พิมพ์

นครศรีธรรมราช มาจากคำว่า นคร แห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อเอาคำว่านคร +ศรี+ ธรรม+ราช ก็จะเป็นคำใหม่ว่า นครศรีธรรมราช คำนี้มีเค้ามาจากคำเรียกของแคว้นสุโขทัยที่เรียกยกย่องนครศรีธรรมราชว่าเป็น "นคร"ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ พระองค์ทรงสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ จากเดิมคือ กรุงตามพรลิงค์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ปกครองโดยราชวงศ์อื่น นับถือศาสนาพรามหณ์ ออกมาทางทิศเหนือ ชื่อว่า “นครศรีธรรมราชมหานคร” หรือ “กรุงศรีธรรมราชมหานคร” เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักนครศรีธรรมราช ที่ประกาศตนเป็นเจ้าแห่งคาบสมุทรมลายู อาณาเขตตั้งแต่อำเภอบางสะพาน ถึง สิงคโปร์
ต้นตอของ3 ศรีวิชัย
กษัตริย์องค์แรกของศรีโพธิ์ คือ หะนิมิตเป็นมหาราชมีฉายาเป็นเทพเจ้าว่า "พระอินทร์" ผู้สร้างธาตุไชยเมื่อ พ.ศ.1231 และสร้างพระแก้วมรกตเมื่อ พ.ศ.1233 มีโอรสองค์เอกชื่อเป็นเทพเจ้าว่าพระวิษณุที่ 1 มาปกครองเมืองพระเวียงนครศรีธรรมราชแล้วเลยไปปกครองศรีวิชัยที่ชวา (อินโดนีเซีย) ใน พ.ศ.1290
และเป็นผู้เริ่มต้นสร้างบรมพุทโธ ศาสนสถานแบบฮินดู-พุทธ มีโอรสองค์เอกชื่อเป็นเทพเจ้าว่าพระเจ้าวิษณุที่ 2 เข้ามายึดครองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.1310แล้วรวบรวมศรีโพธิ์ทั้ง 3 อาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวเรียกว่า สัมโพธิ์แปลว่ารวมโพธิ์ราชา หรือโพธิ์ตรัสรู้ 3 แห่งเข้าด้วยกัน จึงเรียกว่าสัมฮุดชี แปลว่ารวมพระเจ้า 3องค์เข้าด้วยกัน (3แห่ง)


คำว่าศรีวิชัย
ศาสตราจารย์ ยอร์ซ เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคีและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้มาขุดค้นวัดเสมาชัยกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ พ.ศ.
2461 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 พบศิลาจารึกหลักที่ 23
ที่จารึกเมื่อ พ.ศ.1318 มีชื่อ "ศรีวิชัย"อยู่มากมาย ท่านเลยอนุมานเอาว่าอาณาจักรนี้น่าจะชื่อว่าศรีวิชัย พร้อมกับพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งที่แสดงอภินิหารมากมาย ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ใต้วิหารโพธิลังกา วัดพระธาตุ ส่วนพระมหากษัตริย์พระเจ้าวิษณุที่ 2 ศิลาจารึกหลักนี้เรียกว่า "พระเจ้าศรีวิชเยนทรราชา"

เมือง 12 นักษัตร
หลักการปกครองของอินเดียโบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรไอราวดี ในลุ่มน้ำสินธุเป็นต้นมามักจะมีเมืองบริวาร ทั้ง 10 หมายถึง 10 ทิศ คือทิศทั้ง 8 เมือง และเมืองบนสวรรค์และเมืองใต้ดิน หรือเมืองสวรรค์และเมืองบาดาลแต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องมีเมืองที่ 9 และเมืองที่ 10 ให้ครบตามปรัชญา ความเชื่อเมือง 2 เมืองนี้จึงมักจะอยู่ในแนวเหนือใต้ของเมืองเอกมากที่สุด ในสมัยศรีวิชัยยุคแรกประมาณ พ.ศ.1200-1310 ก็มี เมืองนครทั้ง 10 เป็นเมืองบริวาร เมื่อพระเจ้าศรีวิชเยนทรราชยึดครองนครศรีธรรมราชแล้วจึงมีพระราชดำริสร้างเมืองบริวารขึ้นเองโดยสนับสนุนเมืองขึ้น ยกกองทัพไปปราบหรือดำเนินการด้านการฑูตหรือเมืองเหล่านั้นมาร่วมเป็นเครือข่ายจนได้เมืองบริวารถึง 5 เมืองและสามารถดึงนครทั้ง 10 ของศรีวิชัยลงมาร่วมด้วยเป็นนครทั้ง 15 ประมาณ พ.ศ.1325 พร้อมกับการเฉลิมฉลองพระธาตุสร้างใหม่ทรงศรีวิชัย และมีการสมโภชพระธาตุด้วยการนำการเล่นเงาแบบฉายานาฏกะของพราหมณ์เข้ามาใช้จนเป็นต้นตอของการเล่นหนังตะลุงในยุคต่อมา ตั้งแต่พ.ศ.1440ศรีวิชัยที่ชวาอินโดนีเซียก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงทำให้ศรีวิชัยที่นครศรีธรรมราชโดดเด่นยิ่งขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยทั้ง 3 ได้โดยไม่ยากนักตกมาใน พ.ศ.1773 พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชประกาศอิสรภาพ ดังศิลาจารึกหลักที่ 24 วัดเสมาเมืองยกกองทัพเรืออันเกรียงไกรข้ามมหาสมุทรอินเดียไปตีลังกาครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.1790 ได้พระพุทธสิหิงค์มาโดยนางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปรับแทนประมาณ พ.ศ.1791 พร้อมช้างพระที่นั่งเอกตัวแทนพระเจ้าจันทรภาณุ ต่อมา พ.ศ.1813 ทรงยกทัพเรือไปตีลังกาครั้งที่ 2 โดยหวังจะได้บาตรของพระพุทธเจ้า แต่ ชวากะ หรือศรีวิชัยที่ไชยากับพวกโจฬะอินเดียเป็นไส้ศึกจึงทรงแพ้ศึกครั้งนี้และสวรรคต ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์รูปทรงลังกาดังที่เห็นปัจจุบันในพ.ศ. 1790 และพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้มีเมืองบริวารเป็น "นครทั้ง 12 โดยใช้รหัสกลุ่มดาวเป็นรหัสเมืองออกเมืองขึ้นทั้ง 12 เมือง เรียกว่า เมือง 12 นักษัตร ศิลาจารึกสำคัญ 2 หลักนี้ห่างกันเพียง 455 ปี หรือ 50 ปีพอดี ปัจจุบันวัดเสมาชัยถูกยุบเข้าอยู่ในวัดเสมาเมือง ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีจึงเรียกศิลาจารึกทั้ง 2 ว่ามาจากวัดเสมาเมืองทั้ง 2 หลัก

พ.ศ.400 จะมีคนต่างเมืองอพยพเข้ามาสู่นครศรีธรรมราชมากมาย รวมทั้งพราหมณ์ยุคใหม่ ซึ่งก่อนหน้านนี้อพยพเข้ามาแล้วประมาณ 2,000 ปี ก่อนพุทธกาลทำให้เกิดชุมชนเมืองมากมายตามริมฝั่งแม่น้ำ และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์

พ.ศ.692 เมืองมลราชที่ลานสกาปรากฎตัวขึ้นในเอกสารโบราณที่นักประวัติศาสตร์ภาคกลางอ้างถึง ซึ่งแน่ละต้องนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กันส่วนศาสนาดั้งเดิมที่นับถืออิทธิฤทธิ์ของธรรมชาติก็ยังมีอยู่และสอดรับกันได้ดีกับศาสนาพราหมณ์ ที่ทำธรรมชาติเหล่านั้นให้เป็นตัวตนเทพเจ้า เช่น พระพิรุณเจ้าแห่งฝน พระอัคคี เทพแห่งไฟ พระอาทิตย์เทพแห่งแสงสว่าง เป็นต้น

พ.ศ.700 เกิดอาณาจักรพนมที่กระบี่กับสุราษฎร์ธานี พราหมณ์จากอินเดียได้อพยพเข้ามาตามแม่น้ำคลองแสง คลองสก คลองพุ่มดวง คลองสินปุน คลองสังข์ มาตั้งกรุงหยันที่ อ.ทุ่งใหญ่ และกรุงชิงที่ท่าศาลา รวมทั้งพราหมณ์โกณฑัญญะได้เดินทางจากอาณาจักรพนม (กระบี่+สุราษฎร์ธานี) ไปสร้างอาณาจักรฟูนันในเวียดนาม (พนม,ฟูนัน แปลว่า ภูเขา)

พ.ศ.854 นางเหมชาลาและทนตกุมารนำเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ(กรามซ้ายบน)ของพระพุทธเจ้าหนีศัตรูมาฝังไว้ที่นี่ - เมืองนคร สร้างตึกดินครอบพระธาตุไว้โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ลังกา พ.ศ.856 นับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งที่ 1

พ.ศ.1061 พราหมณ์มาลีกับพราหมณ์มาลาจากอินเดียอพยพมาสู่เมืองนครตั้งเมืองที่เขาวังและขุดพระบรมสารีริกธาตุในการนี้กาอาคมที่ "ลงไว้"ให้รักษาพระธาตุออกมาจิกตีทหาร จนพราหมณ์มาลาหลอกล่อไปจึงสังหารด้วยธนู "ไชยศรศิลป์" ลงอาคมชั้นสูงของพระนารายณ์ "ลานต่อกา"(ลานสกา) ชาวบ้านเชื่อว่าศรนี้เปลี่ยนรูปเป็นหินปรากฎอยู่บนถ้ำแก้วสุรกานต์ ทางไปกิ่งอำเภอช้างกลาง กาอาคมทั้ง 4 ฝูงนี้มีชื่อเฉพาะตนว่า กาแก้ว กาเดิม กาชาด การาม ซึ่งเป็นชื่อต้นแบบของพระครูชั้นราชาคณะคอยป้องกันพระธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศในเวลาต่อมาปัจจุบันลดชั้นลงเหลือเพียง "พระครู" และขาดตำแหน่งไป ต่อมาตำแหน่งพระราชาคณะทั้ง 4 นี้ได้นำไปใช้กับพัทลุงและพระธาตุไชยา จนคนยุคหลังไปตีความใหม่ว่าเป็นชื่อคณะพระภิกษุสงฆ์มาจากลังกาต่างหากไม่ได้มาจาก "กาอาคมทั้ง 4 ฝูง" ไม่ ยิ่งกว่านั้นยังเชื่ออีกว่า พระราชาคณะทั้ง 4 ตำแหน่งเมืองนครเอามาจากพัทลุงและไชยาเพราะไปเชื่อว่าพัทลุงและไชยามีอายุเก่าก่อนกว่านครศรีธรรมราช แต่แท้จริงแล้วพระธาตุไชยาสร้างประมาณ พ.ศ. 1231 พระครูกาทั้ง 4 ของพัทลุงเริ่มใช้ในสมัยหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดซึ่งหลวงพ่อทวดเรียนหนังสือที่วัดเสมาเมือง เมืองนครไปอยู่วัดท่าแคอยุธยา และเสด็จกลับมาจากอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2158 ในสมัยพระเอกาทศรถ โปรดให้หลวงพ่อทวดเป็นสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ สมเด็จสังฆราชแห่งปักษ์ใต้ และโปรดให้มีกา 4 คณะ แสดงให้เห็นว่าไชยาใช้ "กาทั้ง 4หลังเมืองนคร 133 ปี พัทลุงใช้ "กาทั้ง 4หลังเมืองนคร 1060 ปี สุโขทัยใช้หลังเมืองนคร 712 ปี การสร้างพระธาตุเจดีย์ ทรงตึกเหลี่ยมใหญ่ สูงสง่ากว่าแข็งแรงกว่าเดิมในพ.ศ.1098 นี้ นับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ 2 และในปีเดียวกัน คณะพระภิกษุสงฆ์จากลังกาลัทธิวิหารประมาณ 700 องค์เศษได้เข้ามาสร้างวัดในศาสนาพุทธอีกวัดหนึ่งคือวัดท่าเรือ  พ.ศ.1111 พระภิกษุสงฆ์อีกคณะหนึ่งจากลังกาประมาณ 300 องค์เศษเข้ามาสู่เมืองนครทำการสร้างวัดท้าวโคตรครั้งแรกในปีนี้ และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา

พ.ศ.1191 นครโฮลิง ที่จีนเรียก ซึ่งแปลว่า "ไข่แดง"โดยภาพรวมคือนครศรีธรรมราช แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเมืองมลราชที่ลานสกาได้ส่งฑูตไปจีนครั้งแรกและหลายครั้งต่อมาทำให้จีนทราบว่า นครศรีธรรมราชเป็นเมืองศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ศาสนาพุทธลัทธิหินยานและศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายรวมกันเจริญรุ่งเรืองควบคู่กันมาโดยมีการค้าขายทางเรือกับนานาชาติที่เมืองท่าเรือและแม่น้ำทุกสายในภาคใต้ พระภิกษุจีนจึงมักแวะผ่านนครศรีธรรมราชก่อนเดินทางไป ลังกา และอินเดียทางเรือด้วยลมมรสุมอยู่เสมอ

พ.ศ.1193 เจ้าชายโมคคัลลานะหนีราชภัยมาจากลังกา สร้างเมืองโมคลานที่ท่าศาลาโดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ตามพรลิงค์ โมคลานเป็นเมืองศูนย์กลางตรงเส้นทางการค้าระหว่างอาณาจักรฟูนันในเวียตนามกับลังกา และได้สร้างเทวสถานใหญ่ของพราหมณ์ลัทธิไศวะนิกายขึ้นที่โมคลานแห่งนี้

พ.ศ.1202 กำเนิดอาณาจักรศรีโพธิ์ โดยพระเจ้าหะนิมิตโอรสอาณาจักรอู่งตั้งตนเป็นมหาราช ฉายาชื่อ "พระอินทร์" โอรสมีฉายาว่า พระเจ้าวิษณุที่ 1 ผู้ปกครองชวา (อินโดนีเซีย) ดังกล่าวมาแล้ว

พ.ศ.1295 ตั้งชุมชมพราหมณ์อันยิ่งใหญ่ที่เทวสถานเขาคา อ.สิชล 

พ.ศ.1310 พระเจ้าวิษณุที่ 2 โอรสวิษณุที่ 1ยกกองเรือมายึดครองนครศรีธรรมราช ก่อนลังกาและไชยาจะเข้ายึดครองตั้งวัดเสมาชัยสร้างวัดคูหาภิมุขยะลา

พ.ศ.1318 ทำศิลาจารึกหลักที่ 23 และสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ในปีพ.ศ.1318 ปัจุบันพระพทุธรุปองค์นี้อยู่ที่วิหารโพธิลังกา หลังการขุดพบใหม่ๆ เมื่อ พ..2461 ถูกล่ามโซ่ เพราะกลางคืนพระองค์เสด็จออกเที่ยวไปในหมู่บ้าน ในปี พ.ศ.2460 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จสมโภชพระธาตุโปรดเกล้าฯให้ถอดโซ่ออกและถวายความเห็นพระคุณเจ้า ชาวบ้านจึงไม่มีโอกาสเห็นพระพุทธรูปในร่างมนุษย์ออกมาเพ่นพ่านอีกเลย (บริเวณด้านหลังองค์พระมีรอยของมีคมบาด-ชาลี)

พ.ศ.1319 สร้างวัดถ้ำทองพรรณรา อ.พรรณรา

พ.ศ.1320 สร้างเจดีย์ศรีวิชัยที่วัดเขาหลัก อ.ทุ่งใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (ต้นราชสกุลยุคล) เสด็จไปนมัสการเมื่อปี พ.ศ.2459 แล้วทำศิลาจารึกไว้ที่วัดพระธาตุในปีเดียวกัน

พ.ศ.1325 สร้างเจดีย์ทรงศรีวิชัย ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ เจดีย์ทรงศรีวิชัยองค์นี้จึงนับเป็นพระธาตุเจดีย์องค์ที่ 3 เจดีย์ทรงศรีวิชัยในวัดพระธาตุจะมีทั้งมด 5 องค์หลังจากการชำรุดทรุดโทรมเพราะกาลเวลาจากการปฏิสังขรณ์ ปัจจุบันก็เหลือองค์หนึ่งหน้าประตูทางเข้า

พ.ศ.1344 สร้างพระธาตุศรีศากยะมุนีศรีธรรมราช องค์พระประธานในพระ
วิหารหลวง ซึ่งกรมศิลปากรยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูป-พระพุทธราชาที่มีลักษณะ
งดงามมากที่สุดในปักษ์ใต้เป็นที่น่าสงสัยว่าชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อใหม่ ส่วนชื่อเก่าเมื่อ
พ.ศ.1344 คงไม่ใช่ชื่อนี้เพราะดูจากลักษณะบ่งบอกว่า ผู้สร้างต้องการให้เป็นทั้ง
"พุทธราชา"และ "เทวราชา"ในองค์เดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะชื่อว่า "พระศรีวิชเยนทรมุนีศรีธรรมาโศกราช" 1 ปีต่อมาคือ พ.ศ.1345ก็สร้างวิหารหลวงทรงเรือสำเภาตามปรัชญาความเชื่อของพุทธนิพพานและพระโพธิสัตว์ ผู้ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ก่อนพระองค์เอง และบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อมาหลายครั้ง

พ.ศ.1444 นครศรีธรรมราช เป็น The call center of Sri Wichai คือเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยที่ไชยา และศรีวิชัยที่ชวา โดยนครศรีธรรมราชขณะนั้นจะมีเมืองออกเมืองขึ้นเป็นเมืองสำคัญทางการค้าถึง 15 เมือง และในสมัยนี้ก็น่าจะสร้างปราสาทอิฐ 3 หลัง ตามคติความเชื่อของลัทธิพุทธมหายาน 1 ใน 3 นั้น

ยุคแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์

ไม่ว่าคำนี้จะมีความเป็นมาพื้นฐานอย่างไร แต่พอมาถึงช่วงนี้ทุกฝ่ายกลับเชื่อว่าตามพรลิงค์แปลว่า ลึงค์ทองแดง หรืออวัยวะเพศชายของพระศิวะทำด้วยทองแดง ซึ่งเป็นปรัชญาความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวะนิกาย แต่จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบลึงค์ทำด้วยทองแดง แม้แต่ศิวลึงค์ที่ถนนมังคุดหอนาฬิกา ข้างวัดสวนป่านซึ่งดูจะเป็นหลักเมืองนครหรือเป็นลึงค์พระศิวะประจำรัชกาลพระเจ้าวิษณุที่ 2 ที่เข้ายึดครองเมืองนครเมื่อ พ.ศ.1310 หากเหตุผลนี้เป็นจริงศิวลึงค์นี้น่าจะชื่อว่า"ศรีวิชเยศวร" หรือ "ตามพรลิงเคศวร"
แต่พระเจ้าอู่ ที่เสด็จากจากจีนผ่านปัตตานี นครศรีธรรมราชแล้วแวะเพชรบุรีกลับบอกว่า "พระองค์ได้ขุดพบเทวรูปเคารพขนาดใหญ่ทำด้วยทองแดงที่เพชรบุรีจึงรู้ว่าราษฎรบริเวณนั้นนับถืออะไรกัน" ประเด็นนี้น่าคิด หรือลึงค์ทำด้วยทองแดงไปตกอยู่ที่นั่น 

ความยิ่งใหญ่ของศรีวิชัย- นครศรีธรรมราช
พ.ศ.1514 พระเจ้าสุชิตราช จากนครศรีธรรมราชยกกองทัพพล 17 หมื่นไปตีละโว้ (ลพบุรี - แม่เป็นเจ้าหญิงละโว้ -ชาลี) ในขณะที่กษัตริย์ละโว้ออกไปทำศึกนอกเมืองกับกษัตริย์ลำพูนซึ่งทั้งกษัตริย์ลำพูนและละโว้ต่างก็เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับพระนางจามเทวีพระแม่เจ้าอยู่หัวแห่งหริภุญไชยลำพูนเมื่อ พ.ศ.1223 และพระนางจามเทวีเป็นเจ้าหญิงจากศรีวิชัยที่ไชยาพระเจ้าสุชิตราชให้โอรสองค์ใหญ่ไปปกครอง "เมืองราม" แล้วเจริญเติบโตเป็นแคว้นอโยธยา ให้โอรสองค์ที่ 2 ไปครองแคว้นศรีจนาศะ(พิมาย) ในนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ส่วนพระเจ้าสุชิตราชเองครองละโว้ในนาม "พระยาปานะโกศลกัมโพชราช" จากเหตุการณ์นี้แสดงว่า
1. พระองค์เป็นกษัตริย์องค์รองของนครศรีธรรมราชไม่ใช่กษัตริย์องค์เอกเพราะ
ไปแล้วไปเลยไปตั้งครอบครัวเอาดาบหน้า
2. พระองค์มีเครือญาติที่มีอิทธิพลไม่น้อยแถวอาณาจักรศรีจนาศะ และอาณาจักละโว้ รวมทั้งอาณาจักรอโยธยา การเข้าไปครองภาคกลางตามรอยศรีวิชัย-ไชยาจึงไม่ใช่เรื่องยาก
3. พระองค์มีเชื้อสายกษัตริย์ขอมทางฝ่ายมารดา ฉะนั้นพระบิดาต้องเป็นกษัตริย์องค์เอกของนครศรีธรรมราชขณะนั้น - ใคร ซึ่งคงจะทรงกฤษดานุภาพไม่น้อยทั้งด้านการเมืองการปกครองจนสามารถส่งกองทัพ 17 หมื่นให้พระเจ้าสุชิตราชไปตีละโว้ได้ทางทะเล
พ.ศ.1535 สร้างวัดเสมาเมืองลงข้างวัดเสมาชัยที่มีอายุห่างกัน 225 ปี และ
ในปีเดียวกันนี้กษัตริย์เมืองนครก็ได้สร้างวัดเสมาทอง (วัดมเหยงคณ์) ให้เป็นวัดรองของวัดเสมาเมือง
พ.ศ.1560 ท้าวโคตรคิรีเศรษฐีมอญและน้องชายอพยพทางเรือเข้าเมืองนครมาตั้งรกรากและมีสัมพันธ์กับกษัตริย์เมืองนครทำให้คำว่า "ศิริธัมมนคร" ของเมืองสะเทิมมาเป็นฉายาของนครศรีธรรมราชด้วย ดังนั้นคำว่า "ศรีธัมมราช"ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงอาจจะเป็นสะเทิมในพม่าก็ได้เพราะ "จรดฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว"เหมือนกัน ข้อนี้น่าคิดสองสามตลบ วัฒนธรรมศาสนาแบบมอญจึงปรากฎขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช

นักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯจึงเข้าใจว่า อาณาจักรทวาราวดีของมอญได้เผยแผ่เข้ามาปักษ์ใต้ ที่จริงเป็นการไหลเททางวัฒนธรรมในระดับปกติของทวาราวดีที่ติดตัวมากับมอญเท่านั้น

พ.ศ.1564 มอญสร้างวัดเสมาเงิน และเจดีย์ยักษ์ (วัดพระเงินข้างเทศบาลนคร)

พ.ศ.1568 พระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ 1 อินเดียใต้ยกกองทัพมาตีศรีวิชัย
นครศรีธรรมราช ครอบครองได้ไม่นานก็ถอยกลับไปเพราะศรีวิชัยไชยา และศรีวิชัยศรีธรรมราชกำลังรวบรวมกองทัพเรือนอกอาณาจักรเข้ามาตีกลับ

พ.ศ.1580 กรมการเมืองนครถวายเจ้าหญิงจันทวดี พระธิดาอดีตกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าอู่ทองแห่งแคว้นอโยธยามีพระโอรสองค์หนึ่งไปครองเมืองธานยปุระ (เมืองอู่ข้าว) หรือนครสวรรค์สืบเชื้อสาย "ศรีธรรมาโศก"ฝ่ายแม่ ส่วนน้องชายเจ้าชายสุวรรณคูตา พระเจ้าอู่ทองสนับสนุนให้เป็นกษัตริย์เมืองนครในนามพระเจ้าสุวรรณคูตาศรีธรรมาโศกราชในปีเดียวกันนี้"ศุกโขไฑ" ก็มีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีอำนาจขึ้น พระเจ้าสุวรรณคูตาทรงบูรณะวัดเสมาทอง (มเหยงคณ์) ให้เป็นวัดมีเสนาสนะเพียบพร้อมเพื่อเป็นวัดรองจากวัดท่าช้างที่เป็นวัดสมเด็จสังฆราช "เจ้าโพธิกุมาร" หลานตาของพระเจ้าสุวรรณคูตา วัดท่าช้างนี้จึงน่าจะ
เป็นวัดท่าช้างที่บ้านมะม่วงสองต้น ไม่ใช่วัดท่าช้างที่ตลาดแขกที่กรมศิลปากรยกที่ดินให้แขกไทรบุรีสร้างมัสยิดซอลาฮุดดินทับไว้ และในปี พ.ศ.1580 นี้สุโขทัยก็มีผู้ปกครองที่เข้มแข็งกำลังสร้างแว่นแคว้นของตนเองตามการจดบันทึกของพงศาวดารเหนือ

พ.ศ.1610 นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์รวมของศรีวิชัยทั้ง 3 ทั้งไชยา และชวาผู้สำเร็จราชการเมืองนครไปสร้างห้องเก็บพระบรมราชโองการให้พระเจ้ากรุงจีน สร้างหอสมุดหลวง สร้างโบสถ์ใหญ่ที่กวางตุ้ง ซื้อที่นา 400,000 ตำลึง ถวายวัดนี้ พระเจ้ากรุงจีนพอใจมากตั้งให้เป็นจอมพลผู้ปกป้องความเชื่อและการก่อสร้าง โปรดให้เข้าเฝ้าได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องมีขุนนางเบิกตัวเข้าเฝ้า เป็นที่น่าสงสัยว่าในขณะนั้นนครศรีธรรมราชว่างกษัตริย์หรือถึงมีผู้สำเร็จราชการหรือมีกษัตริย์ผู้เยาว์ผู้สำเร็จราชการต้องการเป็นกษัตริย์ จึงไปทำพอได้กับจีนขอการรับรองจากจีน 
พ.ศ.1623ศุกโขไฑ"เริ่มมีบทบาทอำนาจทางการเมืองการปกครองในกลุ่มภาคเหนือ โดยมีขอมเข้ามา "แจม"ด้วยและพงศาวดารเขมรยืนยันว่าสุโขทัยตั้งเมืองในปีนี้

พ.ศ.1645 พระภัทรสถวีระภิกขุแห่งไชยา แต่งตำนานศรีวิชัยโบราณบอกถึงความเกี่ยวเนื่องในเชิงลึกของไชยา-นครศรีธรรมราช-ชวา และลังกา เพราะ 4 เมืองนี้คือขั้วอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยตัวจริงตลอดมา

พ.ศ.1710 ศรีวิชัยที่ไชยาได้ไปทำการสังคายนาศาสนาพุทธให้บริสุทธิ์ที่ลังกาแล้วช่วยกันเผยแผ่ไปสู่ไชยา - นครศรีธรรมราช ชวา ละโว้ ศรีสุวรรณะ(นครปฐม) อโยธยา หริภุญไชย และธานนยปุระ(นครสวรรค์)

พ.ศ.1722 ท้าวพิไชยเทพเชียงแสน พระบิดาท้าวอู่ทอง (องค์หนึ่ง) แห่งอโยธยา (ศรีรามเทพนคร) ได้อาสายกกองมาปราบศรีวิชัยนครศรีธรรมราชที่บังอาจปลูกต้นมหาโพธิ์แสดงความเป็น "โพธิราชา"เพื่อดึงเมืองออกเมืองขึ้นเข้ามาสู่ร่มโพธิสมภารพร้อมกับริเริ่มการก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอิสรภาพแสดงว่า แคว้นอโยธยากำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นผู้นำทางด้านการเมืองการปกครอง และไม่อยากให้นครศรีธรรมราชขึ้นมาตีเสมอแม้ว่าจะโด่งดังในนามศูนย์กลางของศรีวิชัยมาก่อนนี้ไม่นาน และเป็นเพราะกำลังเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ด้วยกษัตริย์องค์ก่อนเพิ่งสวรรคตก็ตาม

พ.ศ.1723 นางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัวและพระยากุมารแห่งอาณาจักรสะทิงพระ เสด็จมาเยี่ยมนครศรีธรรมราช "สะทิงพระ" เป็น 1 ใน 10 นครของศรีวิชัยจากหลักฐานของนักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ จากการสัมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (ขณะเป็นวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) ยืนยันว่านางพญาเลือดขาวเสด็จนครศรีธรรมราช ครั้งแรกในปีพ.ศ. 1723 แต่ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงในขณะนั้น(สมัย ร.5) พิณ จันทโรจน์วงศ์ ผู้เขียนประวัตินางพญาเลือดขาวบอกว่า พระนางครองราชย์ที่เมืองสะทิงพระประมาณพ.ศ.1482 บางตำนานบอกว่า ปี พ.ศ. 1482 พระนางเพิ่ง ไปเรียนวิชาการจากสำนักเขาอ้อ(ควนขนุน) พัทลุงพร้อมกับเจ้ากุมาร ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นไม่เชื่อบอกว่า "แก่ไป"ยิ่งกว่านั้นจากการสัมนาเชื่อว่านางพญาเลือดขาวเสด็จสุโขทัย พร้อมพระร่วงอรุณโรจนราชในปี พ.ศ.1799 ที่พระร่วงเสด็จมานครศรีธรรมราช จากปี พ.ศ.1482 ถึง พ.ศ.1799 เป็นเวลา 317 ปี ไม่น่าที่พระนางจะมีพระชนมายุมากขนาดนั้น ในความเป็นไปได้จึงน่าจะมี "นางพญาเลือดขาว 2 องค์" ต่างยุคต่างสมัยกันแต่เป็นเชื้อสายเดียวกัน และความคิดความอ่านเหมือนกันและต่างก็เป็นพระแม่เจ้าอยู่หัวของอาณาจักรสะทิงพระ นางพญาเลือดขาวองค์ที่ 2 ดูน่าจะเป็นเหลนองค์ที่ 1 มากกว่าจะเป็นหลานหรือลูกวิธีการหาก็ไม่ยากโดยไป "แกะ"ชื่อกษัตริย์ ของอาณาจักรนี้ดูเหตุการณ์แต่ละช่วงจะคลายตัวออกมาเอง จากการที่พระนางไปเรียนไสยเวทชั้นสูงจากพราหมณ์ และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน จากสำนักเขาอ้อ จึงเป็นและหนุนส่งให้พระนางเป็น "อรหันต์ฆราวาส" ได้โดยไม่ยากนัก สาเหตุที่พระนางเกี่ยวกับเมืองนคร เพราะเมืองสะทิงพระเป็น1 ใน 10 ของเมืองขึ้นของศรีวิชัยเหมือนกับสิงหนคร สงขลา เมืองกระบี่ ตะกั่วป่า ปกาไสย และกันตัง เป็นต้น 

อิทธพลของขอม

อิทธิพลของมอญ-ทวารวดี ด้านวัฒนธรรมในนครศรีธรรมราชยังไม่ทันจางหาย พระเจ้าไชยวรมันที่ 7 (1742-1762 )แห่งอาณาจักรขอมรู้สึกหวั่นไหวต่ออำนาจของแคว้นอโยธยาของพระเจ้าอู่ทองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางที่เข้ามาข่มขู่เอากับอาณาจักรรีวิชัยที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนและเกี่ยวพันเป็นพระญาติกับพระองค์และด้วยการเห็นด้วยของพ่อขุนผาเมืองราชบุตรเขย จึงตัดสินพระทัยส่ง กมรเต็งอัญศรีชคตไตรโลกยราช เจ้าเมืองละโว้ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อสายของพระเจ้าสุชิตราชจากเมืองนครมาปกครองศรีวิชัยที่ไชยาในพระนามใหม่ว่า "พระเจ้าไตรโลกยราช" ซึ่งชื่อนี้จะเป็นต้นแบบชื่อของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระเจ้าเจ้าไตรโลกยราชมาปกครองศรีวิชัยในปี พ.ศ. 1740 และดึงศรีวชัยนครศรีธรรมราชและศรีวิชัยชวาเข้ามาเป็นบริวารรวมทั้งเมืองบริวารทั้ง 12 เมือง ทำให้ไชยาเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ.1758 เจ้าชายมาฆะโอรสพระเจ้าไตรโลกยราชได้ไปช่วยกษัตริย์ลังกาทำสงครามจนชนะได้รับบำเหน็จให้เป็นกษัตริย์ครองเมืองโปโลนนรุวะทำให้ศิลปการก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาแบบไชยา-ลังกา-นครศรีธรรมราช-สุโขทัย-อยุธยา เป็นรูปแบบเดียวกันและสืบทอดตกถึงกันในเวลาต่อมารวมทั้งเมืองบริวารทั้งหลายของเมืองเหล่านี้

พ.ศ.1760 พระเจ้าไตรโลกยราชส่งเจ้าชายจันทรภาณุที่ 1 โอรสเจ้าชายมาฆะมาปกครองศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ขึ้นกับไชยา

พ.ศ.1768 เฉาจูกัว นักจดหมายเหตุจีน จดบันทึกทบทวนเมืองเอก 15 หัวเมือง ของศรีวิชัยเสียใหม่เพื่อการติดต่อทางการค้า ซึ่ง 15 เมืองมีชื่อเป็นภาษาจีนดังนี้

1. ปอง-ฟง

2. ตอง-ยา-นอง

3. หวั่ง-ยะ-สิ-เกี๋ย (ยะรัง ปัตตานี)

4. กิลันตัน(กลันตัน)

5. โฟ-โล-อัน(พัทลุง)

6. จิ-โล-ทิง

7. เสียนไหม(กระบี่)

8. พะ-ท่า

9. ตัน-มา-ลิง(นครศรีธรรมราช)

10. เกีย -โล -หิ (ครหิที่ 1 เมืองกระ ครหิที่ 2 ไชยา)

11. ปา-ติง-ฟอง

12. ชินโต(สุมาตราใต้)

13. เคียน-ปี่

14. ลัง-วู-ลิ (สุมาตราเหนือ)

15. ซิ-หลาน(ลังกา อังกฤษจึงเรียก Ceylon)

พ.ศ.1769 โจฬะเขมรที่เป็นเชื้อสายของโจฬะราเชนทร์ที่1 แห่งอินเดียใต้เข้ายึดครองกรุงละโว้ พระเจ้าไตรโลกยราช โปรดให้ส่งเจ้าชายพระยาร่วง โอรสมเหสีรอง(แม่เป็นละโว้) ไปปราบโจฬะเขมรที่ละโว้แล้วปกครองละโว้ต่อมา พระยาร่วงองค์นี้น่าจะเป็นพระร่วงส่วยน้ำที่สั่งให้น้ำอยู่ในชะลอมส่งไปขอมแสดงว่าว่าทั้งนครศรีธรรมราชและละโว้ต่างก็สงส่วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปให้กษัตริย์ขอมอาบทุกปี แสดงว่า(อีกครั้ง) กษัตริย์ขอมเป็นเชื้อสายศรีวิชัยแน่นอนมาตั้งแต่โกณทัญญะแห่งฟูนันจากอาณาจักรพนม พระเจ้าไชยวรมันที่7 หรือสืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 แห่งพิมาย ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะพระองค์ทำถนนย้อนกลับเข้ามาสู่เมืองขึ้นขอมมากมายในอีสานและภาคกลาง เช่น บุรีรัมย์ พิมาย ลพบุรี ฯลฯ เมื่อกษัตริย์ขอมสมัยหลังพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 ส่ง"ขอมดำดิน"มา "เก็บ"พระยาร่วง ๆ จึงเสด็จหนีไปบวชที่กรุงสุโขทัย เพราะสุโขทัย(แคว้นพาลี้) เคยอยู่อาณัติของศรีวิชัย ที่ไชยาและละโว้มาก่อน

พ.ศ.1770 พระเจ้าไตรโลกยราชที่ศรีวิชัย - ไชยา สวรรคตพระเจ้าจันทรภาณุจากนครศรีธรรมราชกลับไปครองไชยา แล้วให้น้องชาย "พงษาสุระ" มาปกครองนครศรีธรรมราชในพระนาม พระเจ้าจันทรภาณุที่ 2

พ.ศ.1773 พระเจ้าจันทรภาณุที่ 2 นครศรีธรรมราชประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับศรีวิชัย-ไชยา และไม่ขึ้นกับขอมเพราะพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 ผู้อยู่เบื้องหลังกษัตริย์ไชยาได้สวรรคตแล้วและไม่ต้องส่งส่วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 บ่อในเมืองนครไปให้ขอมอีกดังจารึกหลักที่ 24 วัดเสมาเมืองที่จารึกไว้ในปีนี้ทำให้อำนาจขอมหมดไปจากอาณาจักรศรีวิชัยไปด้วยในตัว ตั้งแต่ปีนี้ตามพรลิงค์ นครศรีธรรมราชมีเมือง 12 นักษัตรเข้ามาเป็นเมืองบริวาร

พ.ศ.1790 พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้ประกาศอิสรภาพ ได้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาครอบทรงศรีวิชัยไว้ภายในนับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่สุดเป็นครั้งที่ 4

จอมทัพเรือผู้เกรียงไกร

ในปี พ.ศ.1739 พระเจ้ามาฆะพระบิดาของพระเจ้าจันทรภาณุแห่งไชยาและพระเจ้าจันทรภาณุนครศรีธรรมราชทรงชราภาพมากแล้วถูกข้าศึกมาย่ำยี จึงตกลงกันว่าให้นครศรีธรรมราชยกกองทัพเรือไปช่วยโดยการสนับสนุนของศรีวิชัยไชยาในครั้งนี้กษัตริย์ลังกาสัญญาจะให้พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปโบราณแก่พระเจ้าจันทรภาณุและในการศึกครั้งนี้น่าที่จะพระยาร่วงจะเสด็จออกทางเมืองสะเทิมยกกองทัพเรือไปร่วมรบ เพราะทรงรู้จักลักษณะนิสัยของโจฬะในอินเดียเป็นอย่างดีการขอพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปไว้สุโขทัยไปเป็นเครื่องมือในการตั้งอาณาจักรเพื่อความเป็น "พุทธราชา" ก็น่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้ แต่นครศรีธรรมราชคงต้องการเอามาเฉลิมฉลองคู่กับพระธาตุเจดีย์ก่อนและไม่ใช่สุโขทัย "สั่ง"นครศรีธรรมราชดังที่นักประวัติศาสตร์ภาคกลางเข้าใจ

พ.ศ.1798 พระเจ้ามาฆะทรงชราภาพมากแล้วเลยเสด็จกลับศรีวิชัย-ไชยา และได้อุปสมบทจนสวรรคตที่ไชยา ส่วนพระพุทธสิงหิงค์ นางพญาเลือดขาวนำมาไว้ที่นครศรีธรรมราช และในปีนี้พระเจ้าจันทรภาณุก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสามจอมจากกัมพูชา(ขอม) นางพญาจัณฑี (จันดี) จากเมืองขวาง เมืองสระ (อาณาจักรเวียงสระ) และนางพญาเลือดขาว จากอาณาจักรสะทิงพระที่อาณาจักรของตนล่มไปช่วยกันสร้างวัดควนสูงที่อำเภอฉวางโดยฝังทองคำแท่ง 150 สำเภาเรือไว้ที่นั่น เจ้าสามจอมได้สร้างวิหารสามจอมไว้บูชาพระธาตุต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวิหารศรีธรรมาโศกราช นางพญาจัณฑีได้สร้างพระยายแอดหรือสร้างพระกัจจายานะ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่แม่นางแอด แห่งเมืองขวาง เมืองสระ แม่ของพระนางพระองค์นี้จึงเรียกแบบชาวบ้านว่า "พระยาแอด" ส่วนนางพญาเลือดขาวได้บูรณะวัดท้าวโคตรเป็นครั้งที่ 5 สร้างวัดนางตรา วัดถ้ำทองทุ่งสง พระพุทธไสยาสน์-กันตัง และวัดพระนางสร้างที่ภูเก็ต เมืองเก่าที่กิ่งอำเภอช้างกลาง  
พ.ศ.1799 พระร่วงอรุณโรจนราช จากสุโขทัยเสด็จนครศรีธรรมราชเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระธาตุเจดีย์คู่กับพระพุทธสิหิงค์พร้อมด้วย "ราชา" จากนครทั้ง 12 ซึ่งแน่ละแขกคนสำคัญต้องเป็น "พระร่วง" น้องชายต่างมารดาที่กำลังจะเป็น "ราชาธิราช"แห่งแคว้นสุโขทัยไม่ใช่กษัตริย์ต่างเมือง 12 นักษัตร จากการต้อนรับอย่างดีจาก "เสด็จพี่" พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมโศกราช ผู้ยิ่งใหญ่บนแหลมมลายูและเป็น "concept" ของศรีวิชัยอันโด่งดังในอดีตการสมานฉันท์ฉันพี่น้องร่วมบิดา เจ้าชายมาฆะผู้เกรียงไกรแห่งโปโลนนรุวะในลังกาข้อตกลงจึงมีความน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

1.พระพุทธสิหิงค์ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า และสัญลักษณ์ของพุทธราชาแห่งพระเจ้าจันทรภาณุต้องอยู่นครศรีธรรมราชต่อไปในโอกาสที่ได้ลงทุนไปมากในการทำศึกกับลังกาและเพิ่งประกาศอิสรภาพมาเมื่อ 26 ปีที่แล้ว โดยจะให้ช่างเมืองนครหล่อจำลองพระพุทธสิงหิงค์ให้ไป

2.เพื่อความเป็น"พุทธราชา" ของพระยาร่วงจะได้สมบูรณ์ทั้งด้านปรัชญา ความเชื่อ และพิธีกรรม พระเจ้าจันทรภาณุ จะถวายพระแม่เจ้าอยู่หัว นางพญาเลือดขาว "อรหันต์ฆราวาส"แห่งตามพรลิงค์ไปเป็น "ศักดิ"ของพระร่วง คอยช่วยเหลือด้านศาสนาพุทธเหมือนพระนางอินทรศจี มเหสีของพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 คอยเป็น "ศักดิ" ให้กับพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมในด้านศาสนาตลอดมา

3.พระเจ้าพี่จันทรภาณุได้ถวาย "สังฆราชปราชญ์ปู่ครู"พระภิกษุสงฆ์ที่ทรงความรู้อันสูงส่งทางศาสนาพุทธ ระดับนักปราชญ์ คือรอบรู้ทุกสรรพสิ่ง จนเป็น "ปู่" ของพระครูทั้งหลาย ตามธรรมเนียมโบราณคณะธรรมฑูตไปต่างเมืองสมัยก่อนมีทีมเล็กขนาด 17 คน ประกอบด้วย พระชั้นผู้ใหญ่หัวหน้าคณะ1 รูป พระชั้นผู้ใหญ่รองหัวหน้าคณะ 1 รูป พระธรรมกถึกผู้เก่งกล้าในพระไตรปิฎก พระภิกษุผู้รู้ธรรม สามเณร ผู้รู้ธรรม และสัปปบุรุษหรือ "บาคู" ฆราวาส ผู้สั่งสอนแนะนำพระ ได้รวมแล้ว 17 คน เป็นอย่างน้อย หากคณะใหญ่ก็มากกว่านี้อาจจะถึง 31 องค์ หรือคน ดังนั้นการที่เมืองนครถวาย "สังฆราชปราชญ์ปู่ครู" แสดงว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์สูงสุดยอดให้แก่สุโขทัย และตั้งใจช่วยสุโขทัยอย่างเต็มที่

4.พราหมณ์ปุโรหิต มหาพราหมณ์ผู้เจนจบพระเวทในทางปฏิบัติบูชาและพิธีกรรมแบบพราหมณ์ชั้นสูงของศรีวิชัย แก่สุโขทัยเพื่อเป็นโหรหลวงและเป็นที่ปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน พราหมณ์ปุโรหิตหัวหน้าคณะคือพ่อของพราหมณ์โชติรัตน์ ปู่ของนางนพมาศ ผู้กำเนิดการลอยกระทง ก็เหมือนกับ "พระอินทร์"กษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรศรีวิชัย-ไชยา ได้ถวาย "มหาพราหมณ์ศิวะไกวัลย์"ไปเป็นที่ปรึกษาแก่พระเจ้าไชยวรมันที่ 2แห่งอาณาจักรขอมแล้วสามารถตั้งพิธีกรรมประกาศลัทธิเทวราชาบนภูเขาพนมกุเลนในกาลต่อมา เช่นนั้น ดังนั้นกระบวนทัพ"สยามกุก"จึงน่าจะเป็นกองทัพช้างจากศรีวิชัยเพราะคำว่าเสียมหลอหมายถึง ไชยา+ละโว้ ดังจดหมายเหตุจีน

5.ลิลิตโองการแช่งน้ำ แบบพราหมณ์ที่ศรีวิชัย-ไชยา เคยใช้สาปแช่งศรีวิชัย-ชวา ที่มีกษัตริย์ลังกาอยู่เบื้องหลังความกระด้างกระเดื่อง ต้นแบบนี้พระเจ้าศรีวิชเยนทรราชาวิษณุที่ 2 ได้นำมาใช้กับนครทั้ง 10 เมือง และพระเจ้าจันทรภาณุได้ใช้กับเมือง 12 นักษัตร เมื่อพระเจ้าพี่จันทรภาณุจะมอบต้นฉบับร่างให้พระเจ้าน้องอรุณโรจนราช-พระยาร่วง ไปใช้ในสุโขทัยก็ไม่เสียหายอันใด แล้วนำไปเขียนเสียใหม่ให้เหมาะสมกับสุโขทัยในการปกครองเมืองออกเมืองขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2458 และ 2460 ที่พระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานพระราชพิธีถือน้ำพิพัทสัตยาประจำปีของเมืองนครหน้าพระวิหารหลวง "สักขี"ผู้จดบันทึกจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเขียนบอกว่า ใช้โองการแช่งน้ำของสุโขทัยไปจากนครศรีธรรมราช ไม่ใช่สุโขทัยเขียนใหม่เอี่ยม อันดับแรกสุดของไทยดังที่นักประวัติศาสตร์นักโบราณคดีและนักวรรณกรรมคดีภาคกลางเข้าใจ

6.รูปแบบและวิธีการทำศิลาจารึก เมืองนครทำศิลาจารึกมาตั้งแต่พ.ศ.900 มีหลายหลักที่ยังไม่ได้อ่าน พ.ศ. 1100 ทำศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย แม้จะไม่ตั้งใจทำก็ตามและหลังจากนั้นทำอีกหลายหลัก เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 23 ศิลาจารึกหลักที่ 24 ศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ส่วนภาษาและตัวอักขระหนังสือรวมทั้งภาษาถิ่นของเมืองนครที่มีอยู่หลากหลาย ภาษาเมืองสะเทิม และภาษาในท้องถิ่นของสุโขทัยโดยเฉพาะภาษาขอมที่มีใช้อยู่ในละโว้และศรีวิชัยทุกเมืองในปักษ์ใต้ มาเป็นภาษาในศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัยจึงทำศิลาจารึกสำเร็จในปี พ.ศ.1826 หลังเมืองนครทำศิลาจารึกเป็นถึง 926 ปี

ปริศนาที่น่าสนใจ

ส่วนนางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จไปเป็น "ศักดิ"ของพระร่วง ใน ปี พ.ศ. 1799 นั้นทรงพระครรภ์อยู่แล้วพระนางประสูติพระโอรสที่สุโขทัย และตั้งพระนามว่า "เจ้าฟ้าคอลาย" แปลว่าพญางูใหญ่ ในปี พ.ศ.1804 พระนางเสด็จกลับนครศรีธรรมราช ทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์ส่งไปให้สุโขทัย

พ.ศ.1800 คณะสงฆ์จากลังกา นักปราชญ์ ราชบัณฑิต สัปบุรุษ อุบาสก อุบาสิกา ชื่นชมยินดีกับความเป็นเมืองพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของเมืองนครจึงอพยพเข้ามาเป็นระลอกๆ ช่วยกันสร้างวัดมากมาย เช่น สร้างรูปเคารพทางขึ้นองค์พระธาตุ สร้างวัดเสมาเงินเพิ่มเติม สร้างวัดแจ้ง วัดชะเมา วัดใหม่ อ.ทุ่งใหญ่ วัดท่าเรือ วัดพระพรหมพระเพรงเพิ่มเติมให้เป็นวัดพุทธซึ่ง “ก่อนนี้เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ทั้งหมด” และในปีเดียวกันนี้ สุโขทัยก็ประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 1813 พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชแห่งตามพรลิงค์ผู้เกรียงไกรได้ยกกองทัพเรือ สมุทรยาตรา ไปตีลังกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อยึดเมืองโปโลนนรุวะของเจ้าชายมาฆะ สมเด็จพ่อคืนมาและจะเข้าครอบครองเหมือนดังที่ศรีวิชัยไชยาเคยครอบครองเมืองทวารกาในอินเดียใต้มาแล้ว และหวังจะได้ "บาตร"ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานคู่กับพระบรมธาตุเจดีย์ที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เพื่อยกฐานะของพระองค์ให้สูงส่งดัง "มหาราช"แห่งศรีวิชัยองค์ก่อนๆให้ได้ แต่ลังกาไม่ยอมเสียเมืองในครั้งนี้ จึงร่วมมือกับพวกราเชนทร์โจฬะและศรีวิชัยไชยา หรือ "ชวากะ" ให้ช่วยกัน "หักหลัง" การทำศึกครั้งนี้ ศรีวิชัย-ไชยา แม้ว่าจะเป็น "พี่"แต่ก็ไม่อยากให้ "นครศรีธรรมราช"ขึ้นหน้าแซงขึ้นมาเป็น "มหาราชแห่งศรีวิชัยทั้ง 3 จึงร่วมมือกับลังกาเป็นไส้ศึก สงครามครั้งนี้พระเจ้าจันทราภาณุแห่งศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินอย่างไม่คาดคิดและเชื่อกันว่าพระองค์สวรรคตในสนามรบ พระศพของพระองค์อยู่ที่ไหน ศรีวิชัย-ไชยาต้องรู้เรื่องนี้ ดังนั้นการใช้โองการแช่งน้ำแบบพราหมณ์ชั้นสูงที่ศรีวิชัย-ไชยา เคยสาปแช่งศรีวิชัย-ไชยา จึงได้นำมาใช้ "สะกด"ศรีวิชัย-นครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าจันทรภาณุกำลังทำศึกอยู่กับลังกาก็ได้

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ( อาจารย์ของวิภีษณพราหมณ์ )รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดีจึงได้ทำพิธีถอนคำสาปเมื่อ พ.ศ.2528 ก่อนสร้างศาลหลักเมืองใหม่ทรงศรีวิชัยไว้ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นการแก้เคล็ด โดยใช้กลวิธี "ฤกษ์พิฆาตฤกษ์"

การสิ้นชีพของอรหันต์ฆราวาส

ในขณะเดียวกันนางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัว ก็สั่งคนใกล้ชิดว่าเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ให้นำพระศพกลับไปอาณาจักรสะทิงพระตามเดิม จนถึงบัดนี้ยังไม่สามารถค้นพบว่าศพของพระนางอยู่ที่ไหน ส่วนเจ้าฟ้าคอลายประทับอยู่ที่สุโขทัยจนพระชนมายุ 15 พรรษา ในพ.ศ.1815 ที่เสด็จแม่นางพญาเลือดขาวสิ้นพระชนม์ ก็เสด็จกลับมานครศรีธรรมราช แล้วไม่มีร่องรอยอีกเลย เมื่อทราบข่าวว่าเสด็จแม่สิ้นพระชนม์และเพิ่งทราบว่าเสด็จพ่อสวรรคตในการศึก ก็แสดงว่าเจ้าฟ้าคอลายน่าจะเป็นโอรสพระเจ้าจันทรภาณุพระสวามีองค์ที่ 2 ของนางพญาเลือดขาว ดังนั้นการให้พระนางเสด็จสุโขทัยในขณะทรงครรภ์ ก็เพื่อเป็นการสร้างบุญบารมีและกฤษดาแห่งอภินิหารให้โอรสในครรภ์ หากเป็นลูกชายดังที่พระนางจามทวี รัชทายาทบุญธรรมแห่งกรุงละโว้เล่นบทนี้มาแล้วในการเดินทางไปกลับไปหริภุญไชย (ลำพูน) เมื่อ พ.ศ. 1223 หรือประมาณ 576 ปี ที่แล้วหากนับมาถึง พ.ศ.1799 ในกรณีที่ 2 หากเจ้าฟ้าคอลายมีชื่อเป็นสุโขทัยว่า "พ่อขุนศรีศรัทธา" ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสอดรับกับความเป็น "อรหันต์ฆราวาส" ต่อมาศาสนาพุทธของนางพญาเลือดขาวผู้เป็นแม่อย่างชัดเจนในฐานะเช่นนี้ ทำให้เจ้าฟ้าคอลายมุ่งมั่นตั้งพระทัยที่จะเป็นกษัตริย์ครองนครศรีธรรมราชต่อจากพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชแน่นอน "สุวัณณภูมิ"คำแรกคือ Golden Khersonese อันหมายถึง ปักษ์ใต้หรือเจาะจงลงที่เขาสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง)ใจกลางสุวรรณปุระหรือศรีวิชัยที่ไชยาและกลายเป็นปรัชญาความเชื่อของอยุธยาและกรุงเทพว่าต้องมีภูเขาทองกลางเมืองดังเมืองศรีวิชัยเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของราชธานี
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สมเด็จพระบรมราชาที่2 เจ้าสามพระยาจึงทรงตัดสินพระทัยดังนี้

1.ส่งกองทัพที่ชำนาญในการศึกไปตีนครธมใจกลางอาณาจักรขอมอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 1974 กวาดต้อนผู้คนมาอยุธยานับแสนคนและเป็นการพ่ายแพ้ชั่วนิรันดร์ของอาณาจักรขอมจนปัจจุบันส่งผลให้ศรีวิชัยหยุดความคิดที่จะเข้าช่วยขอมเพราะตนเองก็ไม่เข้มแข็งดังแต่ก่อน

2.ส่งกองทัพไปตีสุโขทัย ผู้ปกครองศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 1981 ทำให้สุโขทัยที่ถุกบ่อนทำลายให้อ่อนแอมาก่อน ตกเป็นของอยุธยาทันที ศรีวิชัย-นครศรีธรรมราชจึงตกเป็นเมืองพระยามหานครอย่างสิทธิขาดแก่กรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองออกเมืองขึ้น บนแหลมมลายูของนครศรีธรรมราช

3.สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 เจ้าสามพระยาส่งราชทูตมาสู่สำนักศรีวิชัย-ไชยา อ้างความเป็นเครือญาติใกล้ชิดระหว่างอาณาจักรอู่ทอง เมื่อ พ.ศ.1052 กับศรีวิชัย-ไชยา ที่กษัตริย์อู่ทองมาครองศรีวิชัย และอ้างสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในปี พ.ศ.1580 ที่พระเจ้าอู่ทอง องค์หนึ่งของอโยธยา (ก่อนอยุธยา) เคยเสด็จศรีวิชัย-ไชยา ที่เมืองเวียงสระในปี พ.ศ.1722 ที่ท้าวพิไชยเทพเชียงแสนพระบิดาท้าวอู่ทองแห่งอโยฑธยามาปราบไม่ให้ "ธรรมราชปุระ"หรือนครศรีธรรมราชสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เพื่อความเป็น "มหาราช"โดยตกลงให้เจ้าชายพนมทะเลไชยศิริ หลานพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองนครที่มีเชื้อสาย "พนมทะเลศิริ" เพชรบุรีซึ่งได้มาศึกษาวิชาอยู่ที่นครศรีธรรมราช อภิเษกกับหลานสาว ของท้าวพิไชยเทพเชียงแสน แล้วไปครองนครเพชรบุรี (อาณาจักรพริบพรี) ทำให้ศรีวิชัย -ไชยา ตั้งอยู่ในที่ปกติไม่แสดงความเป็นศัตรูแก่อยุธยาแต่อย่างไรจนสิ้นรัชกาลเจ้าสามพระยา

จากวิเทโศบายทางดินแดนเช่นนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาโดดเด่นอยู่อาณาจักรเดียว ทั้งมั่นคงและมั่งคั่งด้วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทองคำจากทุกอาณาจักรเก่าก่อนที่ล่มสลายไปแล้วไม่ว่า สุโขทัยหรือศรีวิชัย ต่างก็ไหลเทมาสู่กรุงศรีอยุธยาเปรียบเสมือนดั่งน้ำไหลจากภูเขาลงสู่ทะเลสาบ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็น "นครทองคำแห่งตะวันออก"รองลงมาจากจีนเท่านั้น

เมืองนครหลากหลายเผ่าพันธุ์ จากที่กล่าวมาแล้วปรากฏว่านครศรีธรรมราชมีคนปักษ์ใต้ พราหมณ์อินเดีย ชวา ลังกา อาหรับ มอญ ขอม ผสมปนเปรวมเป็นเชื้อสายอย่างต่อเนื่องดังนั้นประชากรของเมืองนครจึงเป็นเลือดผสมกันมานานนับพันปีซ้ำซ้อนทางสายเลือดจึงทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมจนมีความขัดแย้งทางความคิดอยู่เสมอไม่ว่าเรื่องการเมือง หรือว่าเรื่องอะไรก็ตาม ยิ่งกว่านั้นเมืองสมเด็จพระราเมศวร กษัตริย์องค์ที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ครองราชย์ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.1931-1938 โปรดให้ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่หลังขึ้นครองราชย์เพียง 3 วัน กวาดต้อนพลเมืองชาวเชียงใหม่จำนวนมาก แบ่งไปไว้ในจังหวัดจันทบุรี พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช จึงทำให้นครศรีธรรมราชมีวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาปะปนอีกชั้นหนึ่ง

ฝ่ายเขมร-กำพูชา แก้แค้นที่เสียพลเมืองไป 98,000 คน ในปี พ.ศ.1859 ดังกล่าวแล้ว ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนจากเมืองจันทบุรี จำนวน 85,000 คน ในปี พ.ศ.1933 สมเด็จพระราเมศวร จึงยกกองทัพใหญ่ที่เคยไปรบขอมในรัชกาลก่อนไปตีนครธมของเขมรเป็นการแก้ตัว เมื่อเขมรถูกตีด้วยกองทัพใหญ่ของไทยถึง3 ครั้ง ในเวลาเพียง 79 ปี ทำให้เขมรตกเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่ปีนั้นในแผ่นดิน "พระบาทธรรมาโศก"เป็นรัชกาลที่ 41 ของกษัตริย์ขอมซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 1916 -1937 ในการนี้ได้สมบัติที่เป็นโบราณวัตถุที่ทำด้วยทองคำ เพชร นิล จินดา ไข่มุก จากปราสาทบูชาเทพเจ้าประจำรัชกาลจำนวนมาก สาเหตุสำคัญที่ขอมพ่ายแพ้คงจะเป็นเพราะว่ากษัตริย์เป็น "ธรรมราชา" ที่เคร่งปฏิบัติพระศาสนา ไม่ได้เป็น "กษัตริย์ราชา"ที่เป็นนักรบ จึงทำให้พ่ายแพ้กษัตริย์อยุธยาที่กำลัง "เมามัน"ในการทำสงครามด้วยการโชว์ความเป็นกษัตริย์ราชา - นักรบระหว่างพระราเมศวรตัวแทนราชวงศ์อู่ทองกับ "พระบรมราชา"ตัวแทนราชวงศ์สุวรรณภูมิที่กำลังเบ่งรัศมีข่มกัน

ความแปลกประหลาดน่าฉงน

ในปี พ.ศ.1916 ในขณะที่พระบรมธรรมาโศกเป็นกษัตริย์ขอมขึ้นครองราชย์ในปีนี้ กษัตริย์ศรีวิชัยที่ไชยาซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1916 เดียวกันก็ทรงพระนามว่า "พระยาธรรมาโศก" แสดงว่า 2 พระองค์แม้อยู่ต่างแผ่นดิน อยู่ต่างอาณาจักรแต่ก็เชื้อสาย "ขอม" พระเจ้า "ไชยวรมันที่ 7" ผู้ตั้งลัทธิพุทธราชาเดียวกันสามารถทำให้กษัตริย์ 2 องค์ 2 แผ่นดิน ขึ้นครองราชย์ด้วยความคิดเป็น"ธรรมราชา"เหมือนกันและนิยมสร้างพระพุทธรูปเหมือนกันกล่าวคือ พระยาธรรมโศก แห่งศรีวิชัย-ไชยา โปรดสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายแดงเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏอยู่ที่ไชยา และเวียงสระในปัจจุบัน และเป็นพระพุทธรูปที่แสดงออกถึงความยากลำบากในการสร้างความเพียรพยายามที่จะสร้าง รูปแบบลักษณะศิลปะและปฏิมากรรมได้บอกถึงความตั้งใจอย่างสูงส่ง ที่จะผูกรัดความเป็นมนุษย์ราชาของพระองค์เข้าไว้ในความเป็น "พุทธราชา" เทียบชั้นพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์แล้วก็ตาม ก็จะเป็นการสูญเปล่าเมื่อคนรุ่นหลังยึงไม่รู้ถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้างและปรัชญาความเชื่ออันสูงส่งนั้นเลยพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดงเป็นจำนวนมากทั้งที่ทำในเมืองนครและที่ได้รับมาจากศรีวิชัย-ไชยา กระจัดกระจายอยู่ตามวัดโบราณต่างๆ ในนครศรีธรรมราชมากมาย โดยเฉพาะวัดพระมหาธาตุจะต้องได้รับการเปิดเผยถึงที่มาที่ไปเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังจะได้ภาคภูมิใจในความเป็น "พุทธราชา" "ธรรมราชา" และ "กษัตริย์ราชา"ของนครศรีธรรมราชอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
บทสุดท้ายของศรีวิชัย-ไชยา ความเก่งกล้าสามารถแบบศรีวิชัยได้ปรากฏอยู่ในตัวตนของ "พระบรมราชา"ผู้มาจากราชวงศ์สุวรรณภูมิได้ส่งต่อมาถึงพระนครอินทร์ผู้หานที่ฮ่องเต้ของจีนทรงตั้งให้เป็น "เสียมหล๋อก๊กอ๋อง"กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ภายในปี พ.ศ.1952-1967 สยบราชธานีสุโขทัยลงมาได้ขึ้นกับอยุธยาทำให้นครศรีธรรมราชที่เคยเป็นประเทศราชของสุโขทัย ก็มาเป็นเมืองพระยามหานครของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ถูกเรียกเป็นเพียง "เจ้านคร"ในตำแหน่ง "พระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชย มไหสุริยาธิบดี อภัยพีริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช"เท่านั้น

ส่วนศรีวิชัย-ไชยา ยังมีกษัตริย์ต่อมาอีก 2-3 องค์ ที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนักก็หมดฐานะลงใน พ.ศ. 1994 เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์องค์ที่8แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้เจ้าชายพนมวังก์จากเพชรบุรีผู้มีเชื้อสายจากอาณาจักรพนมโบราณสายเจ้าชายพนมทะเลชัยศิริเมื่อ 270 ปีก่อนมาเป็น "เจ้านคร" ครองทั้งศรีวิชัย-ไชยา และศรีวิชัย -นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยพระนางเสดียงทองมเหสี โดยมาตั้งศูนย์กลางการปกครองที่เมืองนครดอนพระ ในเขตเมืองสระอุเลาเดิมหรือเมืองกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน งานหลักคือการปฏิรูปบ้านเมืองที่มีการปกครองแบบศรีวิชัยโบราณ มาเป็นสมัยใหม่แบบโยงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบอยุธยา

ข้อสังเกตกษัตริย์วงศ์สุวรรณภูมิ

ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า "สุวัณณภูมิ"คำแรกคือ Golden Khersonese อันหมายถึง ปักษ์ใต้หรือเจาะจงลงที่เขาสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง)ใจกลางสุวรรณปุระหรือศรีวิชัยที่ไชยาและกลายเป็นปรัชญาความเชื่อของอยุธยาและกรุงเทพว่าต้องมีภูเขาทองกลางเมืองดังศรีวิชัย เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของราชธานี
กษัตริย์ศรีวิชัยที่เป็นขอมมาจากละโว้ มาปกครองศรีวิชัย-ไชยา ชื่อเดิมคือ
"กมรเต็งอัญศรีชคตไตรโลกยราช" เปลี่ยนเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้ว่า "พระ
ยาไตรโลกยราช"หมายถึงกษัตริย์ทั้ง 3 โลก เมื่อราชวงศ์สุวรรณภูมิเป็นเชื้อสายจากศรีวิชัย-ไชยา ก็มีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ที่พึ่งทั้ง3 โลก)" เป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวแล้วและมีองค์เดียวเท่านั้นที่ชื่อนี้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อพระองค์โปรดให้เจ้าชายพนมวังก์จากเพชรบุรีมาเป็น "เจ้านคร" ครอบครอง 2 อาณาจักรศรีวิชัยก็ยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกว่า การที่พระองค์ทรงเข้าใจแผ่นดินศรีวิชัย เลือกผู้ที่มีเชื้อสายศรีวิชัยมาปกครองศรีวิชัยเพราะพระองค์เป็น "ศรีวิชัย"กระนั้นแล



บทสรุป

จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะทำให้เราเห็นว่า นครศรีธรรมราชหรือนครแห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สามารถร้อยรัดเหตุการณ์ต่างๆทุกยุคทุกสมัยเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะและมีบทบาทเข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดมาตั้งแต่ยุคตามพรลิงค์และก่อนยุคศรีวิชัย ยุคสุโขทัย และอยุธยา ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะบอกถึง "ศักดิ์ศรี" อันสูงส่งของนครศรีธรรมราชในอดีตที่คนปัจจุบันเช่นเราควรนำศักดิ์ศรีนั้นมาใช้ให้สมคุณค่าที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสมมาเพื่ออนาคนของเมืองนครเราจึงต้อง "สั่ง"และ "สอน"ลูกหลานของเราให้เรียนรู้ เข้าใจ อธิบายได้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองนคร และนำประวัติศาสตร์นั้นมาใช้เพื่อ "พุทธภูมิ"อันยิ่งใหญ่ของนครศรีธรรมราชสืบไป เพราะจากบริบทที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดแสดงว่านครศรีธรรมราชเป็นชุมชนใหญ่มาก่อน พ.ศ. 245 ที่ศาสนาพุทธจะเผยแผ่เข้ามา ดังนั้นอายุนครศรีธรรมราชจะต้องนับตั้งแต่ พ.ศ.245 ถึงปัจจุบัน (2555) อายุเมืองนครก็จะเป็น 2,310 ปี