นครศรีธรรมราชเป็นชุมชนโบราณที่มี หลักฐานปรากฏการตั้งถิ่นฐานของพราหมณ์มานานนับพันปี ภาชนะเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตที่ค้นพบ เช่น เครื่องมือหินใช้ในการดำรงชีวิต สะท้อนพัฒนาการอันต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติ ศาสตร์ที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวอักษรขึ้นมาใช้ในการสื่อสาร

นครศรีธรรมราชในสมัยประวัติศาสตร์ถือเป็นชุมชนค้าขายทางทะเลที่สำคัญ ซึ่งผลจากการติดต่อค้าขายทำให้อิทธิพลทางศาสนาและวิทยาการจากอินเดีย จนกลายเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนาทั้งศาสนา พราหมณ์ ฮินดู และศาสนาพุทธ ดังปรากฏว่ามีการค้นพบหลักฐานต่างๆทั้งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่นเทวสถาน พระพุทธรูป เทวรูปพระนารายณ์ ศิวลึงค์ พระพิฆเนศ ปรากฏทั่วไปในนครศรีธรรมราช

อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เจริญควบคู่ไปกับการตั้งถิ่นฐานของเมือง นครศรีธรรมราช และการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็น "ศูนย์กลางวัฒนธรรมอินเดียในคาบสมุทรภาคใต้"

*กำเนิดพราหมณ์

ศาสนา พราหมณ์มีกำเนิดในประเทศอินเดีย ยุคพระเวท (ประมาณ 1,500-900 ปีก่อนคริสตกาล) แพร่เข้ามาทางภาคใต้ของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 10 โดยอาศัยพราหมณ์ (ฮินดู) ส่วนหนึ่งเดินทางโดยเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก แล้วเดินทางบกข้ามเขามายังนครศรีธรรมราช ส่วนหนึ่งข้ามช่องแคบมะละกาสู่อ่าวไทย มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบัน

สันนิษฐานว่า พราหมณ์รุ่นแรกที่เข้ามาน่าจะเป็นพราหมณ์ "ไศวนิกาย" นับถือพระศิวะ(พระอิศวร)เป็นเทพสูงสุด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 12 พบหลักฐานสัมพันธ์ลัทธิ ไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุ(พระนารายณ์)เป็นเทพสูงสุดเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามา

สมัยก่อนพราหมณ์ได้รับการยอมรับจากเจ้าผู้ครองนคร ในฐานะผู้รู้พระเวทและพิธีกรรม รวมทั้งภาษาสันสกฤตและอักษรปัลลวะที่ใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะนักวิชาการที่สำคัญของเมือง กระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ได้แผ่เข้ามาทำให้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ลดลง จนปัจจุบันแทบไม่มีศาสนิกชนของพราหมณ์อยู่ในเมือง

*"เขาคา" ศูนย์กลางจักรวาลแบบย่อส่วน

โบราณสถานเขาคา ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเล็ก บริเวณตำบลสำเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นแนวเทือกเขาเรียกว่าเขานครศรีธรรมราช และยังเป็นต้นน้ำของคลองหลายสาย ตอนกลางเป็นที่ราบมีการทับถมของตะกอนแม่น้ำเหมาะกับการก่อตั้งชุมชน ทำการเกษตรกรรมและใช้น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ดังนั้นสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะมีการตั้งถิ่นฐานอาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ จนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ซึ่งเริ่มติดต่อค้าขายกับชาวอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา

การติดต่อค้าขายทางทะเลกับชาวอินเดียทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม คติความเชื่อทางศาสนาจากพ่อค้าและนักบวช(พราหมณ์) ชาวอินเดีย ราวพุทธศตวรรษ 12-14 เป็นยุคเฟื่องฟูของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มีการตั้งเทวาลัยจำนวนมากทั้งพื้นราบและบนเนินเขา ขณะที่ศาสนาสถานแบบพุทธนิยมก่อตั้งบนพื้นราบ จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่าบริเวณพื้นที่เขตอำเภอสิชลปรากฏการตั้งเทวสถานในศาสนาพราหมณ์หนาแน่น มากกว่า40 แห่ง โดยมี "โบราณสถานเขาคา" เป็นศูนย์กลางจักรวาลบนโลกมนุษย์ ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์

เขาคา ประกอบด้วยยอดเขา 2 ยอด โดยมีศาสนสถานก่อตั้งตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ตั้งเรียงรายตามสันเขา เปรียบเขาคาดั่งเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้าสูงสุดเสมือนเทวาลัยแห่งพระศิวบนยอดเขา ประดิษฐานศิวลึงค์ตามคัมภีร์ศิวปุราณะ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ โดยมีลำน้ำหรือคลองท่าทนไหลผ่านเขาคาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ สมมติเป็นแม่น้ำคงคาตามความเชื่อทางศาสนา

นอกจากปรากฏหลักฐานมีความสัมพันธ์กับลัทธิไวษณพนิกาย เช่น พระวิษณุศิลากลุ่มศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม สำคัญทางศาสนา และเป็นที่พำนักของพราหมณ์ผู้ประกอบพิธี

ล่วงมานับพันปี วันนี้ความรุ่งเรืองดังกล่าวเหลือเพียงซากปรักหักพัง

พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน นักโบราณคดี สำนักงานศิลปากร 14 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า โบราณสถานเขาคาแห่งนี้ปรากฏร่องรอยศาสนาพราหมณ์ชัดเจน ค้นพบศาสนสถานใกล้ๆกันหลายหลัง กำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษ 12เป็นต้นมา โดยชื่อที่มาของ "เขาคา" มีการสันนิษฐานหลากหลาย บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากเขาของข้า บ้างก็ว่าสมัยก่อนบริเวณนี้มีหญ้าคาขึ้นอยู่ทั่วไป

จากการขุดแต่งและบูรณะโดยหน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช ปี 2530 พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น ธรณีประตู กรอบประตู ฐานเสา นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุ ได้แก่ รูปเคารพ ฐานโยนิ ศิวลึงค์

แต่เดิม เส้นทางขึ้นเขาคาอยู่ทางทิศตะวันตกใกล้กับคลองท่าทน ปัจจุบันทางขึ้นตั้งอยู่ทางทิศใต้ ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นขั้นบันไดค่อยๆลาดชันขึ้นไปสู่โบราณสถาน เริ่มจาก โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐเรียงตัวสูงจากพื้นดิน ภายในมีฐานโยนิตั้งอยู่ พร้อมกับชิ้นส่วนของหินธรณีประตู และฐานเสากระจัดกระจาย

พบแอ่งขนาดใหญ่รกด้วยต้นหญ้าและพรรณไม้ปกคลุม เจ้าหน้าที่โบราณคดีอธิบายว่าเป็นสระน้ำสร้างขึ้นโดยการปรับสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำระหว่างเนินเขา มีการนำก้อนหินขนาดต่างๆมากั้นเป็นผนังขอบสระป้องกันการพังทลายของดิน ใช้บริโภคและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

โบราณสถานหมายเลข 2 เป็นอาคารหลังใหญ่สุดและถือเป็นอาคารหลักสำคัญที่สุดในบรรดาเทวาลัยบนเขาคาสันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัยประธาน วิมานที่ประทับของพระศิวเทพเจ้า

ลักษณะอาคารเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รายรอบด้วยกำแพงแก้ว ลานประทักษิณ ตัวอาคารมีฐานบันไดเพียงไม่กี่ขั้น ก็ก้าวถึงธรณีประตูเข้าขึ้นไปยืนภายในศาสนสถานอันว่างเปล่า มีเพียงชิ้นส่วนแตกหักของกรอบ
ประตู ตรงกลางศาสนสถานตั้งฐานโยนีลักษณะคล้ายฐานบัว มีฐานเขียง ลวดบัว ส่วนท้องไม้แกะเป็นช่องคล้ายฐานเสาประดับอาคาร ส่วนบนของฐานโยนีเจาะเป็นรูรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลาง ด้านหน้ามีรางยื่นออกมา นอกจากนี้ยังค้นพบโบราณวัตถุรายรอบศาสนถานได้แก่ ฐานเสามีลักษณะเป็นแผ่นหินกลมมน เจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมบางแผ่นมีลักษณะเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 ชั้น ตรงกลางเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับสวมเสาไม้ ฐานเสา รางน้ำลักษณะเป็นแท่งหินปูนเซาะร่องตรงกลางสำหรับทางน้ำไหลผ่านได้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรางระบายน้ำจากพื้นอาคารลงสู่ไหล่เขา

จากโบราณสถานหมายเลข 2 ระหว่างทางเดินไปยังโบราณสถานลำดับต่อไปผ่านต้นไม้สูงชะลูด เจ้าหน้าที่โบราณคดีชี้ชวนให้ดูทางลาดลงจากเขา ปรากฏต้นไม้เล็กๆขึ้นเต็มไปหมด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น "ทางเดิน" ขึ้น-ลง ศาสนสถานในสมัยโบราณ

ปลายสุดของยอดเขาทางทิศใต้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานหมายเลข 4 ท่ามกลางต้นไม้หนาตา ดอกไม้ป่าสีสันสดใส มีอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะการก่อสร้างนำเศษหินมาก่อเรียงยกพื้น ภายในปรากฏก้อนหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายลึงค์ สันนิษฐานว่าอาจหมายถึง สวยัมภูลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง

ศิวลึงค์ของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชรุ่นแรกๆมักติดกับฐานโยนี เวลาทำพิธีกรรมกระทำโดยการรดน้ำลงไปบนโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่า น้ำที่ไหลลงมานั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นิยมนำมาดื่มและอาบ ศิวลึงค์รุ่นต่อๆมา ประกอบด้วย 3 ส่วน แต่ละส่วนมักไม่เท่ากัน

ศิวลึงค์ แบบสมบูรณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส หมายถึง พรหมภาค คือ ภาคของพระพรหม ส่วนกลางออกแบบเป็นแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค คือ ภาคของพระวิษณุ และส่วนยอดบนสุดมีลักษณะทรงกลมมน เรียกว่า รุทรภาค คือภาคของพระอิศวร ทั้ง 3 ภาครวมเป็นภาคเดียวกันเรียกว่า ตรีมูรติ

*ศาสนสถาน "พราหมณ์" ในเมืองนคร

ในบริเวณตัวเมืองเก่านครศรีธรรมราชก็มีศาสนสถานพราหมณ์หลายแห่ง เป็นต้นว่า อาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาไม้มุงกระเบื้องดินเผา ด้านหน้าเป็นรูปจั่ว เป็นศาสนสถานในศาสนพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย บูชาพระนารายณ์ ตั้งอยู่ในตัวเมืองนครฯ เรียกว่า "หอพระนารายณ์" เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและประดิษฐานเทวรูป พระนารายณ์ ภายในประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ ทำด้วยหินทรายสีเทา สวมหมวกทรงกระบอกปลายสอบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ปัจจุบันยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชา

ตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของ "หอพระอิศวร" โบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย บูชาพระอิศวรหรือพระศิวะ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ สัญลักษณ์ขององค์พระอิศวร นอกจากนี้ภายในยังประดิษฐานเทวรูปสำริดอื่นๆ เช่น พระอุมา พระคเณศ ทว่าปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

พิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชโบราณ คือ พิธีตรียัมปวายและตรีปวาย พิธีตรียัมปวายเป็นพิธีรับพระศิวะ(หรือพระอิศวร) ในช่วงปีใหม่ (คือวันขึ้น 7 ค่ำถึงแรมค่ำเดือนอ้าย)ด้วยการโล้ชิงช้า ส่วนพิธีตรีปวายเป็นพิธีรับพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ช่วงปีใหม่ต่อจากพิธีรับพระศิวะ(คือวันแรมค่ำถึงวันแรมห้าค่ำเดือนอ้าย) ปัจจุบันพิธีโล้ชิงช้า(ในพิธีตรียัมปวาย)ถูกยกเลิกไปเมื่อพ.ศ.2468 (ที่ยังพอมีอยู่บ้างเป็นบางปี คือพิธีแห่นางกระดาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีโล้ชิงช้า)

แม้ว่าร่องรอยความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ปรากฏเพียงซากปรักหักพังของศาสน สถาน และโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบและทำการสืบสาวประวัติความเป็นมาอันยาวนาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงหลงเหลือกลิ่นอายความเชื่อและพิธีกรรมที่มีความ สัมพันธ์กับศาสนาพราหมณ์

"เดี๋ยวนี้ยังมีคนนับถือพราหมณ์เข้าไปกราบไหว้ศิวลึงค์ในฐานพระสยม เทวสถานศาสนาพราหมณ์ในตัวเมืองนครฯ" พงศ์ธันว์ แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า...

เป็น วัตถุทรงกลม มีตัวอักษร กล่าวกันว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ โดยอัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามเช่นเดียวกับ "หัวนะโม" เครื่องรางของขลังคู่เมืองนครศรีธรรมราช ลักษณะคือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม เพื่อเอาไปฝังหว่านรอบเมืองนครศรีธรรมราช ป้องกันโรคห่าระบาด ปัจจุบันยังคงเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนในท้องถิ่นและคนต่าง ถิ่นที่มาเยือน

****************

รอยพราหมณ์ที่ "เขาศรีวิชัย"

จาก เนินทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันมากนัก เดินทางมาถึง เนินโบราณสถาน "เขาศรีวิชัย" เรียกตามชื่อวัดเขาศรีวิชัย บ้างก็ว่าเดิมชื่อวัดหัวเขาบน ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดเขาศรีวิชัย หรือเรียกอีกชื่อว่า "เขาพระนารายณ์" ตามการค้นพบเทวรูปพระนารายณ์บนยอดเขาถึง 4 องค์ด้วยกัน ตั้งอยู่ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานีสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของเมืองโบราณขนาดใหญ่ อายุตั้งแต่พุทธศตวรรษ 12-13

พงศ์ธันว์ อธิบายว่าเนินโบราณสถานมีทั้งหมด 8 แห่ง โดยลักษณะเนินโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นอาคารอิฐ ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเป็นดินทรายบดอัดเป็นแกนข้างใน ทางเข้าตั้งอยู่ทางทิศเหนือ พบฐานเสาสลักจากหินสำหรับรองรับเสาไม้ สันนิษฐานว่าตัวอาคารอาจเป็นเครื่องไม้ยกพื้นสูง มีหลังคากระเบื้องดินเผาหรือแฝกปกคลุม ผนังข้างนอกเป็นอิฐไม่ก่อเต็ม นอกจากนี้พบว่า มีการก่ออิฐรอบล้อมศาสนสถานจากการขุดแต่งสันนิษฐานว่าซากอาคารก่ออิฐฐานสูง น่าจะเป็นเทวาลัยประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมโบราณในเขาพระนารายณ์หลงเหลือหลักฐานเพียงเล็กน้อย "เริ่มขุดแต่งมาตั้งแต่ปี 2542สภาพหลังขุดแต่งเหลือหลักฐานค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถทราบรูปทรงรูปแบบอาคารได้ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเครื่องไม้ มีอายุราวพุทธศตวรรษ 12-13 พอจะบอกได้ว่าเป็นกลุ่มศาสนสถานหลายหลัง แต่หลังใดเป็นองค์ประธานยังกำหนดไม่ได้"

ลักษณะของสถาปัตยกรรมในโบราณสถานหมายเลข 2 ,4,5 มีลักษณะคล้ายกับหมายเลข 1 อย่างไรก็ตามลักษณะของหมายเลข 4-5 เป็นอาคารหลังใหญ่ ส่วนอาคารหมายเลข 6 เป็นอาคารก่ออิฐ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมเป็นกากบาท หน้ากระดานลวดบัว แสดงถึงการรับอิทธิพลจากอินเดีย เช่นเดียวกับอาคาร 8 มีรูปแบบคล้ายอาคารในศาสนสถานในอินเดีย ที่อาคารหมายเลข 4 พบเทวรูปพระนารายณ์ ปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร

"การเรียงอิฐพบได้ทั่วไปในอินเดีย ลักษณะการก่อสร้างทับซ้อนแสดงถึงการใช้งานอย่างต่อเนื่อง"

ผลการตกแต่งพบโบราณวัตถุที่มีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาและพราหมณ์ เช่น เทวรูปพระนารายณ์จำนวน 4 องค์ โดยองค์สำคัญจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระนคร ฐานเคารพ ศิวลึงค์ พระพิมพ์เม็ดกระดุม ชิ้นส่วนธรรมจักร นอกจากนี้ยังค้นพบลูกปัดแก้วสีต่างๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านลักลอบเข้ามาขุดหาลูกปัดกันจนผิวดินเป็นหลุมเป็นบ่อ กระทั่งปัจจุบันยังมีโอกาสได้พบเป็นหลุมที่ชาวบ้านมาขุดหาลูกปัดเป็นรูทิ้ง ไว้

"บางช่วงเป็นศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ค้นพบชิ้นส่วนธรรมจักร พระพุทธรูป ดังนั้นบางช่วงพุทธศาสนาน่าจะมีส่วนสำคัญ วัยรุ่น เด็กนักเรียนเข้ามาขุดหาลูกปัด ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้า มีเพียงชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตา"

 

ต้นกำเนิดตามพรลิงค์
คำว่า “ตามพรลิงค์”  ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดในศิลาจารึกหลักที่  24  พบที่วัดเวียง   อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   จารึกด้วยอักษรขอม   ภาษาสันสกฤต  ปรากฏคำว่า  “ ตามพรลิงเคศวระ ”    กับ  “ ตามพรลิงเคศวร ”   มีทั้งสิ้น   2  คำ   และมีความหมายเดียวกันคือเป็นชื่อสถานที่หมายถึงเมือง   เพราะในรูปประโยคแปลได้ความว่า  “พระเจ้าผู้ครองเมืองตามพรลิงค์”  หรือ  “พระผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์” พระ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองตามพรลิงค์ในจารึกหลักที่  24  มีพระนามว่า  พระเจ้าจันทรภาณุ  ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ทรงศิริ   มีราชนิติเทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศก   ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือราชวงศ์ทั้งหมด   ทรงปกครองปัทมวงศ์    ทรงพระราชสมภพเพื่อยังประชาชนที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่าง รุ่งเรือง   เป็นบุญของมนุษย์ที่มีพระราชาองค์นี้   ในจารึกระบุปีศักราชตรงกับ พ.ศ. 1773
ชื่อเมืองตามพรลิงค์นี้ไปพ้องกับชื่อ  ตันหม่าหลิง  ในหนังสือจูฟานฉี   ของนายด่านศุลกากรชาวจีนชื่อ เจาจูกัว    เขียนเมื่อ พ.ศ. 1768  ดังนั้นชื่อตันหม่าหลิง  จึงน่าจะมาจากเมืองตามพรลิงค์ค่อนข้างแน่นอน   แต่ชื่ออื่นๆในภาษาจีนก่อนหน้านี้  ได้แก่  เต็งหลิวเหมย   ตันเหมยหลิว   และจูเหมยหลิว  ยังไม่อาจสรุปได้ชัดว่าเป็นชื่อเดียวกับตามพรลิงค์หรือไม่     เพราะในรายละเอียดการบรรยายสภาพบ้านเมือง   สามารถตีความได้หลากหลายโดยอาจเป็นเมืองอื่นๆบริเวณรอบอ่าวไทยแถบจังหวัด ราชบุรีก็ได้   เพราะมีการกล่าวถึงภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ในพุทธศาสนา  ซึ่งที่จังหวัดราชบุรีมีถ้ำต่างๆที่แกะสลักพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีติดผนัง ถ้ำ   เช่น  ถ้ำในเทือกเขางู   เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาตามที่ปรากฏใน บันทึกของจีน    จึงมีนักวิชาการท่านอื่นๆตีความว่า   เต็งหลิวเหมย  อาจเป็นบ้านเมืองในภาคกลางก็ได้   ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเต็งหลิวเหมยจะเป็นชื่อเดียวกับตันหม่าหลิง

                                ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชหลายเล่ม   โยงใยคำว่าตามพรลิงค์กับชื่อสถานที่ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศ  ติสสเมตเตยยสูตร   ซึ่งเป็นวรรณคดีอินเดียโบราณ   แต่งด้วยภาษาบาลี   เข้าใจว่าน่าจะเขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่  8   กล่าวถึงการเดินทางของนักเผชิญโชคเพื่อแสวงหาโชคลาภ  ความร่ำรวยในดินแดนต่างๆ   ชื่อเมืองที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศน่าจะเป็นเมืองท่าในภูมิภาคต่างๆที่ อยู่บนเส้นทางการค้าและการเดินเรือ  ได้แก่  เมืองท่าในอินเดีย   เมืองอเล็กซานเดรียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   ศรีลังกา   พม่า   ชวา  และคาบสมุทรมลายู    ในจำนวนเมืองท่าเหล่านี้มีอยู่เมืองหนึ่งชื่อ  “กะมะลิงหรือตมะลิง”   บ้างก็ออกเสียงเป็น  “ กมะลีหรือตมะลี” (Tamali)

                                เมืองท่ากะมะลิงหรือตมะลิงนี้   นักปราชญ์ทางโบราณคดีเคยเสนอว่า  ถ้านำคำว่า  “ ตมะลิง ”  ไปบวกกับคำว่า  “ คม ”   จะกลายเป็น “ ตมลิงคม ”  หรือ “ ตมพลิงคม ”   ซึ่งต่อมามีผู้นำชื่อ  “ ตมพลิงคม ”  ไปอ้างต่อว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศ  จึงมีผู้ตีความต่อๆกันมาเป็นลูกโซ่ว่า  ชื่อเมืองตมพลิงคม   อันหมายถึงเมืองตามพรลิงค์นั้นมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  8

                                การตีความดังกล่าวนี้แม้ว่าพอจะมีเค้าอยู่บ้าง  แต่ก็มิได้หมายความว่าเมืองท่ากะมะลิงเป็นเมืองที่มีอำนาจปกครองเมืองอื่นๆ เหมือนกับเมืองตามพรลิงค์ในจารึกพระเจ้าจันทรภาณุ   เมื่อพุทธศตวรรษที่  18   ข้าพเจ้าอยากให้นักศึกษาประวัติศาสตร์มองบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เชิง วิวัฒนาการ  โดยระมัดระวังที่จะไม่ใช้คำว่า  อาณาจักร ( Kingdom ) ในกรอบความคิดของนักวิชาการชาวตะวันตกเป็นเกณฑ์  เช่น  การกล่าวถึงขอบเขตของอาณาจักร  หรือการกล่าวถึงอาณาจักรในยุคต้นจนถึงยุคอวสานของอาณาจักร  เป็นต้น   เพราะสภาพการเมือง  การปกครองของเมืองโบราณในภูมิภาคนี้มีลักษณะเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่ที่มี อิสระในการปกครองตนเอง   เมืองๆหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตมาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาก่อนพุทธศตวรรษที่  14     หากพิจารณาโดยอาศัยหลักฐานความก้าวหน้าของการศึกษาวิชาโบราณคดีในพื้นที่คาบ สมุทรภาคใต้   จะเห็นบ้านเมืองใหญ่น้อยที่ตั้งอยู่แถบอ่าวบ้านดอน   สันทรายนครศรีธรรมราช   คาบสมุทรสทิงพระ   และที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี   โดยเห็นการสถาปนาอำนาจของผู้ปกครองและเห็นลักษณะความแตกต่างของวัฒนธรรมค่อน ข้างหลากหลาย

                                สำหรับเมืองท่ากะมะลิงในคัมภีร์มหานิทเทศ  แม้นักประวัติศาสตร์จะสรุปตรงกันว่าอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครศรี ธรรมราชในปัจจุบัน   แต่ถ้าให้ชี้ลงไปในจุดเล็กๆบนแผนที่ว่า  เมืองกะมะลิงเมืองท่าในพุทธศตวรรษที่  8  ตั้งอยู่ที่ตำบล  อำเภอใดของนครศรีธรรมราช    ข้าพเจ้าคิดว่าหลายท่านคงเกิดอาการลังเลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย   แต่ละท่านอาจจะชี้กันไปคนละทิศเลยก็เป็นได้
                                ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ว่าเมืองท่ากะมะลิงอยู่ที่ไหน  เราลองมาดูความหมายของคำว่า  “ตามพรลิงค์” กันก่อน  เผื่อจะได้แนวคิด(Idea)ดีๆไปตอบโจทย์เรื่องกะมะลิง    ศาสตราจารย์แสง   มนวิทูร  ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก  (ท่านเป็นผู้อ่านจารึกหลักที่ 24   ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์เซเดส์เคยอ่านมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง)อธิบายว่า   ตามพรลิงค์  คือ  ตเมพ  แปลว่า  ทองแดง   ลิงค์  คือพระอิศวรหรือสัญลักษณ์ของพระอิศวร   พอแปลความรวมกันก็มีการตีความหมายไปหลากหลาย  แต่ส่วนใหญ่ก็แปลว่า  “ลิงค์ทองแดง”     พร้อมทั้งอธิบายว่าเหตุที่เรียกว่าตามพรลิงค์   เพราะว่าศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองมาก   หลักฐานโบราณวัตถุ  โบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่ 14-15  กว่าร้อยละ  80-90  ล้วนเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
                                ถ้า ใช้คำว่า  “ตามพรลิงค์”  เป็นเสมือนลายแทง    ผู้วิเคราะห์ลายแทงก็ตามมาถูกทางแล้ว   เพียงแต่ยังลังเลเมื่อเข้าใกล้จุดที่เป็นกรุสมบัติ   บางท่านก็ได้เห็นกรุสมบัติแล้วแต่ยังไม่รู้สึกตัวว่าพบตามพรลิงค์    ด้วยมีเส้นผมบังภูเขาลูกเบ้อเริ่มปิดตาไว้   ปริศนาการแปลความหมายของคำว่าตามพรลิงค์ไปผูกพันอยู่กับคำว่า  ลิงค์ทองแดงมากจนเกินไป   จึงเกิดความสับสนว่าตรงไหนที่มีลิงค์ทำจากทองแดง  หรือบางท่านก็ว่ามีการนำดินสีแดงไปพอกทาศิวลึงค์ให้กลายเป็นสีแดง   บางท่านก็ตีความว่าหมายถึงแผ่นดินที่มีดินเป็นสีแดง

                                หากวิเคราะห์คำว่าตามพรลิงค์ใหม่อีกครั้ง   สิ่งที่ปรากฏในคำว่าตามพรลิงค์   ที่สำคัญคือคำว่า  “ลิงค์”  (ลิงค-Linga เป็นภาษาสันสกฤต)   ในภาษาไทยเรียกว่า  “ลึงค์”    และคนไทยก็นิยมเรียกลิงค์ของฮินดูว่า  “ศิวลึงค์”   ในประเทศ อินเดียไม่นิยมเรียก  ลิงค์  ว่า  ศิวลิงค์   แต่เรียกว่า  ลิงค์  เพียงคำเดียว  ซึ่งความหมายของคำว่าลิงค์  ในทางศาสนาก็ไม่มีใครคิดว่ามันคือ  อวัยวะสืบพันธุ์ผู้ชายทั่วไป     แต่ลิงค์หมายถึงพระศิวะ   เมื่อหมายถึงพระศิวะก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อเจ้าของหรือเติมคำว่า  “ศิวะ”  นำหน้าคำว่า “ลิงค์”อีก   เพราะมีเทพเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ปรากฏเป็นลิงค์   ลิงค์จึงหมายถึงพระศิวะ     นายคงเดช   ประพัฒน์ทอง   นักโบราณคดีอาวุโสผู้ล่วงลับไปเมื่อ  10 กว่าปีที่แล้ว   เรียกพื้นที่ในเขตอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา   อันเป็นบริเวณที่พบหลักฐานโบราณวัตถุ  โบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หนาแน่นที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า   “ไศวภูมิมณฑล”    แปลว่า  มณฑลสถานแห่งพระศิวะ    ข้าพเจ้าขอต่อยอด ให้ว่านี่คือเมืองของพระศิวะ   หรือก็คือเมืองตามพรลิงค์นั่นเอง   ชื่อตามพรลิงค์ หรือตามพรลิงเคศวร ในระยะแรกๆอาจเป็นชื่อลิงค์ที่ได้รับการสถาปนาบนยอดเขาที่มีลักษณะเป็นศูนย์ กลางของจักรวาลก็ได้
เขาคา : ศูนย์กลางจักรวาลของเมืองตามพรลิงค์

                                เมื่อฤดูร้อนปี พ.ศ. 2543  ข้าพเจ้าและนักโบราณคดีรุ่นน้องไปขุดค้นอยู่ที่เขาศรีวิชัย (หรือเขาพระนารายณ์ในชื่อเดิม)   อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี     เขาศรีวิชัยเป็นภูเขาลูกโดด           ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่  กว้างประมาณ 100 เมตร  ยาวประมาณ  650  เมตร   บนยอดเขามีเนินโบราณสถานตั้งอยู่ตลอดแนวสันเขาประมาณ  8 เนิน       ณ  ภูเขาแห่งนี้เคยพบเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ขนาดเท่าคนจริง  (สูงประมาณ  170 เซนติเมตร)   อยู่บนยอดเขาทางด้านทิศเหนือ   ต่อมาได้มีการนำพระนารายณ์องค์นี้ไปไว้ที่กรุงเทพฯเมื่อ  80  กว่าปีมาแล้ว   ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร   หลังจากนั้นก็ได้พบเทวรูปพระนารายณ์อีก  3  องค์ในสภาพไม่สมบูรณ์  หลักฐานที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่าโบราณสถานบนยอดเขาควรจะเป็นเทวสถานเพื่อ บูชาพระวิษณุในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย

                                ในการขุดค้นครั้งนี้สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือ   การค้นพบฐานหินทรงปิระมิดยอดตัด  ที่เกิดจากการนำก้อนหินขนาดใหญ่มาก่อเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ  ตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปในรูปฐานปิระมิดจนถึงยอดเขาก็จะปรับพื้นข้างบนให้เป็น ที่ราบเรียบ   ฐานปิระมิดนี้จึงได้รับชื่อเรียกว่าฐานปิระมิดยอดตัด   ระหว่างการเรียงหินได้ถมดินลูกรัง    ก้อนหินขนาดใหญ่   หินที่ถูกทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ     ถมอัดลงไปบนภูเขาธรรมชาติที่มีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน   เมื่อถึงยอดเขาก็ปรับพื้นที่ให้เป็นแนวระนาบเรียบเพื่อสร้างเทวาลัย ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา   สิ่งก่อสร้างที่กล่าวถึงนี้เป็นการดัดแปลงภูเขาธรรมชาติให้กลายเป็นภูเขา ศักดิ์สิทธิ์   ด้วยฝีมือของแรงงานจำนวนมากที่คงมีระบบการควบคุม   จัดการและดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ   ถึงแม้ว่าความศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งในการ สร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา   แต่ในการก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ที่ต้องเกณฑ์แรงงานคนจำนวนมาก   น่าจะมีสิ่งที่แฝงอยู่และสิ่งนั้นก็คืออำนาจรัฐ   หรืออำนาจทางการเมืองการปกครองที่เข้ามาดำเนินการให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ปกครอง   ซึ่งเข้าใจว่าผู้ปกครองในยุคนี้ (ประมาณพุทธศตวรรษที่  12-14)   น่าจะยกระดับเป็นพระราชาหรือกษัตริย์มิใช่ผู้นำหมู่บ้านธรรมดาๆ

                                จากหลักฐานที่เขาศรีวิชัยเป็นกระจกสะท้อนภาพศาสนสถานบนยอดเขาในเมืองนครศรี ธรรมราชที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ   เขาคา   ในเขตอำเภอสิชล  ซึ่งเป็นภูเขาลูกโดด   บนยอดเขานี้มีเทวสถานเรียงรายกันหลายหลัง  ที่น่าสนใจที่สุด  คือโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของเขาคา   สภาพปัจจุบันค่อนข้างรก   ยังมิได้ขุดแต่งศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม   จึงยังมิได้พัฒนาแต่อย่างใด   อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานอยู่บริเวณยอดเขาคนละเนินกับโบราณสถานก่อ อิฐทางยอดเนินด้านทิศใต้   จึงทำให้เป็นที่ลับตา   คนทั่วไปที่ไปเยี่ยมชมเขาคาจึงเดินทางไปไม่ถึง

                                สิ่งที่สะดุดตาที่สุดของเนินโบราณสถานทางทิศเหนือคือ  มีโขดหินธรรมชาติแท่งใหญ่โผล่พ้นดินขึ้นมาในมุมเอียงประมาณ  70 –80  องศา    สูงประมาณ  2  เมตรเศษ   ก้อนหินนี้มีร่องรอยการกะเทาะที่ขอบส่วนบนให้มีลักษณะคล้ายเส้นเอ็นของส่วน หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย  เรียกว่าเส้นพรหมสูตร  ซึ่งจะสลักเป็นเส้นดิ่งบนส่วนหน้าแล้วลากลงมาทางซ้ายและขวา ลากไปพบกันด้านหลังเรียกว่า  เส้นปารศวสูตร   แม้ว่าแท่งหินธรรมชาติแท่งนี้จะมีเส้นลักษณะของพรหมสูตรและปารศวสูตรไม่ ชัดเจนเหมือนส่วนสำคัญของมานุษลึงค์ (ลึงค์ที่มนุษย์สร้างขึ้น)   แต่องค์ประกอบอื่นๆที่ประกอบกันเป็นศาสนสถานบ่งชี้ว่าแท่งหินนี้มิใช่แท่ง หินธรรมดาๆ  แต่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ

                                องค์ประกอบที่กล่าวถึงนี้  ได้แก่  แนวหินที่ก่อเรียงซ้อนกัน  3  แถวในลักษณะยกเป็นแท่นภายในถมดินแล้วปรับด้านบนให้เรียบ   อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด  14.20 x 16  เมตร   ก่อล้อมแท่งหินที่น่าจะเป็นศิวลึงค์ไว้ตรงกลาง   ถัดจากแนวแท่นหินออกไปด้านนอกมีลักษณะสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการนำก้อนหินมา ก่อเรียงกันเป็นแนวเขตคล้ายกำแพงแก้วเพื่อกำหนดขอบเขตศาสนสถาน   มีผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส   กว้าง-ยาวประมาณด้านละ  34.50  เมตร   แนวหินขอบนอกที่ครั้งแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นกำแพงแก้วนี้ก็พบที่โบราณสถาน บนยอดเขาศรีวิชัย   แต่เมื่อดำเนินการขุดค้น  ขุดแต่งโบราณสถานแล้วจึงพบว่าสิ่งนี้คือ  ฐานหินทรงปิระมิดยอดตัด   ไม่ใช่กำแพงแก้วที่ก่อล้อมเพื่อกำหนดเขตโบราณสถาน    เพราะฉะนั้นแนวฐานหินที่เขาคาก็น่าจะสร้างด้วยเทคนิคเดียวกันกับโบราณสถาน ที่เขาศรีวิชัย   คือมีการนำก้อนหินขนาดใหญ่ก่อเรียงมาจากเชิงเขาในรูปทรงของฐานปิระมิด  เมื่อถึงยอดเขาก็ปรับพื้นที่ให้เรียบโดยการถมอัดปรับพื้นและปรับระดับแล้ว ก่อสร้างเทวสถานบนยอดเขา   ดังนั้นแท่งหินธรรมชาติที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนฐานหินนี้จะต้องเป็น สัญลักษณ์สูงสุดทางศาสนา    ซึ่งจะเป็นอะไรอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจาก  “ศิวลึงค์”

                                บางท่านเรียกศิวลึงค์ที่โบราณสถานแห่งนี้ว่า  “ลิงคบรรพต”         อาจารย์ก่องแก้ว   วีระประจักษ์  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านภาษาโบราณ  กรมศิลปากร ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอธิบายว่าสิ่งใดคือลิงคบรรพตว่า   ให้ดูที่องค์ประกอบแวดล้อมของสถานที่นั้น   ถ้ามีองค์ประกอบแวดล้อมชัดเจนว่าสิ่งนั้นสร้างขึ้นหรือปรับใช้เพื่ออุทิศ ถวายแต่พระศิวะโดยการสถาปนาศิวลึงค์ธรรมชาติบนยอดเขา    สิ่งนั้นก็จะเป็นลิงคบรรพตคือ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์

                                ในแคว้นปาณฑะรังคะซึ่งเป็นของพวกจามทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม   มีภูเขาลูกหนึ่งตรงปลายแหลมบนยอดภูเขาที่เด่นตรงออกมาคล้ายกับแท่งศิวลึงค์  เขาลูกนี้เห็นได้ทั้งจากที่ราบภายในและจากทะเล  โดยเฉพาะจากทะเลนั้น  เป็นสิ่งที่นักเดินเรืออาจใช้สังเกตเป็นสัญลักษณ์ของภูมิประเทศ (Land  mark)  ว่าได้เดินทางมาถึงชายฝั่งทะเลของเมืองใดแล้ว    ดูเหมือนความโดดเด่นของภูเขาที่มีเดือยคล้ายศิวลึงค์อยู่บนยอดเขานี้ได้มี ผู้จดบันทึกไว้ในจดหมายเหตุจีนโบราณ  และเรียกภูเขาลูกนี้ว่าลิงคบรรพต

                                มีเขาสูงอีกลูกหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  ในเขตเมืองจัมปาสัก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   มีชื่อว่าภูเก้า   สูงตระหง่านอยู่เหนือที่ราบลุ่มของเมืองจัมปาสัก   บนยอดเขามีเดือยหรือแท่งหินที่ดูคล้ายลึงค์ธรรมชาติ    ตรงไหล่เขาและเชิงเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งปราสาทขอมที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้า สุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545-1593) แห่งอาณาจักรกัมพูชา   เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่า  ปราสาทวัดภู   เป็นปราสาทขนาดใหญ่และสวยงามไม่แพ้เขาพระวิหาร         รองศาสตราจารย์ศรีศักร   วัลลิโภดมตีความว่าบริเวณที่เป็นเมืองจัมปาสักเดิมมีเมืองขอมรูปสี่เหลี่ยม เกือบเป็นจัตุรัสตั้งอยู่  เป็นร่องรอยของเมืองเศรษฐปุระ   และมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในสมัยเจนละที่หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเมืองสำคัญของเจนละบก  ร่องรอยของเมืองเศรษฐปุระที่มีมาก่อนเมืองพระนคร  (Angkor)   ปราสาทวัดภู  และภูเก้า    ที่มีศิวลึงค์ธรรมชาตินั้นก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความนึกคิดของคนเจนละ และขอมโบราณที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมืองที่สัมพันธ์กับภูเขา ศักดิ์สิทธิ์

                                ดังนั้นแท่งหินที่โบราณสถานด้านทิศเหนือของเขาคาจึงเข้าข่าย  “ลิงคบรรพต”  เป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่มีความเหมาะสมกับคติความเชื่อทางศาสนา  จึงเกิดบูรณาการของการสร้างบ้านแปงเมืองที่ผูกพันกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์   โดยที่ภูเขาลูกนี้มีลึงค์ที่พระศิวะทรงประทานมาให้   เป็นลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  เรียกว่า “สวยัมภูลึงค์”    หากสวยัมภูลึงค์เกิดการแตกหักไปต้องเอาทองหรือทองแดงไปซ่อม   จึงสันนิษฐานว่าสวยัมภูลึงค์หรือลิงคบรรพตนี้อาจเป็นที่มาของคำว่า  “ตามพรลิงค์”   และเป็นศาสนสถานแห่งแรกที่สร้างขึ้นบนเขาคา       ในลักษณะเทวสถานกลางแจ้งที่ไม่มีตัวอาคารคลุม   สร้างกลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ   หลังจากนั้นต่อมาจึงได้มีการสร้างเทวสถานก่ออิฐเพิ่มเติมขึ้นทางยอดเนินด้าน ทิศใต้

                                บนเกาะชวาภาคกลางมีจารึกกล่าวถึงการประดิษฐานศิวลึงค์ที่เขาวูกีร์  เมื่อ พ.ศ.1275  โดยพระเจ้าสัญชัย   ตามคติความเชื่อที่ว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้พระศิวะสามารถเข้ามาสู่องค์ กษัตริย์และให้ความเป็นอมตะแก่พระองค์   ต่อมาที่เกาะชวาภาคตะวันออก    พระเจ้าเกียรตินครได้ประดิษฐานศิวลึงค์ไว้ในห้องกลางของจันทิสิงหัดส่าหรี  เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่  19

                                ในเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  2  ได้ประดิษฐานลัทธิเทวราช  หมายถึงลัทธิที่ถือว่าพระราชาได้รับอำนาจจากพระศิวะผ่านพราหมณ์  และพราหมณ์จะประดิษฐานอำนาจของพระราชาที่ศิวลึงค์ซึ่งสร้างขึ้นบนภูเขาโดย สมมติว่าศิวลึงค์นั้นประดิษฐานบนยอดเขาพระสุเมรุ  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก   โดยประกอบพิธีประดิษฐานศิวลึงค์ขึ้นบนเขาพนมกุเลน (มเหนทรบรรพต)  ในพุทธศตวรรษที่  14  ด้วยคติความเชื่อนี้ศิวลึงค์จึงแพร่หลายมากในกัมพูชา

                                ในจัมปา(เวียดนาม)พบจารึกจำนวน  130  หลัก มีถึง  92  หลัก  ที่กล่าวถึงพระศิวะ  จารึกมิเซิน (พ.ศ. 1200)  กล่าวว่าพระเจ้าภัทรวรมันทรงประดิษฐานศิวลึงค์นามว่า  ภัทเรศวร  ที่เทวสถานมิเซิน  ซึ่งเป็นเทวสถานแห่งแรกของจัมปา    และเป็นประเพณีสืบต่อมาว่ากษัตริย์องค์ต่อมาต้องประดิษฐานศิวลึงค์   ซึ่งมีศิวลึงค์ที่ประดิษฐานโดยกษัตริย์จัมปาทั้งหมด  12  องค์

                                คติความเชื่อเรื่องการประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขาแพร่กระจายไปทั่วอุษาคเน ย์   เริ่มตั้งแต่รัฐเก่าแก่ที่สุดเช่นรัฐฟูนัน  เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่  8-11  ก็เป็นรัฐที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย   พระราชาแห่งฟูนันมีสมญาว่า  กษัตริย์แห่งภูเขา ( King  of  the  mountain)   ดังนั้นศิวลึงค์และภูเขาศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างบ้านแป งเมืองและการสถาปนาอำนาจของกษัตริย์ที่อิงอยู่กับหลักความเชื่อทางศาสนา   ที่เปรียบพระราชาเป็นดั่งพระจักรพรรดิราช   พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือพระราชาอื่นๆทั้งปวงในจักรวาล   จึงได้มีพิธีกรรมสถาปนาศิวลึงค์ขึ้นบนยอดเขาที่สมมติให้เป็นเขาพระสุเมรุอัน เป็นแกนกลางของจักรวาล   บ้านเมืองของพระจักรพรรดิราชพระองค์นั้นจึงเป็นดั่งศูนย์กลางของโลก   มีอำนาจสูงสุดในจักรวาล    ความเจริญรุ่งเรืองของรัฐจึงผูกพันกับการทำพิธีบูชาศิวลึงค์

                                บนยอดเขาคามีเทวสถานทั้งสิ้น  5  หลัง  เทวสถานด้านทิศเหนือที่มีสวยัมภูลึงค์เป็นเทวสถานที่ไม่มีอาคารคลุม   เข้าใจว่าเป็นเทวาลัยรุ่นแรกบนเขาคาที่ก่อสร้างโดยการดัดแปลงภูเขา ธรรมชาติให้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์  โดยนำก้อนหินมาก่อเป็นฐานโอบล้อมภูเขาในส่วนที่เป็นฐานของเทวาลัย     เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ธรรมชาติหรือ สวยัมภูลึงค์   เข้าใจว่าช่วงนี้เป็นยุคแรกของเมืองตามพรลิงค์น่าจะเริ่มต้นประมาณพุทธ ศตวรรษที่  12  เป็นอย่างช้า  กษัตริย์องค์ต่อๆมาของเมืองตามพรลิงค์คงจะสร้างเทวาลัย(วิมาน)ประจำ พระองค์     โดยการประดิษฐานศิวลึงค์ที่เรียกว่า  มานุษลึงค์  คือลึงค์ที่มนุษย์สร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่บ่งบอกไว้ในอาคม   คือมานุษยลึงค์ที่สมบูรณ์แบบจะต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ  3  ส่วน  คือส่วนล่างสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า   พรหมภาค   ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า   วิษณุภาค  และส่วนยอดเป็นรูปทรงกระบอกยอดมนเรียกว่ารุทรภาค    ศิวลึงค์นี้จะวางอยู่บนฐานที่ทำเป็นแท่นมีร่องน้ำหรือพวยยื่นออกมาทำหน้าที่ รองรับน้ำสรงศิวลึงค์  แท่นฐานศิวลึงค์นี้เป็นสัญลักษณ์แทนรูปโยนิ (อวัยวะเพศหญิง)  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพีตามคติการบูชาอิตถีพละในลัทธิศักติ    ซึ่งบนยอดเขาคาได้พบฐานโยนิที่สวยงามจำนวน  2  แท่นฐาน ที่โบราณสถานหมายเลข  2  และ 4        อาคารโบราณสถานหมายเลข  2  เป็นอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่มีฐานสูง    เป็นเทวาลัยประธานที่สร้างขึ้นเพื่อการประดิษฐานศิวลึงค์   ในการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ได้พบวัตถุมงคลที่ใช้ประกอบในพิธีวางศิลาฤกษ์ (คงฝังไว้ใต้ฐานอาคาร)  เช่นเดียวกับเทวสถานในอินเดีย    พิธีวางศิลาฤกษ์หมายถึงการประกอบพิธีกรรมในการวางรากฐานของจักรวาลหรือหลัก แห่งจักรวาล  วัตถุมงคลที่พบได้แก่   แผ่นทองคำรูปช้างในลักษณะช้างค้ำที่เชิงเขาพระสุเมรุ  อันหมายถึงศาสนสถานนั้นคือศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง    ดังนั้นผู้ที่สร้างเทวสถานบนยอดเขาคาควรจะเป็นพระมหากษัตริย์   ซึ่งเมืองๆนั้นน่าจะเป็นเมืองตามพรลิงค์มากกว่าเมืองใด     ตัวเมืองคงประกอบด้วยหมู่บ้านใหญ่น้อยที่รายล้อมรอบอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบ รอบเขาคาและพื้นที่รอบนอก  ซึ่งปัจจุบันได้พบแหล่งโบราณคดีจำนวนมากในพื้นที่ราบตั้งแต่คลองท่าเรือรี   คลองท่าควาย     คลองท่าเชี่ยว   คลองท่าทน   คลองท่าลาด   คลองหิน   คลองกลาย   คลองท่าสูง   คลองท่าพุด   ลงมาถึงคลองปากพยิง  จนเข้าเขตคลองท่าดีและคลองท่าเรือ
ตามพรลิงค์บนหาดทรายแก้ว
                                เมื่อ พ.ศ.1773  ยังปรากฏชื่อเมืองตามพรลิงค์ในจารึกหลักที่  24  ของพระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราช   หากนับย้อนกลับขึ้นไปถึงยุคตามพรลิงค์ที่เริ่มต้น  ณ  เขาคาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่  12   ก็จะกินเวลาประมาณ  600  ปี    ระยะเวลายาวนานเช่นนี้น่าจะเกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงมากมายในเมืองตามพร ลิงค์  เพียงแต่เราไม่มีหลักฐานว่าสิ่งนั้นคืออะไร   ถึงกระนั้นอย่างน้อยที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่  16  ก็ปรากฏหลักฐานจากภายนอกที่น่าจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเมืองตามพร ลิงค์   นั่นคือสงครามจากโจฬะ

                                ในจารึกเมืองตันชอร์ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่  1  แห่งอินเดียใต้   กล่าวถึงการยกกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์เข้าปล้นสดมภ์เพื่อตัดทอนอำนาจของศรี วิชัยในหมู่เกาะทะเลใต้   เมื่อปี พ.ศ. 1568  ทั้งนี้เพราะศรีวิชัยดำเนินนโยบายผูกขาดการค้าทำให้โจฬะไม่พอใจ   ความตอนหนึ่งของจารึกเมืองตันชอร์  กล่าวว่า  พระเจ้าราเชนทร์ส่งกองทัพเรือขนาดใหญ่ยึดประตูชัยที่ชื่อว่า “วิทยาธรโตรณะ”  ซึ่งอยู่ตรงประตูชัยของนครหลวงที่ชื่อ  “ศรีวิชัย”   นอกจากนี้พระเจ้าราเชนทร์ยังยกทัพเข้ายึดและปล้นสดมภ์เมืองต่างๆจำนวน  12  เมือง  ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา     1ใน 12  เมืองนี้มีชื่อเมือง “มาทมาลิงคัม”   ปรากฏอยู่ด้วย   นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าคือเมืองตามพรลิงค์  (อย่างน้อยที่สุดก็ปรากฏคำว่า “ลิงคม” ในขณะที่เมืองอื่นๆไม่มีเมืองใดลงท้ายด้วยคำนี้)    หมายความว่าชื่อตามพรลิงค์ถ้าหากมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  12  ก็ยังดำรงอยู่สืบต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16  จนถึงพุทธศตวรรษที่  18      การโจมตีของโจฬะน่าจะส่งผลกระทบต่อเมืองตามพรลิงค์อย่างแน่นอน  เพียงแต่เราไม่มีหลักฐานว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน   เพียงใด  ถึงขั้นต้องย้ายเมือง(ศูนย์กลาง)หรือไม่

                                อย่างไรก็ตามเมื่อถึงสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์   เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่  18  มีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่าเมืองตามพรลิงค์  คือเมืองที่ตั้งอยู่บนสันทรายที่เรียกว่า  หาดทรายแก้ว   และศาสนาในเมืองตามพรลิงค์ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นพุทธศาสนาที่พระราชามีราชนิติ เทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศกราช(แห่งอินเดีย)   พระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราชก็มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับทางลังกา   สอดคล้องกับหลักฐานพุทธศาสนาบนหาดทรายแก้วในช่วงพุทธศตวรรษที่  18  คือองค์พระบรมธาตุก็เป็นสถูปทรงกลมแบบลังกา   ประวัติพุทธศาสนา   รวมทั้งตำนานการอัญเชิญพระทันตธาตุก็ล้วนมาจากลังกา    เมืองตามพรลิงค์ในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ      หรือเมืองตามพรลิงค์ในสมัยราชวงศ์ปทุมวงศ์(ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช)ก็เป็น เมืองตามพรลิงค์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์    พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเมืองตามพรลิงค์   จากชื่อดั้งเดิมที่หมายถึงเมืองแห่งพระศิวะ  กลายเป็นนครศรีธรรมราชอันหมายถึงนครแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ
                                ชื่อที่เปลี่ยนไปนี้ปรากฏหลักฐานจากการที่เมืองอื่นๆเรียกชื่อเมืองนี้ ตามพระนามของพระราชาผู้ทรงพระอิสริยยศเป็น  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช   ตัวอย่างจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์   เอกสารตำนานในแคว้นล้านนา  เรียกเมืองตามพรลิงค์ว่า  “สิริธรรมนคร”  อันเป็นชื่อที่มีความหมายเดียวกับ “นครศรีธรรมราช”   และเรียกพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่า  “พระเจ้าสิริธรรมนคร”      ในศิลาจารึกหลักที่  1  ของพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “ศรีธรรมราช”   และในเอกสารสมัยอยุธยาก็เรียกเมืองแห่งนี้ว่า  นครศรีธรรมราช   ชื่อเมืองตามพรลิงค์จึงค่อยๆสาบสูญไป    ถึงกระนั้นเมืองตามพรลิงค์ก็มิได้ถึงกาลอวสานเพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปเป็น เมืองแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ   จุดเปลี่ยนของศาสนาน่าจะชี้นำถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในช่วง ปลายพุทธศตวรรษที่ 17  ถึงต้นพุทธศตวรรษที่   18  ที่ปรากฏราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชขึ้นในศิลาจารึกหลักที่  35  ที่ดงแม่นางเมือง  อำเภอบรรพตพิสัย  จังหวัดนครสวรรค์   เมื่อ พ.ศ. 1710    สืบต่อมาถึงการปรากฏของพระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราช  เมื่อ  พ.ศ. 1773
                                กล่าว โดยสรุปเมืองตามพรลิงค์น่าจะมีจุดเริ่มต้นที่การสถาปนาอำนาจรัฐ โดยพระราชาผู้นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย   โดยการประดิษฐานหรือสถาปนาศิวลึงค์บนยอดเขาในลักษณะศูนย์กลางแห่งจักรวาล  ซึ่งภูเขาแห่งนั้นปัจจุบันเรียกว่า  “เขาคา”  มีโบราณวัตถุ  โบราณสถานเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายจำนวนมาก และที่สำคัญคือการปรากฏของสวยัมภูลึงค์หรือลิงคบรรพต  ที่เกี่ยวข้องกับพระราชาตามแบบแผนทางคติความเชื่อของฮินดูที่เชื่อว่าพระ ราชารับถ่ายทอดอำนาจมาจากพระศิวะมหาเทพ   อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการสร้าง บ้านแปงเมืองที่ปรากฏในบ้านเมืองต่างๆทั่วดินแดนอุษาคเนย์     จุดเริ่มต้นของเมืองตามพรลิงค์น่าจะเริ่มขึ้นแล้วไม่หลังกว่าพุทธศตวรรษที่  12   และชื่อตามพรลิงค์ยังคงอยู่ถึงพุทธศตวรรษที่  18   ซึ่งในช่วงนี้น่าจะมีจุดหักเหทางการเมือง   รวมไปถึงการเปลี่ยนราชวงศ์มาเป็นราชวงศ์ปทุมวงศ์หรือที่รู้จักกันในนามของ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช    ที่พระราชาทรงเป็น “ศรีธรรมราช”          เมืองตามพรลิงค์จึงกลายเป็นเมืองนครศรี ธรรมราช    มีพุทธศาสนาเป็นหลักชัยของบ้านเมืองสืบต่อมาจนทุกวันนี้

                                ส่วนคำถามเรื่องกะมะลิงที่ตั้งโจทย์ไว้ข้างต้น   ข้าพเจ้าอยากตั้งข้อสังเกตว่า   เมืองกะมะลิงอาจจะใช่หรือไม่ใช่เมืองตามพรลิงค์ก็ได้   เพราะหลักฐานยังไม่ชัดจึงไม่สามารถระบุแน่นอนลงไปได้   หากแต่ข้อมูลเรื่องเมืองท่ากะมะลิงในพุทธศตวรรษที่  8  เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงกระบวนการสร้างบ้านแปงเมืองของเมืองท่าต่างๆใน คาบสมุทรมลายูที่มีแรงกระตุ้นจากกิจการพาณิชย์นาวีโพ้นทะเล      ซึ่งต่อมาเมื่อมีการนำคติความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเป็นพื้นฐานให้กับอำนาจ รัฐ    เราจึงเห็นบ้านเมืองที่มีพระราชาตามแบบแผนอย่างอินเดีย      เมืองกะมะลิงจึงอาจเป็นเมืองท่าแถบคลองท่าเรือหรือเป็นเมืองท่าแถบคลองท่าทน ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง   แต่ภาพของเมืองตามพรลิงค์กลับปรากฏชัดในแถบอำเภอสิชลและอำเภอท่าศาลา     ส่วนเมืองพระเวียงที่ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้วใกล้กับเมืองโบราณนครศรี ธรรมราช   ซึ่งนักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจว่าเป็นเมืองเดิมก่อนที่จะมาตั้งเมือง ใหม่ที่เมืองอันมีพระบรมธาตุนั้น     ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าบนสันทรายอันเป็นที่ตั้งเมืองพระเวียงและเมืองโบราณ นครศรีธรรมราช   น่าจะมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  5  เป็นต้นมา    เมืองพระเวียงมีลักษณะเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  12   แต่หลักฐานด้านศาสนวัตถุที่มีอายุเก่าลงไปถึงช่วงพุทธศตวรรษที่  10-14   ยังด้อยกว่าบ้านเมืองแถบสิชล-ท่าศาลามาก     แม้เมืองพระเวียงอาจจะเคยเป็นเมืองตามพรลิงค์ในยุคสมัยหนึ่ง   แต่คงไม่ก่อนเมืองตามพรลิงค์ที่สิชล-ท่าศาลาเป็นแน่  เพราะหลักฐานแถบนี้หนาแน่นและหนักแน่นกว่ามาก    ชนิดที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

                                ก่อนจะจบบทความนี้ก็อยากให้ท่านตั้งข้อสังเกตว่า    เมืองตามพรลิงค์ไม่น่าใช่กรุงศรีวิชัยที่ปรากฏในจารึกหลักที่  23  ที่วัดเสมาเมือง เมื่อพุทธศตวรรษที่  14       เมืองตามพรลิงค์คงไม่เปลี่ยนไปใช้ชื่อกรุงศรีวิชัย   แล้วอยู่ๆไปก็กลับมาใช้ชื่อตามพรลิงค์อีกครั้งหนึ่ง    แต่เมืองตามพรลิงค์ดำรงไว้ซึ่งนามนี้ตลอดมาจนในที่สุดเปลี่ยนชื่อเป็นนครศรี ธรรมราช   ตามพระนามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช    และเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราชก็คือเมือง  12  นักษัตร ที่ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช   ดังนั้นจึงไม่มีกรุงศรีวิชัย  12  นักษัตร  ซึ่งจะเขียนถึงในตอนต่อไป
                                                                                      …………………………
                                                                                                บรรณานุกรม
                นงคราญ   ศรีชาย ,  เขาคา : วิมานแห่งพระศิวะมหาเทพ, ประวัติศาสตร์   โบราณคดี  นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ: บริษัท เอ.พี. กราฟิค  ดีไซน์ และการพิมพ์ จำกัด, 2543
                นงคราญ   ศรีชายและวรวิทย์    หัศภาค , โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ,  นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์เม็ดทราย ,2543
                ประทุม    ชุ่มเพ็งพันธุ์ , อาณาจักรตามพรลิงค์ , รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  ครั้งที่1, วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์ ,2521
                ผาสุข       อินทราวุธ ,  ศิวลึงค์ : ในภาคใต้  , สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  เล่ม 9, สถาบันทักษิณคดีศึกษา ,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์ ,2529
                ศิลปากร,กรม ,  จารึกในประเทศไทย  เล่ม 4 ,  หอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร  พิมพ์เผยแพร่ ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์,2529
                ศรีศักร   วัลลิโภดม , ภูเขาศักดิ์สิทธิ์กับความเป็นสากล, เมืองโบราณ , ปีที่  25  ฉบับที่  3  กรกฎาคม-กันยายน ,2542

 

การตั้งศาสนาพราหมณ์ที่ตามพรลิงค์   

อาณาจักร ตามพรลิงค์ แห่งนี้นับเป็นอาณาจักรเก่าแก่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีเมืองตามพรลิงค์(เมืองนครศรีธรรมราช)เป็นศูนย์กลางอาณาจักร  ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ นั้น ในระยะแรกเมืองตามพรลิงค์แห่งนี้ได้ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของอาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรศรีวิชัย ภายหลังเมืองแห่งนี้ได้มีความสำคัญขึ้นตามลำดับจนในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เมืองตามพรลิงค์จึงได้ขยายอำนาจขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าและการปกครองเมือง ต่างๆในดินแดนทางภาคใต้ ในที่สุดได้สร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ขึ้นในพุทธศตวรรษที่๑๔-๑๕
                  
อาณาจักร แห่งนี้สามารถขยายอาณาเขตปกครองตั้งแต่เมืองปัตตานีและหัวเมืองทางภาคใต้ เกือบทั้งหมด   ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อาณาจักรตามพรลิงค์หรือเมืองนครศรีธรรมราชได้เสื่อมอำนาจลงและตกอยู่ใต้ อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด
                    
เมืองตามพร ลิงค์(เมืองนครศรีธรรมราช)แห่งนี้ ภายหลังได้พบว่ามีโบราณสถานของศาสนาพราหมณ์อยู่บนเขาคา  ตำบลสำเภา อำเภอสิชล   จังหวัดนครศรีธรรมราช    ทำให้เกิดหลักฐานใหม่ว่า ศาสนาพราหมณ์นั้นได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่และตั้งแหล่งพราหมณ์ขึ้นในดินแดน แถบนี้ก่อนที่จะเข้าไปมีบทบาทในดินแดนสุวรณภูมิต่อไป
                    
เทวสถาน บนยอดเขาคาที่เกิดขึ้นได้ต้องมีชุมชนโบราณอยู่ด้วย และพื้นที่สำคัญนี้จากการสำรวจพบว่า มีแนวสันทรายนครศรีธรรมราช(คือสันทรายสิชล-ท่าศาลา)ทอดยาวจากทิศเหนือลงมา ทางทิศใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีอายุอยู่ในสมัยโฮโลซีน คืออายุราว ๕๐๐๐-๖๐๐๐ ปีลงมา   ส่วนชุมชนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นน่าจะอยู่แถวบริเวณ แนวเทือกเขานครศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก อันเป็นแหล่งต้นน้ำของคลองหลายสายที่ไหลเกือบเป็นเส้นตรงจากทิศตะวันตกออกไป สู่ทะเลด้านทิศตะวันออก  ตอนกลางนั้นมีบริเวณที่ราบเชิงเขาและที่ราบนริมลำน้ำที่มีสภาพพื้นที่สูง กว่าบริเวณสันทรายใกล้ชายฝั่ง     

การทับถมของตะกอนดินในแม่น้ำและ ความชุ่มชื้นของลมมรสมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากทะเลนั้น  ได้ทำให้บริเวณที่ราบกว้างใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่า บริเวณอื่น  เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรมเลี้ยงชุมชนที่เกิดขึ้นได้  อีกทั้งยังได้อาศัยลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อไปยังพื้นที่ตอนในกับ พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้วย

                
บริเวณนี้เชื่อว่าน่าจะ เป็นแหล่งชุมชนของมนุษย์ในยุคนั้น  และได้มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดีย มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐   ชุมชนโบราณนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขาคาและบริเวณวัดเบิก เขาพรง   สำรวจพบเครื่องมือขวานหินขัด เครื่องมือของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี พบแหล่งโบราณคดีจำนวนมากกระจายอยู่ตามลุ่มแม่น้ำในเขตอำเภอสิชล และหนาแน่นอยู่ในท้องที่ตำบลเสาเภา  ตำบลฉลอง ตำบลเทพราช   ชุมชนมนุษย์ที่เขาคา-สิชลเหล่านี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและสร้างวัฒนธรรม ของตนเองสืบทอดต่อมาจนถึงยุคเริ่มประวัติศาสตร์   มาจนได้มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดีย
               
ด้วย เหตุนี้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๘ บริเวณนี้จึงมีวัฒนธรรมและคติความเชื่อทางศาสนาของอินเดียเข้ามาสู่ชุมชน แห่งนี้โดยพ่อค้าและพราหมณ์เป็นผู้นำข้ามาเผยแพร่  นับเป็นแหล่งอารยธรรมของอินเดียที่เกิดเป็นแห่งแรก(ที่สำรวจพบ)ในบริเวณดัง กล่าว จากการสำรวจได้พบว่าแหล่งโบราณวัตถุและโบราณสถานเหล่านั้นเป็นเทวสถาน ที่แสดงถึงคติความเชื่อในลัทธิไศวนิกาย ซึ่งมีพระศิวะเป็นเทพเจ้า
              
ใน พุทธศตวรรษที่๑๒-๑๔นั้น ศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายมีความเจริญมาก  พบหลักฐานว่าชุมชนโบราณที่อยู่ในบริเวณนี้ได้ขยายตัวลงไปทางตอนใต้ตลอดแนวลำ น้ำเช่น ชุมชนวัดนาขอมที่ร้างอยู่   บริเวณนี้ได้พบว่ามีการตั้งเทวาลัยเป็นจำนวนมากทั้งที่อยู่บนเนินเขาและที่ ราบ   ขณะนั้นพุทธสถานของชุมชนชาวพุทธได้เกิดขึ้นอยู่บริเวณที่ราบเท่านั้น
               
ดัง นั้นเขาคาจึงเป็นเขาที่ถูกเลือกสำหรับสร้างเทวสถานเพื่อเป็นเทวาลัยแห่งพระ ศิวะเทพ  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย    คือใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานศิวะลึงค์ตามคัมภีร์ศิวปุราณะ  ก็เห็นจะต้องศึกษาทำเลของเทวสถานที่เป็นสำคัญต้นแบบศาสนาพราหมณ์ในไทยแห่ง นี้เสียก่อน
               
เขาคา นี้เป็นเขาลูกโดด ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยอดเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๒ เมตร  เชิงเขาด้านใต้มีลักษณะเรียวกว่าด้านเหนือเล็กน้อย   บนยอดเขามีเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ตั้งอยู่  ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕๐ เมตรมีแม่น้ำไหลผ่านเขาคาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ   คือ คลองท่าทน มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหลวง   ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญญลักษณ์ที่ใช้แทนเขาพระสุเมร์ตามอย่างภูเขาหิมาลัย ในอินเดีย เขาคาจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์และ เป็นที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ ซึ่งพบร่องรอยอาคารสถาปัตยกรรมตามแนวสันเขารวมทั้งหมด ๔ แห่ง สระน้ำ ๓ แห่ง   และมีโบราณสถานที่ดัดแปลงจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติอยู่สุดเนินเขาทางด้าน เหนืออีก ๑ แห่ง   เชื่อว่าเป็นชุมชนของชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ราบรอบเขาคา     ด้วยพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เช่น เนินโบราณสถาน สระน้ำโบราณ  พบศิวลึงค์ และชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรม เช่น ฐานเสา ธรณีประตู  กรอบประตู      เป็นต้น เขาคานี้มีสองยอด  ยอดหนึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขาบนตะพักเขาที่สูง ๗๐ เมตร  ยอดทางเหนือสูงประมาณ ๑๙๔ เมตร   ทั้งสองยอดนี้มีโบราณสถานอยู่เรียงรายตามสันเขา   โบราณสถานบนเขามี ๕ หลัง   พบว่ามีบ่อรูปสี่เหลี่ยมทำบ่อน้ำมนต์ และท่อโสมสูตรในอาคารหลังใหญ่ กว้าง ๑๗ เมตร    
                      
ลักษณะของศิวลึงค์ตาม คัมภีร์ปุราณะที่พบอยู่บนเขาคานั้น  ส่วนล่างสุดเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหมายถึง พรหมภาค  ตรงกลางศิวลึงค์นั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยมหมายถึง วิษณุภาค  และสุดบนสุดของศิวลึงค์เป็นรูปกลมมน หมายถึง รุทรภาค       นอกจากศิวลึงค์แล้วยังพบฐานโยนีเป็นจำนวนมาก มีฐานหนา ๙-๑๒ เซนติเมตร  มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
                      
เทวสถานนี้แม้จะ สร้างเป็นเทพเจ้าของลัทธิไศวนิกายแล้ว ยังพบว่ามีการประดิษฐานไวษณพนิกายควบคู่ไปด้วยกัน    ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ได้พบว่ามีร่องรอยหลักฐานของชุมชนชาวพุทธฝ่ายมหายานเข้ามาตั้งหลักฐานอยู่ ใกล้ๆแหล่งที่เคยเป็นเทวสถานของศาสนาพราหณ์แห่งนี้  กลุ่มชาวพุทธได้ทำการดัดแปลงเทวสถานของพราหมณ์เป็นพุทธสถานแทน
                    
บริเวณ แหล่งศาสนาพราหมณ์แห่งนี้ เมื่ออาณาจักรตามพรลิงค์(เมืองนครศรีธรรมราช)เจริญรุ่งเรืองขึ้น  ผู้คนที่ชุมชนแห่งนี้จึงพากันอพยพไปอยู่ที่ศูนย์กลางแห่งใหม่            
                     
วิทยา การต่างๆของพราหมณ์อินเดียที่ถูกถ่ายทอดสู่ชุมชนนั้น ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะ วิชาโหราศาสตร์   และคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์
                      
อาณาจักรตามพร ลิงค์จึงกลายเป็นแหล่งอารยธรรมของอินเดียโบราณที่บรรดาพ่อค้าและพราหมณ์ได้ เดินทางเข้ามาครั้งแรก   ก่อนที่จะมีคณะสมณฑูตจากพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดียได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเข้ามาประกาศเผยแพร่ในดินแดน สุวรรณภูมิและได้มีการเจดีย์ขนาดใหญ่ขึ้นที่เมืองตามพรลิงค์(เมืองนครศรี ธรรมราช)และพระปฐมเจดีย์(เมืองนครปฐม)เป็นหลักฐาน  

Pin It