ร่องรอยพราหมณ์สายเพชรบุรี

 

วัดเพชรพลี แยกจากถนนเพชรเกษม เข้าทางหลวงหมายเลข  3177ข้ามสะพานอุรุพงษ์เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบริพัตร์ ผ่านทางวัดจันทราวาส จนถึงวงกลม (หอนาฬิกา) วัดเกาะ ผ่านไฟแดงแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนท่าหิน ไปประมาณ 600 เมตร เข้าซอย 3 เพชรพลี ถึงหน้าวัดเพชรพลี  
     บริเวณเสาชิงช้านี้ เป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นพื้นที่มีการประกอบพิธีสำคัญในเมืองเพชรบุรี สมัยโบราณบริเวณพื้นที่ที่ต่อจาก เสาชิงช้า ออกไป เคยมีโบราณสถานก่ออิฐ ชาวบ้านเรียกว่า  โบสถ์พราหมณ์  ปัจจุบันถูกรื้อทำลายไปแล้ว นอกจากนี้ในบริเวณแคบนี้เคยมีผู้ขุดพบชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายหลายชิ้น ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า       

          เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช  ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

           เทวสถานศาลสถิตอิศวรา           เสาชิงช้ายังเห็นเป็นสำคัญ                         

           ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่          แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ?

     แสดงให้เห็นว่า ย่านนั้นเป็นที่ตั้งของพราหมณ์ในเมืองเพชรบุรีแต่เดิม โดยมีศาสนสถานตั้งอยู่เป็นกลุ่ม เช่น เทวสถาน เสาชิงช้า  โบสถ์พราหมณ์ โบราณสถานแห่งนี้ จึงมีความสำคัญด้วยเหตุที่เป็นหลักฐานที่เกี่ยวกับพราหมณ์ในเมืองเพชรบุรี ที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  หลักฐานด้านโบราณคดี  เดิมมีเสาไม้  2  ต้น  ตั้งอยู่หน้าวัดเพชรพลีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  เสาแต่ละต้นอยู่ห่างประมาณ  7  เมตร  ตามแนวทิศเหนือใต้โดยมีกำแพงวัดเพชรพลีด้านทิศใต้ตัดผ่าระหว่างแนวเสาทั้ง สองต้น เสาต้นทิศเหนือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  ประมาณ  30  เซนติเมตร ความสูงเฉพาะที่เหลือประมาณ  3.8  เมตร  ปักอยู่ห่างจากกำแพงเข้าไปในบริเวณวัด ประมาณ6.7 เมตร ปัจจุบันมีการสร้างเสาชิงช้าขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนนึงถึงการรำลึกถึงประวัติ อันยาวนานของวัดนี้
เสาชิงช้านี้เป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบพิธีสำคัญในเมืองเพชรบุรีสมัยโบราณ บริเวณพื้นที่ใกล้กับเสาชิงช้า เคยมีโบราณสถานก่ออิฐ ชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์พราหมณ์ พบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาฮินดู จำหลักจากหิน แต่ด้วยขาดการดูแลและทะนุบำรุงอย่างถูกต้อง หรืออาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เสาชิงช้าหักพังและสูญหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบัน พระมหาศุภชัย ชะยะธรรมโม เจ้าอาวาสวัดเพชรพลี จึงได้จัดสร้างเสาชิงช้าที่สวยงามและถาวรขึ้น ประดิษฐานในตำแหน่งเดิม โดยเสาชิงช้าดังกล่าวทำด้วยไม้สักทองประกอบด้วยเสาประธาน ๒ ต้น สูง ๑๒ เมตร พร้อมเสาตะเกียบและหัวหมุด รวมทั้งหมด ๖ ต้น กระจังที่ประดับหัวเสาชิงช้า แกะสลักเป็นลายกระหนกน่องสิงห์ พร้อมหูช้างหรือกระจังหูยาว ๗เมตร หนา ๔ นิ้ว ซึ่งได้ทำพิธีประกอบเสาชิงช้าโดยนำตราเพชรขึ้นประดิษฐานบนเสาชิงช้าแล้ว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของวัดต่อไป

Pin It