พิมพ์

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้ คือ อินเดีย  นับถือกันมากในประเทศอินเดีย  มีเป็นส่วนน้อยตามประเทศต่าง ๆ   เช่น  ลังกา บาหลี อินโดนีเซีย  ไทย แอฟริกาใต้  นับถือกันมายาวนานตั้งแต่ยุคอินเดียโบราณก่อนมัยพุทธกาล จนถึงปัจจุบัน "พระเวท" ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ได้รับยกย่องว่าเป็น "วรรณคดีเก่าแก่ที่สุดในโลก" ด้วย  ศาสนาพรหมณ์เป็นศาสนาที่มีความเชื่อและแนวทางปฏิบัติต่างกันมากมาย ทั้งในสมัยเดียวกันและสมัยต่างกัน แม้แต่ชื่อของศาสนาเอง ก็ยังเรียกต่างกันไปตามกาลเวลา   เช่น

            1.  สนตนธรรม แปลว่า "ศาสนาสนต"   หมายความว่า เป็นศาสนาที่ดำรงอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีวันเสื่อมสูญ

            2.  ไวทิกธรรม  แปลว่า "ธรรมที่ได้มาจากพระเวท"

            3.  อารยธรรม  แปลว่า "ธรรมอันดีงาม"

            4.  พราหมณธรรม แปลว่า"คำสอนของพราหมณาจารย์"

            5.  ฮินทูธรรม หรือ ฮินดูธรรม แปลว่า "ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสาหรือศาสนาฮินดู" ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็คือศาสนาเดียวกันนั่นเอง  การที่มีชื่อเรียกควบคู่กันไป 2 ชื่อ คือ "พราหมณ์-ฮินดู" เพราะผู้ให้กำเนิดศาสนานี้

        ในตอนแรกเริ่มเรียกตัวเองว่า "พราหมณ์"   ต่อมาศาสนาเสื่อมลงระยะหนึ่งและได้มาฟื้นฟูปรับปรุงเป็นให้เป็นศาสนาฮินดู โดยเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้าไป มีการปรับปรุงเนื้อหาหลักธรรม คำสอนให้ดีขึ้น คำว่า "ฮินดู" เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุ  และเป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสมของชาวอารยันกับชาวพื้นเมือง ในชมพูทวีป และชนพื้นเมืองนี้ได้พัฒนาศาสนาพราหมณ์โดยการเพิ่มเติมอะไรใหม่ ๆ ลงไป แล้วเรียกศาสนาของพวกนี้ว่า "ศาสนาฮินดู"เพราะฉะนั้นศาสนาพราหมณ์จึงมีอีกชื่อในศาสนาใหม่ว่า "ฮินดู" จนถึงปัจจุบัน

        ในอดีตศาสนาพรหมณ์หรือฮินดูจะมีการจัดคัมภีร์ออกเป็น 3 พวกตามการยกย่องนับถ้อเทวะทั้ง 3 โดยแยกเป็น 3 นิกายใหญ่ ๆ นิกายใดนับถือเทวะองค์ใดก็ยกย่องว่าเทวะองค์นั้นสูงสุด  ต่อมานักปราชญ์ชาวฮินดูได้กำหนดให้เทวะทั้งสามองค์เป็นใหญ๋สูงสุดเสมอกัน  เทวะทั้ง 3 นี้ได้รับการนำมารวมกันเรียว่า "ตรีมูรติ" ใช้คำสวดว่า "โอม" ซึ่งย่อมาจาก "อะ อุ มะ" แต่ละพยางค์แทนเทวะ 3 องค์ คือ

               "อะ"  แทนพระวิษณุหรือพระนารายณ์

               "อุ"  แทนพระศิวะหรือพระอิศวร

               "มะ" แทนพระพรหม

        ศาสนาพราหมณ์มีคัมภร์และวรรณคดีทางศาสนามากมาย  ถ้าจะแบ่งยุคของศาสนาพราหมณ์ แบ่งได้ดังนี้

               1.  ยุคพระเวท

               2.  ยุคมหากาพย์และทรรศนะทั้ง 6

               3.  ยุคหลังจนถึงยุคปัจจุบัน

               4.  ยุคพระเวท  มีคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ 

        
  
 
 ปุราณะ
  
 
        คำว่า  “ปุราณะ” แปลว่า “เก่า” เป็นนามที่ใช้เรียกหนังสือจำพวกหนึ่งซึ่งพราหมณ์เก็บรวบรวมแต่งขึ้นภายหลังยุคหนังสือจำพวกที่เรียกว่า “อิติทาส” เช่นเรื่องมหาภารตะและรามายนะ หนังสือต่าง ๆ ของพราหมณ์แบ่งออกเป็น 3 ชุดตามลักษณะแห่งหนังสือ คือ  

        1.  ยุคพระเวท  เป็นยุคที่แต่งตามตำรับที่ออกนามว่าพระเวท พร้อมด้วยตำรับอื่น ๆ อันเป็นบริวาร มีข้อความกล่าวด้วยการบูชายัญสรรเสริญพระเป็นเจ้าโดยวิธีอย่างเก่าที่สุด  ไม่ใคร่จะมีเรื่องราวเล่าเป็นนิยาย หรือประวัติพิสดาร  

        2.  ยุคหิติทาส  เป็นยุคที่เกิดมีวีรบุรุษ (คือคนเก่งในสงคราม)ขึ้นแล้ว  จึงมีผู้คิดรวบรวมเรื่องราวอันเป็นตำนานเนื่องด้วยวีรบุรุษเหล่านี้ รจนาขึ้นเป็นกาพย์ให้จำง่ายแล้วสอนศิษย์สาธยายในกาลเวลาอันควร แล้วจำกันต่อ ๆ มา เช่นเรื่องรามายนะ มหาภารตะ  เป็นต้น แต่ไม่มีผู้ใดจดลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาอีกร้อยปีจึงมีการจดเป็นหนังสือ ฉะนั้นอิทธิพลของหนังสืออิติทาสเหล่านี้จึงมักมีข้อผนวกหรือแก้ไขเกินไปกว่าเรื่องเดิม เช่น นับถือพระนารายณ์และกฤษณะในส่วนที่เป็นวีรบุรุษก่อน แล้วจึงเกณฑ์ให้เป็นพระนารายณ์อวตารต่อไป แต่ถึงอย่างไรวีรบุรุษเหล่านี้ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่

        3. ยุคปุราณะ  เมื่อยกย่องวีรบุรุษต่าง ๆ มากขึ้นทุกที ๆ จนกลายเป็นเทวดาไปเลย จึงเกิดมีตำรับชุดปุราณะขึ้นสำหรับเป็นหลักฐานว่าพระผู้เป็นเจ้านั้น ๆ ได้ทรงอภินิหารอย่างนั้น ๆ  และได้ทรงเสด็จมาเอื้อต่อมนุษย์โดยทรงอวตารหรือแบ่งภาคมาอย่างนั้น ๆ และลักษณะการสั่งสอนโดยวิธีเล่าเป็นนิทานธรรมะก็เป็นวิธีที่พวกอาจารย์สังเกตเห็นว่าเป็นที่พอใจแก่การศึกษา เป็นผลดีทำให้จดจำคำสั่งสอนไว้ได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นตำราที่เรียกว่า “ปุราณะ” คืออ้างว่ารวบรวมมาจากเรื่องเก่า ๆ มาตกแต่งขึ้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน พราหมณ์และสามัญชนจำนวนน้อยที่รู้จักไตรเพทที่แท้จริง  จึงถือเอาชุดปุราณะเป็นตำรับสำคัญของลัทธิไสยศาสตร์

 พระเวท หรือไตรเพท

          ในประเทศอินเดีย ได้มีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร วรรณะพราหมณ์ถือว่าเป็นวรรณะสูงสุด เป็นพวกทำหน้าที่ทางศาสนา “พราหมณ์”เป็นคำศัพท์ที่เนื่องมาจากคำว่า “พรหม” คนในวรรณะนี้ถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพรหม สามารถติดต่อเกี่ยวข้องกับโองการต่าง ๆ จากพรหมซึ่งเป็นพระผู้เป็นเจ้ามาแจ้งแก่ชาวโลกมนุษย์ได้ สามารถติดต่อบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าให้มาประสาทพรหรือบันดาลความเป็นไปต่าง ๆ ในโลกมนุษย์ได้

        พวกพราหมณ์จึงเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทุกวรรณะ แม้แต่กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในการปกครอง เมื่อพวกพราหมณ์มีอำนาจมาก มีคนยำเกรงมาก  โอกาสที่จะแสวงหาลาภสักการะจึงมีมาก  พวกพราหมณ์แต่ละพวกจะแข่งขันในการทำพิธีโดยถือว่าการจัดทำพิธีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามพิธีที่กำหนดไว้ในพระเวทเป็นสิ่งสำคัญ ชนวรรณะพราหมณ์ได้รวบรวมสรรพวิชาทั้งหลายที่ตนค้นพบหรือเข้าใจเรื่อง ประมวลความรู้เรียกว่า “ไสยศาสตร์” ซึ่งขึ้นต้นด้วยวิชาที่สำคัญที่สุดคือ “พระเวท”อันหมายถึงวิชาการที่เกี่ยวกับพรหม เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มนุษย์ต้องเคารพบูชา สมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ จึงต้องใช้วอธีท่องจำและสอนต่อ ๆ กันมา พระเวทประกอบด้วย “มนตร์” คือคาถาสำหรับท่องจำกับ “พราหมณะ” ซึ่งเป็นคัมภีร์คู่มือที่พวกพราหมณ์แต่ละกลุ่มได้เพิ่มเติมในพิธีกรรมของตนให้ละเอียดพิสดารขึ้น จนพราหมณ์เองไม่สามารถท่องจำได้ จึงต้องมีคู่มือ “พราหมณะ”คือคำอธิบายลัทธิพิธีกรรมต่าง ๆ ของพระเวท  แต่เดิมมี 3 อย่าง เรียกว่า “ไตรเพท” ได้แก่

                  1. ฤคเวท เป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ถือกันว่าออกจากโอษฐ์ของพระพรหมซึ่งพวกฤๅษีได้สดับแล้วนำมาอนุศาสน์นรชนอีกต่อหนึ่ง กล่าวด้วยเทวดาต่าง ๆ และการบนบานให้ช่วยขจัดภัยทั้งมวล

                  2. ยชุรเวท กล่าวด้วยพิธีกรรมต่าง ๆเป็นตำราการทำพิธิกรรมของพราหมณ์โดยตรง

                  3. สามเวท กล่าวด้วยบทคาถาสังเวยสำหรับเห่กล่อมเทวดา บูชาน้ำโสมแก่เทวะทั้งหลาย (“สาม” แปลว่า สวด) ดังมีบทเห่กล่อมพระนเรศร์–พระนารายณ์  หลังพิธีตรียัมปวายเสร็จสิ้นแล้ว

        ต่อมาเพิ่ม “อาถรรพเวท” ซึ่งเป็นพระเวทที่เกี่ยวกับอาถรรพ์ต่าง ๆ มีมนตร์สำหรับใช้ในกิจการทั้งปวง รักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือกำจัดผลร้ายอันจะมีมาแต่พยาธิและมรณภัย และรวมทั้งสำกรับใช้ทำร้ายแก่หมู่อมิตรโดยเสกสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าตัว หรือฝังรูปฝังรอย หรือทำเสน่ห์ยาแฝด

        นอกจากพระเวททั้ง 4 นี้แล้ว  ยังมี “พระเวทรอง” อีก 4 อย่าง เรียก “อุปเวท” เป็นวิชาที่กล่าวด้วยวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ อันเป็นวิทยาการโดยเฉพาะคือ

        1.  อยุรเวท  ได้แก่ตำราแพทย์ศาสตร์  กล่าวด้วยการใช้สมุนไพรและมนตร์ต่าง ๆ ในการรักษาโรค มีเทวดาประจำเป็นเจ้าของคือฤๅษีทั้งแปดซึ่งไม่ปรากฏนามแน่นอนตำรา

        2.   คานธรรพเวท  ได้แก่ตำราขับร้องและดนตรี กับนาฎยศาสตร์หรือการฟ้อนรำ มีเทวดาประจำคือพระนารทฤๅษี หรือที่เรียกว่าพระนารอทหรือพระปรคนธรรพ์

       3.  ธนุรเวท  ได้แก่วิชายิงธนูและการใช้อาวุธสงคราม ซึ่งบัดนี้เรียก  “ยุทธศาสตร์”  มีเทวดาประจำคือ  พระขันทกุมาร

       4.  สถาปัตยเวท  ได้แก่  วิชาก่อสร้างซึ่งเรียกว่า  “สถาปัตยกรรม”  เทวดาประจำคือ พระวิศนุกรรม

         วิธีเรียนพระเวทให้ได้ผลนั้นเรียกว่า “เวทางค์” คือองค์ของพระเวทมี 6 บท  หมายความว่าจะต้องถนัดจัดเจนในหลักของเวทางค์เสียก่อนแล้งจึงเข้าสู่การเรียนพระเวทโดยตรง เวทางค์ทั้ง 6 องค์ ได้แก่

        1. ศึกษา คือการเรียนออกสำเนียงให้ถูกต้อง ทั้งรู้จักครุ-ลหุ และวิธีอ่าน

        2. ฉันท์  คือการรู้จักคณะฉันท์ และแต่งได้บ้างพอสมควร คำฉันท์มาจากตำราไสยศาสตร์โดยตรงซึ่งในลักษณะเดิมมีการจำกัดแต่ครุ-ลหุของคำ นักวรรณคดีไทยได้บัญญัติสมัผัสสระและสัมผัสอักษรลงไปด้วย

         3.  ไวยกรณ์  คือวิธีการเรียบเรียงถ้อยคำให้เข้ากับภาษา

         4.  นิรุกต์  คือการแปลศัพท์ให้ถูกต้องตามมูลธาตุเดิมของคำนั้น ๆ

         5.  โชยดิษ  คือตำราโหราศาสตร์ซึ่งเป็นของที่นิยมกันตลอดมาจนถึงุกวันนี้  เป็นวิชาพยากรณ์โชคชะตา

         6.  กัลป  คือตำรากระทำกิจพิธีต่าง ๆ ดังปรากฏในสูตรต่าง ๆ ที่พราหมณ์ร้อยกรองไว้ในพระยัชุรเวท

        ในเวทางค์ทั้ง 6  นี้   “กัลป”   เป็นองคฺสำคัญกว่าเพื่อนสำหรับการเขียนพระเวทตามหลักไสยศาสตร์เพื่อเข้าถึงพรหม  แบ่งออกเป็น  3  สูตร คือ

          1.   เศตราสูตร   ว่าด้วยการพลีกรรม

          2.   คฤหสูตร ว่าด้วยพิธีประจำบ้าน

          3.  ธรรมสูตร  ว่าด้วยข้อปฎิบัติสำหรับประชาชนทุกวรรณะ

วรรณะพราหมณ์ในศาสนาฮินดู

        ในประเทศอินเดียได้แบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศ ศูทร  ในที่นี้จะกล่งถึงวรรณะพราหมณ์ หรือตระกูลนักบวชเท่านั้น นี้ไม่จำเป็นต้องบวชทุกคน แบ่งออกเป็น 4 ชั้นคือ

          1. พรหมจารี คือพวกนักเรียน  มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติและศึกษาพระเวทในสำนักคณาจารย์คนใดคนหนึ่ง (เทียบกับศาสนาพุทธ คือ สามเณร และนวกะ)

          2. คฤหบดี คือผู้ครองเรือน  มีภรรยา มีครอบครัว เป็นหัวหน้าในบ้าน  อ่านและสอนพระเวท  ทำการบูชาเอง หรือช่วยผู้อื่นกระทำยัญกรรม ให้ทาน และรับทักษิณา

          3. วานปรัสถ์ คือผู้อยู่ป่าละเคหสถานและครอบครัวเข้าป่าเพื่อทรมานตน  มักน้อยในอาหารและเครื่องนุ่งห่ม กระทำทุกรกริยา  สมาธิมั่นคงในกิจวัตร  ได้แก่

             ฤๅษี  แปลว่า ผู้แสวง หมายถึงแสวงหาโมกษะ คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

             โยคี  แปลว่า ผู้บำเพ็ญโยคะ  คือทรมานกายโดยวิธีแห่งอิริยาบถต่าง ๆ เพื่อหวังผลสำเร็จเป็นผู้วิเศษ  เช่น ยืนขาเดียวเหนี่ยวกินลมนานนับสิบปี  นั่งสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยเป็นเวลาสิบปี

              ดาบส แปลว่า ผู้บำเพ็ญตบะ คือความเพ่งเล็งในดวงจิตเพื่อประโยชน์ให้อาตมันเข้าร่วมอยู่ในปรมัตถ์ (หรือปรพรหม) ให้เกิดความบริสุทธิ์ใสสะอาด  แม้กระทบอารมณ์ใด ๆ ก็ไม่แปรปรวน

              มุนี แปลว่าผู้สงบได้แก่ผู้สำเร็จฌานสมบัติ คือผู้กระทำตบะและโยคะจนถึงที่สุดแล้ว

              สิทธา แปลว่า ผู้สำเร็จฌานสมาบัติ คือผู้กระทำตบะและโยคะจนถึงที่สุดแล้ว

             นักพรต  แปลว่า ผู้บวชและถือพรตตามลัทธิพราหมณ์

              ชฎิล  แปลว่า ฤๅษีผู้มุ่นมวยผมสูงเป็นชฎา

        4.  สันยาสี  ได้แก่พวกที่เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชียงด้วยการขอทานและตั้งจิตมั่นมุ่งตรงพระปรมพรหมและนฤพาน อีกนัยหนึ่งเรียกว่า  “ภิกษุ” (คำนี้ใช้เรียกนักบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพื้น)
 
  
 
การเผยแผ่ของศาสนาพราหมณ์ฺูในประเทศไทย
  
 
          ศาสนาฮินดูที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยนั้นคือช่วงที่เป็นศาสนาพราหมณ์ โดยเข้ามาที่ประเทศไทยเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏระยะเวลาที่แน่นอน    นักประวัติศาสตร์ส่วนมากสันนิษฐานว่าศาสนาพราหมณ์นี้น่าจะเข้ามาก่อนสมัยสุโขทัย โบราณสถานและรูปสลักเทพเจ้าเป็นจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนา  เช่น  รูปสลักพระนารายณ์ 4 กร  ถือสังข์  จักร คทา  ดอกบัว  สวมหมวกกระบอก เข้าใจว่าน่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10  หรือเก่าไปกว่านั้น (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ)

        นอกจากนี้ได้พบรูปสลักพระนารายณ์ทำด้วยศิลาที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โบราณสถานที่สำคัญที่ขุดพบ   เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์  ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เทวสถานเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาในสมัยสุโขทัยศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นควบคู่ไปกับพุทธศาสนาในสมัยนี้มีการค้นพบเทวรูป  พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม พระแม่อุมา พระหริหระ ส่วนมากนิยมหล่อสำริด

        นอกจากหลักฐานทางศิลปกรรมแล้วในด้านวรรณคดีได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เช่น ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ หรือแม้แต่ประเพณีลอยกระทง เพื่อขอสมาลาโทษพระแม่คงคา น่าจะได้อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เช่นกัน

       ในสมัยอยุธยา เป็นสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีเช่นเดียวกับสุโขทัย พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงยอมรับพิธีกรรมที่มีศาสนาพราหมณ์เข้ามา เช่น พิธีแช่งน้ำ พิธีทำน้ำอภิเษกก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติ พิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมปวาย  เป็นต้น โดยเฉพาะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนับถือทางไสยศาสตร์มาก ถึงขนาดทรงสร้างเทวรูปหุ้มด้วยทองคำทรงเครื่องลงยาราชาวดีสำหรับตั้งในการพระราชพิธีหลายองค์ ในพิธีตรียัมปวายพระองค์ได้เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานทุก ๆ ปีี ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พิธีต่าง ๆ ในสมัยอยุธยายังคงได้รับการยอมรับนับถือจากพระมหากษัตริย์และปฏิบัติต่อกันมา คือ

1. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

        พระราชพิธีนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการเทิดพระเกียรติขององค์พระประมุข  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯให้ผู้รู้แบบแผนครั้งกรุงเก่าทำการค้นคว้าเพื่อจะได้สร้างแบบแผนที่สมบูรณ์ตามแนวทางแต่เดิมมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไปซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ

   1.1 ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีเสกน้ำ การทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎ ดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

   1.2  ขั้นพิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์

   1.3  ขั้นพิธีบรมราชาภิเษก มีการสรงพระมุรธาภิเษก จากนั้นรบการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

   1.4 ขั้นพิธีเบื้องปลาย เสด็จออกมหาสมาคมและสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งถวายบังคมพระบรมศพพระบรมอัฐิพระเจ้าอยู่หัวองค์ ก่อนและเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร เสด็จเลียบพระนคร

2. การทำน้ำอภิเษก 

          พระมหากษัตริย์ที่จะเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษก จะต้องสรงพระมุรธาภิเษกและทรงรับน้ำอภิเษกก่อนได้รับการถวายสิริราชสมบัติตามตำราพราหมณ์ น้ำอภิเษกนี้ใช้น้ำจากปัญจมหานที   คือ คงคา ยมุนา มหิ อจิรวดี และสรภู ซึ่งทำเป็นน้ำที่ไหลมาจากเขาไกรลาส    อันเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ใช้น้ำ 4 สระในเขตสุพรรณ คือ สระเกษ สระแก้ว สระคงคาและสระยมุนา และได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศ 5 สาย คือ

          น้ำในแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงนครนายก

          น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว เขตอ่างทอง

          น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ เขตสมุทรสงคราม

          น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย เขตเมืองเพชรบุรี แบบนิกายพุทธตันตระ

3.  พระราชพิธีจองเปรียง 

          คือ การยกโคมตามประทีปบูชาเทพเจ้าตรีมูรติ กระทำในเดือนสิบสองหรือเดือนอ้าย    โดยพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีในพระบรมมหาราชวัง พระราชครู ฯ ต้องกินถั่วกินงาน 15 วัน ส่วนพราหมณ์อื่นกินคนละ 3 วัน ทุกเช้าต้องถวายน้ำมหาสังข์ ทุกวันจนถึงลดโคมลง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดให้เพิ่มพิธีพุทธศาสนาเข้ามาด้วยโดยโปรดให้มีสวดมนต์เย็นแล้วฉันเช้า  อาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธี  จากนั้นแผ่พระราชกุศลให้เทพยดาพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ต่อไป    จนได้ฤกษ์แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์และเจิมเสาโคมชัยจึงยกโคมขึ้น เสาโคมชัยนี้ที่ยอดมีฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น โคมประเทียบ 7 ชั้น ตลอดเสาทาน้ำปูนขาว มีหงส์ติดลูกกระพรวน นอกจากนี้มีเสาโคม บริวารประมาณ 100 ต้น ยอดฉัตรมีผ้าขาวสามชั้น

4. พระราชพิธีตรียัมปวาย

          เป็นพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของพราหมณ์ เชื่อกันว่าเทพเจ้าเสด็จมาเยี่ยมโลกทุกปีจึงจัดพิธีต้อนรับให้ใหญ่โตเป็นพิธีหลวงที่มามานานแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จัดกันอย่างใหญ่โตมากกระทำพระราชพิธีนี้ที่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ ชาวบ้านเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีโล้ชิงช้า" พิธีนี้กระทำในเดือนอ้าย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเดือนยี่

5.   พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล

          แต่เดิมมาเป็นพิธีพราหมณ์  ภายหลังได้เพิ่มพิธีสงฆ์จึงทำให้เกิดเป็น 2 ตอน คือ พิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์เริ่มตั้งแต่การนำพันธ์พืชมาร่วมพิธี พระสงฆ์สวดมนต์เย็นที่ท้องสนามหลวงจนกระทั่งรุ่งเช้ามีการเลี้ยงพระต่อ ส่วนพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำในตอนบ่าย ปัจจุบันนี้พิธีกรรมของพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยเริ่มลดบทบาทลงไปมากเพราะพุทธศาสนาได้เข้ามา มีอิทธิพลแทนทั้งในพระราชพิธีและพิธีกรรมทั่ว ๆ ไปในสังคม อย่างไรก็ตามพิธีพราหมณ์เท่าที่เหลืออยู่และยังมีผู้ปฏิบัติสืบกันมา ได้แก่ พิธีโกนผมไฟ พิธีโกนผมจุก พิธีตั้งเสาเอก พิธีตั้งศาลพระภูมิ พิธีเหล่านี้ยังคงมีผู้นิยมกระทำกันทั่วไปในสังคม ส่วนพระราชพิธีที่ปรากฏอยู่ ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพิธีทำน้ำอภิเษก เป็นต้น

         สำหรับพิธีกรรมในศาสนาฮินดูซึ่งเป็นพราหมณ์ใหม่ ไม่ใคร่มีอิทธิพลมากนัก แต่ก็มีผู้นับถือและสนใจร่วมในพิธีกรรมเป็นครั้งคราว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อในพระเป็นเจ้าตรีมูรติทั้ง 3 องค์ ยังคงมีอิทธิพลควบคู่ไปกับการนับถือ พุทธศาสนา ประกอบกับในโบสถ์ของพวกฮินดูมักจะตั้งพระพุทธรูปรวม ๆ ไปกับรูปปั้นของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องอวตารของพระวิษณุ ทำให้คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาบางกลุ่มนิยมมาสวดอ้อนวอนขอพรและบนบาน หลายคนถึงขนาดเข้าร่วมพิธีกรรมของฮินดู จึงเข้าลักษณะที่ว่านับถือทั้งพุทธทั้งฮินดูปนกันไป