เมืองโบราณเวียงสระ
สถานที่ตั้งเมืองโบราณเวียงสระ หมู่ ๗ ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ประวัติความเป็นมา
ตัวเมืองโบราณตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำตาปี เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในเมืองเมืองโบราณเวียงสระได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธเจ้าศากยมุนีหินทรายสลักนูนสูง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เทวรูปพระวิษณุ (พระนารายณ์) กำหนดราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เทวรูปพระศิวะปางดุร้าย (ไภรวะ) อิทธิพลศิลปอินเดียแบบโจฬะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และโบราณวัตถุอื่น ๆ พบซากโบราณสถานภายในเมืองจำนวน ๔ แห่ง รวมทั้งสระน้ำ ขนาดใหญ่ ๒ สระ ที่มาของชื่อเมืองเวียงสระอาจมาจากที่มีสระน้ำใหญ่อยู่ในเมืองในสมัยนั้น
เมืองโบราณเวียงสระนี้ เริ่มการค้นคว้าศึกษาขึ้นในปี ๒๔๔๒ โดย ลูเนต์ เดอ ลาจงกิแยร์ (Lunet de Lajonquiere)ได้ทำการสำรวจสภาพแวดล้อมและจัดทำแผนที่เมืองโบราณเวียงสระ ต่อมาในปี ๒๔๗๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้และได้เสด็จมายังเมืองโบราณเวียงสระ ในครั้งนั้นได้มีการขนย้ายเทวรูปศิลา ที่พบภายในบริเวณเมืองโบราณเวียงสระไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี ๒๔๗๗ ดร.ควอริทซ์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยและเมืองโบราณเวียงสระ ในครั้งนั้นได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองหลายจุด ปี ๒๔๗๙ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณเวียงสระเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ หลังจากนี้ก็ยังคงมีผู้สนใจเรื่องเมืองโบราณเวียงสระเข้าไปทำการศึกษาอยู่เนืองๆแต่ไม่พบหลักฐานสำคัญๆเพิ่มเติมแต่อย่างใด และภายหลังจากปี ๒๕๑๐ เป็นต้นมาก็ไม่พบว่ามีการศึกษาเมืองโบราณเวียงสระอีกเนื่องจากพื้นที่ของเมืองแห่งนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางลัทธิการเมือง จนกระทั่งปี ๒๕๒๗ โครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคใต้) และหน่วยศิลปากรที่ ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเข้ามาดำเนินการสำรวจและขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้อีกครั้งและในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราชได้ดำเนินการขุดลอกคูเมืองเวียงสระ และได้ทำการขุดตรวจบริเวณคูเมืองโบราณเวียงสระด้วย
เมืองโบราณแห่งนี้มีลายแทงประจำเมืองว่า "วัดแต่คูตรอก มาออกคูพาย วัดแต่พระนารายณ์ มาออกพัทธสีมา วัดเข้าสามศอก วัดออกสามวา ถอยหลังออกมา กาขี้ใส่หัว ครั้นขยับเข้าไป เหล็กในแทงตา ทรัพย์สินนานา กินไม่สิ้นเลย"
ผังเมืองโบราณเวียงสระ
แผนผังเมืองโบราณเวียงสระเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่ประมาณ ๓๘๖ ไร่ ๓ งาน ๓๘ ตารางวา ใช้ลำน้ำธรรมชาติคือแม่น้ำตาปีสายเก่า เป็นคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีคลองตาลไหลไปบรรจบกับแม่น้ำตาปีตรงด้านทิศเหนือ ทำให้เมืองโบราณแห่งนี้มีลำน้ำธรรมชาติเป็นคูเมืองทั้ง ๒ ด้าน ส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นคูขุดชักน้ำจากแม่น้ำตาปีและคลองตาลให้ไหลมาบรรจบกัน ขนาดเมืองจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ประตูเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ประตูชัย คูเมืองที่ขุดชักน้ำจากลำน้ำธรรมชาติกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ไม่ปรากฏสันกำแพงเมืองชัดเจน คันดินด้านในของคูเมือง (คูขุด) น่าจะเป็นขอบสันคูเมืองมากกว่ากำแพงเมือง เพราะเนินดินเตี้ยมาก และไม่ชัดเจน ลักษณะเฉพาะของเมืองเวียงสระคล้ายกับเป็นเมืองที่มีการขยายผังเมืองออกมา หรือลักษณะคล้ายเมืองแฝด กล่าวคือมีการขุดเมืองชั้นในอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง แบ่งพื้นที่เมืองออกเป็น ๒ ส่วน คือเมืองนอกกับเมืองใน โดยมีขนาดพื้นที่เกือบเท่ากัน
เมืองนอก พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปรับเป็นสวนยางพารา ขนาดของเมืองประมาณ ๔๙๒ x ๕๕๐ เมตร ติดต่อกับเมืองในทางด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดเวียงสระ เดิมมีอุโบสถเก่าแต่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งจนเกือบไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่เลย ข้างอุโบสถเป็นวิหาร ปรากฏเนินโบราณสถานอยู่ ๒ เนิน แต่ถูกทำลายไปมากแล้ว ขนาดคูเมืองชั้นนอกมีความลึก เฉลี่ย ๑-๓ เมตร กว้างประมาณ ๓.๕ เมตร บางตอนถูกปรับระดับพื้นที่เท่ากับระดับดินปัจจุบัน จึงทำให้ขาดหายไปเป็นช่วงๆ
เมืองใน สภาพทั่วไปป่ารก มีเนินสถานอยู่ ๔ เนิน ได้แก่ ฐานพระนารายณ์ และฐานเจดีย์ มีสระน้ำโบราณทั่วไปอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ขนาดของเมืองประมาณ ๒๐๐x๖๒๐ เมตร ความกว้างของคูเมืองมีขนาดเฉลี่ย ๓-๕ เมตร ลึกประมาณ ๒-๓ เมตร
จากการขุดตรวจคูเมืองในปี ๒๕๔๙ พบว่า คูเมืองชั้นในนั้นมีความกว้างของคูอย่างน้อย ๔.๕ เมตรและมีความลึกอย่างน้อย ๑ เมตร จากการขุดตรวจไม่พบร่องรอยของคันดิน ส่วนคูเมืองชั้นนอกนั้นมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ ๓.๕ เมตรและมีความลึกเฉลี่ยประมาณ ๐.๕ เมตร และพบร่องรอยของคันดินที่มีความหนาเฉลี่ยประมาณ ๐.๕ เมตรอยู่ทั้งสองฝั่งของคูเมืองด้วย ซึ่งเมื่อวัดระดับจากขอบด้านบนของคันดินไปจนถึงส่วนของท้องคูเมืองแล้วก็จะพบว่าคูเมืองชั้นนอกนั้นอาจสามารถที่จะรองรับน้ำที่ระดับ ๑ เมตรได้เช่นกับระดับความลึกของคูเมืองชั้นใน ซึ่งไม่พบว่ามีคันดิน อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าแม้คูเมืองทั้งชั้นในและชั้นนอกอาจมีความกว้างประมาณ ๓-๕ เมตรแต่ก็มีระดับความลึกเพียงแค่ ๑ เมตรเท่านั้น รวมทั้งคันดินที่พบก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นไปได้ว่าคูเมืองของเมืองโบราณเวียงสระอาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรู แต่อาจมีหน้าที่ในการแสดงขอบเขตของเมืองหรือช่วยในการระบายน้ำเท่านั้น สำหรับชั้นทับถมที่แสดงร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์นั้นปรากฏร่องรอยชัดเจนในกิจกรรมชั้นการทับถมที่ ๒ และ ๓ ซึ่งเกิดกิจกรรมการขุดคูหรือร่องน้ำตัดทะลุชั้นการทับถมที่ ๒ ไปจนถึงชั้นการทับถมที่ ๑ และมีการเกิดของพูนดินซึ่งน่าจะเป็นคันดิน(คันคูเมือง) รอบคูเมืองชั้นนอกด้วย หลังจากนั้นจึงเกิดการสะสมของตะกอนที่มีสีเทาดำซึ่งแปลกไปจากการสะสมตะกอนสีเหลืองเข้มซึ่งมีมาแต่เดิม ด้วยการกระทำของน้ำภายในคูเมืองทั้งสองชั้น ในชั้นทับถมที่ ๔ โดยการสะสมตะกอนในคูเมืองนั้นก็น่าจะเริ่มขึ้นพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานในเมืองโบราณเวียงสระและกินระยะเวลายาวนานไปจนถึงช่วงเวลาที่เมืองเวียงสระถูกทิ้งร้าง ก่อนที่จะเกิดกิจกรรมในชั้นการทับถมที่ ๕ ซึ่งเป็นกิจกรรมในสมัยปัจจุบัน
เทวรูปและพระพุทธรูปโบราณชิ้นสำคัญของเมืองเวียงสระ
๑.เทวรูปพระวิษณุ พบจำนวน ๒ องค์ ได้แก่
๑.๑ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างปัลลวะ สูง ๑๔๘ เซนติเมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อใกล้เคียงธรรมชาติ พระนาภีแอ่นขึ้นและพระปฤษภางค์เว้าเข้าแสดงให้เห็นลมปราณของโยคี พระเนตรเบิก พระโอษฐ์แย้ม ทรงสวมกีรีฏิมกุฏข้างบนผายออกทรงภูษายาวกรอมข้อพระบาทขมวดเป็นปมใต้พระนาภี และคาดผ้าคาดพระโสณีตามแนวนอนพระหัตถ์ขวาอาจทรงถือภู (ก้อนดิน) พระหัตถ์ซ้ายทรงถือคฑาแนบพระองค์ ปัจจุบันอยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คล้ายกับชิ้นส่วนเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน และพระวิษณุที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี
๑.๒ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างโจฬะ สูง ๕๓ เซนติเมตร อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ประติมากรรม พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือสังข์พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือจักรโดยวางบนพระดัชนี ด้านหลังพระหัตถ์และพระเศียรเชื่อมด้วยแผ่นศิลา พระหัตถ์ขวาทรงแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหน้าวางไว้ที่พระโสภี ทรงพระภูษาโจงสั้น สวมกีรีฏิมกุฏทรงสูงสอบเข้าด้านบน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๒.พระพุทธเจ้าศากยมุนี ศิลาสลักนูนสูง สูง ๑๖.๕๐ เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พบโดย ดร. ควอริทซ์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ จากการสำรวจและขุดค้น ได้พบแนวอิฐซึ่งน่าจะเป็นฐานศาสนสถานกลางเมืองเวียงสระ ลักษณะประทับยืนท่าตริภังค์ ( เอียงสะโพก) ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรมในศิลปะสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ อาจนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม วัสดุหินทรายสีแดงเป็นวัสดุที่หาง่ายในแถบเมืองเวียงสระ ไชยาและพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พระพุทธรูปองค์นี้ยังคล้ายคลึงกับพระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำเขาขนาบน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณพสถานแห่งชาติ พระนคร
๓.พระศิวะไภรวะ เป็นประติมากรรมนูนสูงทำด้วยหินทรายรูปพระศิวะปางดุร้าย สูงประมาณ ๕๑.๕๐ เซนติเมตร อยู่ในลักษณะเปลือย มีสุนัขเป็นพาหนะเห็นส่วนหางอยู่ทางด้านหลัง พระเกศาเป็นขมวดส่วนบนและสยายเป็นเปลวไฟ มีสายกระดิ่งห้อยยาวเกือบจรดข้อพระบาท (น่าจะเป็นพวงมาลัยร้อยด้วยกระดูกหรือกระโหลกศีรษะมนุษย์) ทรงรัดประคดเป็นรูปคล้ายงู มี ๔ กร พระหัตถ์ซ้ายหนาทรงถือ ถ้วยทำจากกระโหลกศีรษะ พระหัตถ์ขวาหน้าทรงเชือก พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงตรีศูล และพระหัตถ์ขวาหลังทรงบัณเฑาะว์ (กลอง) อิทธิพลศิลปะอินเดียสกุลช่างโจฬะตอนต้น อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
๔. เทพีอุ้มโอรส ทำด้วยดินเผา สูง ๒๒ เซนติเมตร กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ คล้ายเทพีอุ้มโอรสที่เกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
๕.ฐานรูปเคารพ ทำด้วยหินทรายแดง สูง ๕๐ เซนติเมตร กว้างยาวด้านละ ๔๕ เซนติเมตร ด้านบนมีรางน้ำมนต์ ด้านข้างมีการแกะสลักลวดลายเป็นชั้น ๆ อย่างสวยงาม
๖.พระพุทธรูปหินทรายแดง พบเป็นกลุ่มตั้งกระจัดกระจายเรียงรายอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของอุโบสถเก่าและบริเวณโบราณสถานภายในเมืองเวียงสระ พระพุทธรูปส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด มีตะไคร่น้ำจับทั่วไป ลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นศิลปะสมัยอยุธยา พระพักตร์รูปไข่พระเนตรโปนเหลือบต่ำ ขมวดพระเกศาเล็กและไม่มีไรพระศก ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิยาวถึงพระนาภี ส่วนปลายตรง ประทับนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย
การกำหนดอายุ
แรกเริ่มประวัติศาสตร์, อยุธยา
การประกาศขึ้นทะเบียน
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณเวียงสระเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
ประวัติการอนุรักษ์
๒๔๔๒ ลูเนต์ เดอ ลาจงกิแยร์ (Lunet de Lajonquiere)ได้ทำการสำรวจสภาพแวดล้อมและจัดทำแผนที่ เมืองโบราณเวียงสระ
๒๔๘๙ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี
๒๔๗๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้และได้เสด็จมายังเมืองโบราณเวียงสระ ในครั้งนั้นได้มีการขนย้ายเทวรูปศิลา ที่พบภายในบริเวณเมืองโบราณเวียงสระไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
๒๔๗๗ ดร.ควอริทซ์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยและเมืองโบราณเวียงสระ ในครั้งนั้นได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองหลายจุด รวมทั้งได้ขุดพบประติมากรรมพระศากยมุนีศิลาด้วย
๒๔๗๙ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
๒๕๒๗ โครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคใต้) และหน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช จึงเข้ามาดำเนินการสำรวจและขุดค้น
๒๕๓๖ ซ่อมใบเสมาหินทรายแดงรอบอุโบสถ งบประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท
๒๕๓๘ ถากถางไม้เล็กและกำจัดวัชพืช งบประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท
๒๕๔๕ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม(อส.มศ.) ดำเนินการถากถางทำความสะอาด และกำจัดวัชพืช (๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๕)
๒๕๔๗ หล่อรูปจำลองพระนารายณ์และพระศิวะเพื่อนำมาประดิษฐานในศาลาภายในเขตเมืองโบราณ
๒๕๔๘ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม(อส.มศ.) ดำเนินการถากถาง ทำความสะอาด และกำจัดวัชพืช (๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘)
๒๕๔๙ สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราชได้ดำเนินการลอกคูเมืองชั้นนอกและชั้นในและได้ทำการขุดตรวจบริเวณคูเมืองโบราณเวียงสระ ๓ จุด งบประมาณ ๑,๒๒๒,๐๐๐ บาท วัดเวียงสระขออนุญาตปลูกพืชสมุนไพรในเขตโบราณสถาน สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ พิจารณาอนุญาต ในเงื่อนไขว่าพืชที่จะนำมาปลูกต้องเป็นพืชท้องถิ่นและต้องไม่มีผลกระทบต่อโบราณสถาน
๒๕๕๑ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม(อส.มศ.) ดำเนินการถากถาง ทำความสะอาด และกำจัดวัชพืช (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑)
วัดเวียงสระ
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๘๑ ไร่ ๑ งาน ๘๔ ตารางวา ปัจจุบันกรมศิลปากรสาขาที่ ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จดทะเบียนไว้แล้วเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๒๗
ประวัติความเป็นมา
วัดเวียงสระ เชื่อกันว่า เป็นวัดสร้างใหม่หลังจากการสร้างเมืองเวียงสระ เดิมเป็นวัดร้าง ตั้งติดกับคูเมืองเวียงสระโบราณ ภายในวัดมีสระน้ำวิหารอุโบสถ และกุฏิสงฆ์ ในสระน้ำ เมืองเวียงสระ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ -๑๖ มีอาณาจักรแห่งหนึ่งมีอำนาจและมีอิทธิพลมากครอบคลุมจากชุมพรไปถึงชวา เรียกอาณาจักรนี้ว่าอาณจักรศรีวิชัย ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองไชยา รวมทั้งเมืองเวียงสระด้วย แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าศูนย์กลางของการปกครองอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา แต่ก็ยังไม่ยุติจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ ได้มีพราหมณ์ ๒ คนพร้อมด้วยอาจารย์อีก ๒ ท่าน กับ สมัครพรรคพวกอีกประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ได้ล่องเรือลงมาทางใต้ ได้ขึ้นบกที่เมืองตะโกลา (เมืองตะกั่วป่า ปัจจุบัน) และล่องลงมาตามลำน้ำตะกั่วป่า มาตั้งเมืองที่บ้านน้ำรอบบริเวณ ริมคลองพุมดวง ได้ตั้งชื่อเมืองว่า ระวะตี (บางท่านว่า ชื่อ ทวาราวดี) เนื่องจากเกิดไข้ห่าระบาดจึงอยู่ได้ไม่นาน ก็ได้อพยพมาตั้งเมืองที่ เมืองเวียงสระ ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำ และได้ขุดคูเป็นปราการรอบเมือง เพื่อให้น้ำเข้ามาได้เมืองเวียงสระสมัยนั้นเจริญมาก มีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนทางเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมศิลปากร ได้ขุดพบเหรียญตราและของใช้ของจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง และสมันนั้นตามประวัติ กล่าวว่าอาณาจักรศรีวิชัย กำลังเจริญรุ่งเรืองที่สุด จึงน่าสันนิษฐานได้ว่าเมืองเวียงสระ น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย
ความสำคัญของชุมชน
วัดเวียงสระ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดเวียงนั้น ได้รับความสนใจจากบุคคลทุกระดับ เพราะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี นักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาค้นคว้าอยู่เสมอ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนของผู้ต้องการความสงบ และยังเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย วันที่ชาวเวียงสระมีความภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ คือวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อักขราชกุมารี ได้เสด็จมาเยี่ยมชม และทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่วัดเวียงสระแห่งนี้
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
วัดเวียงสระ บ้านเวียงสระ เคยรุ่งเรืองเป็นที่ตั้งเมืองมาก่อน ที่วัดมีคูเมือง มีพระพุทธรูปเก่าแก่ มีลักษณะดังนี้
๑. เทวรูปพระวิษณุ พบ ๒ องค์ ได้แก่ พระวิษณุ ศิลาสกุลช่างมัลลวะ สูง ๑๔๘ เซนติเมตร อายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และพระวิษณุศิลาสกุลช่างโลหะ สูง ๕๓ เซนติเมตร อายุประมาณครึ่งหลัง พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นประติมากรรมสลักนูนสูง
๒. พระพุทธรูปศากยมุนี ศิลาสลักนูนสูง ๑๖.๕๐ เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๖
๓. พระศิวะไภรวะ เป็นประติมากรรมนูนสูง ทำด้วยหินทรายรูปพระศิวปางดุร้าย สูงประมาณ ๕๑.๕๐ เซนติเมตร
๔. เทพีอุ้มโอรส ทำด้วยดินเผาสูง ๒๒ เซนติเมตร
๕. ฐานโยนิ ทำด้วยหินทรายแดง สูง ๕๐ เซนติเมตร กว้างยาวด้านละ ๔๕ เซนติเมตร ด้านบนมีราง น้ำมนต์ ด้านข้างมีการแกะสลักลวดลายเป็นชั้น ๆ สวยงามมาก
๖. พระพุทธรูปหินทรายแดง พบเป็นกลุ่มตั้งกระจัดกระจาย