมในงานพิธีต่าง ๆ อาจจะไม่ใช่เป็นเพราะชอบเสียง “ตูม” ของใบไม้ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็ได้ น่าจะมีสาเหตุอื่น ๆ อีก
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประทานความเห็นว่าใบมะตูมที่มีสามแฉกนั้น หมายถึงตรีมูรติ หรือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะของฮินดู ความเห็นนี้ใกล้เคียงกับความเชื่อของฮินดูมาก ตามลัทธิฮินดูนั้น มะตูม ที่มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า “พิลฺ ว” หรือที่เป็นภาษาฮินดูว่า “เพล” นั้น เป็นไม้ “ศรีผล” หรือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะ หรือพระอิศวรนั่นเอง เหตุนี้พระศิวะจึงมีสมญานาม “พิล วฑณ ฑ” หรือ “ผู้มีไม้มะตูมเป็นคทา”
นอกจากนั้นไม้มะตูมยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพวกลัทธิศากตะด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าใบมะตูมที่มีรูปเป็นสามแฉกคล้ายตรีศูล นั้นเป็นสัญญลักษณ์ของหน้าที่ ๓ อย่างของพระศิวะ คือ การสร้าง การพิทักษ์ และการทำลาย นอกจากนั้นยังเป็นสัญญลักษณ์ของตาทั้งสามของพระศิวะด้วย
เรื่องกำเนิดของต้นมะตูมของฮินดูนั้นมีเรื่องมีว่า
พระลักษมีชายาของพระวิษณุนั้นบูชาพระศิวะด้วยดอกบัวจำนวนพันดอกเป็นกิจวัตรทุกวัน วันหนึ่งพระนางพบว่า ดอกบัวที่ใช้บูชาพระศิวะหายไปสองดอก พระลักษมีเป็นกังวลและว้าวุ่นใจมาก และพยายามคิดหาสิ่งทดแทน แล้วนางก็ระลึกขึ้นได้ว่าพระวิษณุสวามีของนางเคยให้ข้อสังเกตว่า อุระของนางนั้นสวยเหมือนดอกบัวที่กำลังจะบาน เมื่อระลึกได้ดังนั้นนางก็ตัดสินใจใช้อุระของนางแทนดอกบัว ขณะที่นางกำลังจะตัดอุระของนางด้วยดาบคมกริบนั้น พระศิวะก็ปรากฎองค์ขึ้น พระศิวะพอใจมากที่พระลักษมีภักดีต่อพระองค์แน่นแฟ้น พระศิวะจึงห้ามไม่ให้พระลักษมีตัดอุระนาง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะพระลักษมีได้ตัดอุระนางไปข้างหนึ่งแล้ว เพื่อตอบแทนความภักดีของนาง พระศิวะจึงสัญญาว่า พระองค์จะเอาอุระของนางไปปลูกมันจะกลายเป็นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ต้นมะตูมจึงเกิดขึ้นในโลกแต่นั้นมา
อาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งตำนานเรื่องนี้ขึ้นคงเห็นว่าลูกมะตูมมีรูปร่างคล้ายอกสาว ก็เลยผูกเรื่องว่าต้นมะตูมนั้นมีกำเนิดจากอกสาว และที่กะเกณฑ์ให้เกิดจากอุระของพระลักษมีก็คงเป็นพวกผู้แต่งเป็นพวกไศวะ หรือพวกที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุดนั่นเอง พวกนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า พระศิวะนั้นสำคัญกว่า ยิ่งใหญ่กว่าพระวิษณุเพราะแม้แต่พระลักษมีชายาของพระวิษณุเองก็ยังต้องบูชากราบไหว้พระศิวะการที่เรื่องกำเนิดต้นมะตูมของฮินดูเกี่ยวกับพระลักษมีนี้อาจเป็นเหตุให้ เรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้
ใน หนังสือนายรายณ์สิบปางเล่าว่า
ครั้งหนึ่งช้างเอกทันต์อาละวาดรุกรานไปทั่วตรีโลก พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์มาปราบ พระนารายณ์จึงเอาไม้เจ็ดประการมาร่ายวิษณุมนต์สามคาบ ฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์นั้นสามครั้ง เดชุอำนาจวิษณุมนต์บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวดังจะแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง ไม่อาจทนอยู่ได้ ก็วิ่งมาด้วยความโกรธเข้าต่อสู้กับพระเป็นเจ้า พระนารายณ์ก็เข้าต่อยุทธ์ด้วยช้างเอกทันต์เป็นสามารถ ช้างเอกทันต์สิ้นกำลังเห็นจะต้านทานพระนารายณ์ไม่ได้ก็บ่ายหน้าจะหนี พระนารายณ์จึงเอาบ่วงบาศพญานาคซัดถูกเท้าขวาช้างเอกทันต์แล้วเอาตรี ซึ่งเป็นอาวุธของพระองค์ปักลงกับพื้นธรณีอธิษฐานให้เป็นไม้มะตูม แล้วเอาหางช้างเอกทันต์พันไว้กับต้นมะตูมนั้น ช้างเอกทันต์ก็ไม่อาจหนีไปได้
จะเห็นได้ว่าในเรื่องของไทยนั้นต้นมะตูมเกิดจากตรี-อาวุธของพระวิษณุ ไม่ได้เกิดจากอุระพระลักษมีอย่างเรื่องของฮินดู และการที่ใบมะตูมมีสามแฉกคล้ายตรี อาจทำให้ผู้แต่งเรื่องนี้แต่งให้ต้นมะตูมเกิดจากตรีก็เป็นได้นอกจากนั้นยังกล่าวได้อีกว่าการที่เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของไทย ไม่เหมือนของฮินดูนั้น อาจเป็นเพราะว่า ไทยเราไม่เคยรู้เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของฮินดูเลย แต่คิดเรื่องของเราขึ้นเอง สาเหตุที่ทำให้คิดเรื่องขึ้นก็เพราะว่าในเวลาที่เกิดนินานเรื่องนี้นั้น ไทยรับนับถือไม้มะตูมเป็นไม้มงคล เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพิธีต่าง ๆ อยู่แล้ว และไม้มะตูมนี้คงได้ใช้ในพิธีคล้องช้างด้วย จึงมีผู้ผูกเรื่องกำเนิดไม้มะตูมให้เกี่ยวข้องกับพิธีนี้ขึ้น
ไทยคงได้ธรรมเนียมการใช้ใบมะตูมในงานพิธีจากพราหมณ์ โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ไศวะพราหมณ์ในอินเดีย เมื่อจะบูชาเทพเจ้าประจำบ้านเป็นกิจวัตรประจำวันนั้นจะถวายใบมะตูม พร้อมกับท่องมนต์จาก “พรหมกรรมะ” ว่า
“ข้าแต่พระศิวะ ข้าขอถวายใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้แก่พระองค์ ใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้ เปรียบเหมือนคุณลักษณะสามประการของพระองค์ คือดี ไม่ดี และเพิกเฉย แฉกทั้งสามของพระองค์ยังเปรียบเสมือนเนตรทั้งสามของพระองค์ และเปรียบเหมือนอาวุธศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของพระองค์ด้วย ใบมะตูมนั้นทำลายบาปแห่งสสาร ผู้ใดได้แม้เพียงเห็นหรือสัมผัสใบมะตูมก็จะหลุดพ้นจากบาปทั้งปวง ใบมะตูมแม้เพียงใบเดียวที่ได้ถวายพระศิวะแล้วสามารถล้างบาปหนักที่สุดได้”
พราหมณ์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า
“พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้ เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้ในการพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษก เป็นต้น พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ นับถือพระอิศวรคล้ายพระยโฮวาหรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน” นั้นก็คงจะได้นำแบบการใช้ใบมะตูมในพิธีต่าง ๆ มาใช้ในเมืองไทยด้วย และไทยก็คงยอมรับนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามแบบพราหมณ์ไศวะ และยอมรับใช้ใบมะตูมตามแบบพราหมณ์มาจนทุกวันนี้
อาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และภาษาฮินดู และผู้คุ้นเคยกับขนมธรรมเนียมของชาวฮินดูอย่างดี ได้กรุณาให้รายละเอียดว่า แม้จนปัจจุบันนี้ ชาวฮินดูนิกายไศวะก็ยังนับถือมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะอยู่ และไม่ได้ใช้แต่เฉพาะใบอย่างเดียวเท่านั้นในการพิธีต่าง ๆ หากยังใช้ส่วนอื่น ๆ ของไม้มะตูมด้วย เช่นในการประกอบยัญพิธีโหมกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่าง ๆของชาวฮินดู พราหมณ์จะใช้ทั้งกิ่งและใบมะตูมประดับทางเข้าหรือทวารทั้งสี่ทิศของบริเวณพิธี นอกจากนั้นชาวฮินดูยังใช้ใบมะตูมทำอรตีหรือทำการบูชากราบไหว้เทพเจ้าทุกวันเหมือนไทยเราจุดธูปเทียนถวายดอกไม้บูชาพระนั่นเอง
นอกจากจะใช้ไม้มะตูมในพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ชาวฮินดูยังใช้ไม้มะตูมเป็นสมุนไพรแก้โรคต่าง ๆ ด้วย เช่นใช้แก้ จฺ รมโรค หรือโรคผิวหนัง เขาจะเอาเยื่อมะตูม ผิวมะตูม มาบดแล้วละลายน้ำใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน หรือใช้ทาแก้โรคก็ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัยได้กรุณาชี้แจงก็คือ นอกจากชาวฮินดูจะนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ประจำพระศิวะแล้ว ปัจจุบันนี้ชาวฮินดูยังให้ไม้มะตูมเป็นไม้ประจำพระลักษมีด้วย ชาวฮินดูจะใช้ไม้มะตูมนี้ทั้งต้นทั้งกิ่งทั้งใบในการบูชาพระลักษมี กล่าวได้ว่าธรรมเนียมนี้อาจเกิดจากตำนานเรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้จากอุระของพระลักษมี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นก็เป็นได้
ที่น่าสนใจ คือพระลักษมีหรือพระศรีนี้เป็นเทวีแห่งโชคลาภ และความเจริญทั้งปวง พระศรีหรือพระลักษมีมีความสำคัญเรื่องโชคมากจนกวีสันสกฤตมักนำมาใช้ในความเปรียบว่า “พระราชาองค์ใดมีพระศรีเคียงข้าง พระราชาองค์นั้นเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง” หรือว่า “พระจักรพรรดิ์องค์นี้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติดีเลิศทั้งปวง เพราะมีพระศรีอยู่ด้วย” เป็นต้น
ไทยอาจได้ธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมในงานพิธีต่าง ๆ จากคตินี้ด้วยก็ได้กล่าวคือ เดิมอาจจะใช้ตามพราหมณ์นิกายไศวะ และต่อมาเมื่อธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมของชาวฮินดูในการบูชาพระลักษมี เพื่อแสวงโชคลาภแพร่หลายขึ้น ไทยก็อาจจะรับคตินี้มาด้วยก็เป็นได้ จึงได้นิยมใช้ใบมะตูมในงานพิธี โดยเฉพาะงานมงคลต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ในคัมภีร์จตุรมาสมหาตมยะได้กล่าวว่าใบมะตูมที่เป็นสามแฉกนั้นแทนพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามอันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ และในคัมภีร์ไชมินีอรัณยกถากล่าวว่า นางเทราปที(กฤษณา)พระมเหสีของกษัตริย์ปานฑพทั้ง 5 ได้เคยถวายใบมะตูมมีจำนวนถีง 100,000ใบแด่พระอิศวรเพื่อขอพร โดยตามปกติแล้วชาวฮินดูเขามักจะเขียนรูปศิวลึงค์กับใบมะตูมไว้ด้วยเสมอ
ในทางศาสนาพุทธก็เช่นเดียวกันกล่าวกันว่าครั้งหนึ่งพระพรหมได้ถวายผลมะตูมแด่องค์พระศาสดา และพระองค์ได้ประสาทมงคลพรไว้ว่า มะตูมเป็นผลไม้ที่ดีที่สุด ควรค่าแก่การใช้เป็นเครื่องบูชา ในทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับช้าง ก็กำหนดว่าหมอช้างห้ามทำลายต้นมะตูมทั้งนี้เขาถือว่าต้นมะตูมเกิดจากตรีพระนารายรณ์ ดังปรากฏในหนังสือนารายณ์สิบปางฉบับหลวง ได้กล่าวถึงตอนองค์นารายณ์ออกปราบช้างเอกทันต์ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อท่านเอาเชือกบ่วงบาศซัดถูกเท้าขวาช้างแล้ว พระเป็นเจ้าเอาตรีปักลง ณ พื้นธรณี อธิษฐานให้เป็นต้นไม้มะตูม แล้วเอาหางอุรเคนทรกระหวัดไว้กับต้นมะตูม แล้วเอาพระหัตถ์ทึ้งเอาวลีวัลย์มาอธิษฐานให้เป็นทามภัยเณ คล้องคอคชเอกทันต์เข้าไว้กับไม้คูณ แล้วพระเป็นเจ้าจึ่งเสด็จมาหยุดอยู่ใต้ร่มไม้ยอ แล้วเรียกคนทั้งสี่(ที่ตามไป) ให้มาจากที่ซุ้มร่มอันนั้น พระเป็นเจ้าจึ่งเอาตำรับพฤฒิบาศประสิทธิ์ให้คนทั้งสี่ เป็นประกรรม…………..จึ่งได้ห้ามไม้มะตูม ยอ และคูณ มิให้หมอช้างทั้งปวงหักกิ่ง ถากเปลือก และเด็ดใบ เพราะเหตุพระผู้เป็นเจ้าประสิทธิ์ครูประกรรมมาแต่ก่อนในที่นั้น”
ในด้านความเชื่อโบราณเชื่อว่า มะตูมเป็นไม้มงคลที่ควรมีไว้ในบริเวณบ้าน โดยปลูกไว้ทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ร่วมปลูกกับไผ่รวก และทุเรียน ถือเอาว่าเป็นเคล็ดลับในชื่อเรียกที่เป็นมงคลนาม จะทำให้เกิดกำลังใจ เกิดความมานะพยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าใบมะตูมเป็นใบไม้ที่ป้องกันเสนียดจัญไร และขับภูติผีปีศาจได้ และยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดชัยนาทอีกด้วย
จะเห็นว่ามะตูมเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มาแต่โบราณทั้งทางไสยศาสตร์และทางยา ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักต้นมะตูมกันเถิด
มะตูมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos (L.) Corr. อยู่ในวงศ์ Rutaceac มะตูมมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายทั้ง กะทันตาเถร ตุ่มตัง ตูม (ปัตตานี,ภาคใต้) พะโนงค์ (เขมร) มะตูม (ภาคกลาง) มะปิน(ภาคเหนือ) มะปิส่า (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) Bael Fruit Tree Bengal Quince และBilak.
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ มะตูมมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา และออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยพบประปรายตามป่าเบญจพรรณ และชายป่าเหล่าทั่วไป ยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ที่ที่พบส่วนมากสูงจากระดับน้ำทะเล 50 - 700 ม.
ในต่างประเทศพบที่ อินเดียวแถวแคว้นอัสสัม ศรีลังกา กัมพูชา ลาว อินโดนีเซียและออสเตรเลีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะตูมเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางสูงถึง 10-15 เมตร เรือนยอดกลมค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งต่ำ ตามลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งแหลมคมและหนามยาวมากเป็นพิเศษอยู่มากมาย เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล-เทา
ใบเป็นใบประกอบชนิด มีใบย่อยรูปไข่ 3 ใบ สองใบล่างมีขนาดเล็กและติดตรงข้ามกัน ส่วนใบปลายมีขนาดใหญ่
กว้าง 3 - 6 ซม. ยาว 4 - 12 ซม. และออกเป็นใบเดี่ยว โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม เนื้อใบบางเกลี้ยง เส้นแขนงใบ มี 6 - 10 คู่ ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัดเจน หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีจาง ออกเวียนเป็นเกลียวรอบกิ่ง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายเรียวแหลม กว้าง 1.75 - 7.5 ซม. ยาว 4 - 13.5 ซม. ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ฐานใบมน ก้านใบยาว ใบมีกลิ่นหอม หากนำใบส่องแดดจะเห็นเนื้อใบมีต่อมน้ำมันจุดใส ๆ กระจายอยู่
ดอกมีกลิ่นหอม ขนาดเล็ก ออกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกเป็นดอกช่อและเป็นดอกชนิดสมบูรณ์เพศ ออกตรงปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกย่อยสีขาวหรือขาวปนเขียว มีกลิ่นหอมไกล มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 4 - 5 กลีบ เกสรตัวผู้มีหลายอัน ก้านอับเกสรผู้สั้นมาก เกสรตัวเมียมี 1 อัน รังไข่ รูปไข่ เกลี้ยง ๆ ภายในแบ่งเป็น 4 - 5 ช่องแต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวนมาก
ผลเป็นรูปไข่หรือรูปกลมโตวัดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 - 10 ซม. ยาว 12 - 18 ซม เปลือกผลจะหนาแข็ง ผลอ่อนจะมีเปลือกสีเขียวแข็ง เมื่อแก่จะกลายเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในผลสุกมีเนื้อสีส้มปนเหลือง รสหอมหวาน มีน้ำเมือก เป็นยางเหนียว เนื้อนิ่มมีเมล็ดสีขาวจำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อผล เมล็ดแก่สัตว์ป่าโดยเฉพาะกระรอกชอบกิน เมื่อถ่ายมูลออกมาจึงช่วยกระจายพันธุ์ได้ดี ผลอ่อนมีในช่วงฤดูฝน ส่วนผลสุกจะมีในช่วงกลางฤดูหนาวถึงฤดูแล้งระหว่างเดือน ธันวาคม - กุมภาพันธุ์
ต้นมะตูมป่ามักเกิดตามป่าดงทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ เจริญงอกงามได้ในดินทั่วไปทุกภาค ทนแล้งได้ดี นิยมปลูกตามบ้าน แถวภาคกลาง และภาคเหนือ การปลูกนิยมตอนเอากิ่งมาปลูกจะได้ผลดี หรือเอาเมล็ดมาเพาะก็ได้ โดยเอาต้นกล้าที่ปลูกเอาไว้ในถุงพลาสติก รอจนต้นแข็งแรงเสียก่อนจึงเอาไปปลูกในหลุมต่อไป ดูแลรดน้ำเป็นระยะ พร้อมทั้งกำจัดวัชพืช
การใช้ประโยชน์
ด้านเนื้อไม้แปรรูป ลักษณะเนื้อไม้มีสีขาวแกมเหลืองอ่อน เนื้อละเอียดมีกลิ่นหอมในขณะที่ยังสดอยู่ ไม่มีแก่น ใช้ทำอุปกรณ์การเกษตรกรรมและขนส่งคือทำตัวเกวียน เพลาเกวียน ทำเกี่ยวกับพิธีกรรมการตายคือทำลูกหีบ เครื่องความงามเช่น หวี หวีเสนียด และเครื่องดนตรี
ด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นมะตูมมีรูปทรงต้นเป็นรูปเจดีย์ต่ำ เรือนยอดโปร่ง ใบอ่อนสีใสสวยงามประกอบกับผลมีจุดน่าสนใจ ขนาดไม่ใหญ่นักใช้พื้นที่ในการปลูกแคบ ๆ ก็ได้ เป็นต้นไม้ที่มีดอกไม่เด่นแม้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มักนิยมปลูกตามวัด ปลูกเป็นไม้ประดับสวนให้ร่มเงาสวยงามดี
ด้านการทำสีย้อม ส่วนที่ใช้คือเปลือกผลดิบ ๆ จะให้สีย้อมสีเหลืองเหมาะกับการย้อมฝ้าย
ด้านเป็นพืชอาหาร มีส่วนที่ใช้เป็นอาหารคือ ยอดอ่อนและผลดิบใช้รับประทานเป็นผัก กินกับลาบ ก้อย น้ำพริก หรือนำผลดิบมายำ ยอดอ่อนออกตลอดทั้งปี ในตลาดท้องถิ่นมักพบใบมะตูมอ่อนจำหน่ายเป็นผัก
ด้านสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรและมีสรรพคุณทางการแพทย์แผนโบราณคือ
ราก รสฝาดปร่าซ่าขื่นเล็กน้อย แก้พิษฝี แก้พิษไข้ แก้สติเผลอ รักษาน้ำดี แก้หืดหอบไอ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ลมอัดแน่นในอก แก้มุตกิต มุตฆาต แก้เสมหะ แก้ดี แก้ปวดหัวตาลาย แก้สะอึก แก้อชินโรค แก้ลม แก้ลงท้อง แก้ฝี เปื่อยพังแก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต ขับปัสสาวะ แก้กระษัย แก้ซางตะกั่ว นอกจากนี้สามารถนำรากไปคั่วไฟให้เหลือง แล้วนำไปดองสุราเพื่อกลบกลิ่น แก้โรคลำไส้ แก้ท้องเดิน แก้หวัด
เปลือกราก แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ เปลือกต้น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ แก้ลงท้อง แก้พยาธิ แก้บิด แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตกโลหิต
แก่น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด
ใบ รสฝาดปร่าซ่าขื่นมัน แก้ตาเจ็บ แก้เยื่อตาอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้หวัด แก้เลือดเป็นพิษ แก้ไข้ แก้หืด แก้เสมหะเหนียว แก้บวม แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เสมหะ แก้มูกเลือด แก้กระหายน้ำ หรือนำใบมารับประทานเป็นผักจิ้ม แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ลดความดันโลหิตสูง
ดอก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต
ผล แก้ลม แก้เสมหะ แก้โลหิต ขับหนอง แก้สะอึก แก้กระหายน้ำ ขับผายลม ขับเสมหะ แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้ท้องเดิน บำรุงธาตุ ชูกำลัง บำรุงธาตุไฟ แก้มูกเลือด แก้ธาตุพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ รักษาโรคกระเพาะ แก้โรคลำไส้ เป็นยาระบาย แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ตับโตตับดับ คุมกำเนิด สมานแผล แก้ไข้ตรีโทษ แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต
หนาม แก้พิษฝีต่าง ๆ แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ
ส่วนทั้งห้า รสฝาดปร่าซ่าขื่น แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ลดความดันโลหิตสูง เจริญอาหาร
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้โรคหืด ไอ หอบ แก้ไข้ ขับลม แก้มุตกิด แก้เสมหะพิการ แก้ดีพิการ ลดน้ำตาลในเลือด แก้ร้อนใน เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาธาตุ บำรุงกำลัง แก้กระหายน้ำ รักษาท้อง
ผลอ่อน รสฝาดร้อนปร่าขื่น หั่นผึ่งให้แห้ง บดให้ผลหรือต้มรับประทานแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับผายลม บำรุงกำลัง
ผลแก่ รสฝาดหวาน ทุบให้แตกต้มใส่น้ำตาลทรายแดง เรียกว่า “น้ำอัชบาล “ดื่มแก้เสมหะและลม บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมผาย และช่วยเจริญอาหาร
ผลสุก รสหวานเย็น ต้มดื่มหรือเอาเนื้อรับประทาน แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร แก้พิษฝี แก้ไข้ แก้ลมหืดหอบ ไอ
ผลมะตูมนิ่ม รสฝาดหวาน ยาอายุวัฒนะ ขับผายลม เจริญอาหาร บำรุงกำลัง
สารสำคัญที่พบในมะตูม
มีมากมายหลายชนิดเช่นแทนนิน, เพคติน(pectin),สารเมือก( mucilage) และสารอื่นๆ นอกจากนี้ยางมะตูม(bael gum) นักวิจัยไทยได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นสารปรุงแต่งในตำรับยาน้ำกระจายตัว พบว่ายางมะตูมเป็นสารปรุงแต่งที่ดีสำหรับตำรับยาน้ำกระจายตัวตำรับน้ำมันกระจายในน้ำ(oil in water emulsions)และของแข็งกระจายในน้ำ(suspending agent)
- ผลแก่มีสารที่เป็นเมือก และน้ำมันระเหย - ผลสุกมีสารที่เป็นเมือก น้ำมันระเหย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ต้านเชื้อมาลาเรีย ฆ่าไส้เดือน ฆ่าพยาธิ ฆ่าแมลง ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านฮีสตามีน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน( insulin) ลดระดับไขมันใน ลดการอักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่าเมื่อนำสารแทนนินซึ่งสกัดจากใบมะตูมไปใช้ทดสอบกับหนูขาวที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้หนูขาวนั้นมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เนื่องจากเกิดการหลั่งของอินซูลินหรือฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมากขึ้น
การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดผลหรือรากด้วย 50% เอทธานอล เข้าช่องท้องหนถีบจักร ขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 1 ก/กก
สารสกัดใบด้วย 50% เอทธานอล เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือให้กินขนาด 10 ก/กก ไม่พบพิษ
ให้หนูขาวกินสารสกัดผลด้วยน้ำ ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 มีค่ามากกว่า 10 ก/กก และเมื่อผสมผลมะตูมในอาหารร้อยละ 25 ให้หนูขาวกินเป็นเวลา 10 วัน พบว่าเกิดพิษต่อตับและไต จากคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันและมากไปด้วยคุณค่าของต้นมะตูม เราควรอนุรักษ์ต้นมะตูมให้ดำรงอยู่ตลอดไป
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานใบมะตูมในงานพระราชพิธีที่เป็นมงคล อาทิ
-- พระราชพิธีพืชมงคลแรกนาขวัญ พระราชทานน้ำสังข์และใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพี
-- เอกอัครราชทูตไทยกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ
-- พิธีเสกสมรสและสมรสพระราชทาน
-- พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่เข้าเฝ้าเมื่อเจริญพระชนมพรรษา และข้าทูลละอองธลีพระบาท
ในงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานใบมะขม (ใบมะตูมอยู่ในพระมหาสังข์) และทรงเจิมแป้งหอมที่หน้าผากผู้เข้าเฝ้าการรับพระราชทานใบมะตูม ให้ผู้เข้ารับพระราชทานยกมือขวาขึ้นเอางานก่อนรับพระราชทาน เมื่อรับพระราชทานแล้วให้เหน็บใบมะตูมไว้ที่ซอกเหนือหูขวา
สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการ
๑. ใบเงิน ๒. ใบทอง ๓. ใบนาค ๔. ใบพรหมจรรย์ ๕. หญ้าแพรก ๖. ฝักส้มป่อย ๗. ผิวมะกรูด ๘. ใบมะตูม
เหตุที่ถือว่า ใบไม้และผิวของผลไม้ ๘ อย่างเป็นมงคลเพราะถือว่า ใบเงิน ใบทอง ใบนาค หมายถึงความมั่งคั่ง
ใบพรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามรวดเร็ว ฝักส้มป่อย หมายถึง การล้างโรคภัย ผิวมะกรูด หมายถึง ทำให้สะอาด และใบมะตูม หมายถึง เทพพรของพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ทั้งสามคือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม