โบราณสถานเขาพระเหนอ ควนพระเหนอ ทุ่งตึก
    
โบราณสถานเขาพระเหนอ ตั้งอยู่ในเขต ตำบลบางนายสี  อำเภอตะกั่วป่า  จังหวัดพังงา
     เขาพระเหนอเป็นภูเขาขนาดเล็กเตี้ย ตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่า บนเขาด้านทิศเหนือมีบ่อน้ำจืดมีน้ำตลอดทั้งปี บนยอดเขาพระเหนอตรงกลางเนินพบฐานโบราณสถานซึ่งก่อสร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่และเล็กมาวางเรียงซ้อนกันแล้วปูทับด้วยอิฐแผ่นใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ยาวด้านละ  9 – 10 เมตร เขาพระเหนอเป็นภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงข้ามแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เคยเสด็จประพาสเมื่อครั้งเสด็จ ฯ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้   ร.ศ.๑๒๘ พบเทวรูปพระนารายณ์ทำด้วยศิลาทราย  หักเป็นสองท่อน  ไม่ประดับอาภรณ์ วิจิตร   ฝืมือทำกล้ามเนื้อ เหมือนคน เทวรูปยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐ  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรด ฯ  ให้นำเทวรูปพระนารายณ์ ไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลง การ ปกครอง  พ.ศ.๒๔๗๕ ปัจจุบันเทวรูปพระนารายณ์ได้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  
  กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง และพบร่องรอยของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์บริเวณยอดเขาพระเหนอ สำหรับที่บริเวณเชิงเขายังพบพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ใต้พื้นดินบริเวณดังกล่าว ยังพบชิ้นส่วนภาชนะถ้วยชามเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ชิง รวมทั้งเศษลูกปัดที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึกเมืองท่าการค้าที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย

     เทวรูปพระนารายณ์ที่พบบนเขาพระเหนอ  เป็นพระนารายณ์ศิลารุ่นเก่าสมัยศรีวิชัยขนาดใหญ่  สูงประมาณ  202  ซม. เป็นประติมากรรมลอยตัวเป็น  ศิลปปัลลวะ  (ศิลปะของอินเดียตอนใต้) สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่  12 – 13  ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า  1,200 – 1,300 ปี
  เมื่อปี  2452  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จประพาสจังหวัดตะกั่วป่า  และได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวรูปพระนารายณ์บนเขาพระเหนอ   ในวันที่  23  เมษายน  ร.ศ. 128  หรือ พ.ศ. 2452   ได้ทรงบันทึกไว้ดังนี้
“...เวลาบ่าย  2 โมงถึงปากคลองเหนอ  ฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำ  คลองนี้เล็กและตื้น  แม้แต่เรือเล็ก ๆ ก็เข้าไปไม่ได้จึงต้องขึ้นที่ปากคลอง  แล้วเดินต่อไปในลำคลอง  เดินในลำคลองจริง ๆ ไม่ใช่ริม ๆ   แต่ข้าพเจ้าต้องรีบบอกเสียในที่นี้ว่า  ไม่ได้ลุยโคลนจั๊บแจ๊ะไป  เพราะเขาทำตะพานไปตลอดลำคลอง  จนถึงพลับพลาที่ประทับร้อนที่เชิงเขาพระเหนอ  เครื่องกลางวันที่นี้  นายซุ่นฮวดกำนันเป็นผู้จัดถวาย  มาซ้ำวันนี้เข้าอีกดูไม่ใคร่ขันเหมือนเมื่อวานนี้  ตามความจริงกำนันแลผู้ใหญ่บ้านที่จัดเครื่องถวายทั้ง ๒ วันนี้  ไม่ใช่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านชนิดที่เข้าใจกันโดยมาก  ตามความเข้าใจกันโดยมากว่า  กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นบุคคลชนิดนุ่งผ้าสีน้ำเงินสวมเสื้อสีน้ำตาล  มีบั้งขาว ๆ ติดที่แขนและเป็นชาวนาเป็นพื้น  แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านเมืองตะกั่วป่านี้ไม่เป็นเช่นนั้นเลย  มักเป็นจีนเกิดในเมืองไทย  และเป็นพ่อค้าหรือนายเหมือง  จึงเป็นผู้มีเงินอยู่บ้าง  การที่จะจัดเลี้ยงจึงไม่สู้ประหลาดอะไรนัก
เสวยแล้วเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรพระนารายณ์เทวรูปบนยอดเขาพระเหนอ  เทวรูปองค์นี้ทำด้วยศิลาทราย  บัดนี้หักเสียเป็นสองท่อน  หักเฉพาะที่เอว  ถ้าไม่หักคงจะสูงราว  ๕  ศอก  เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ไม่วิจิตรเหมือนองค์ที่เขาเวียง  แต่ฝีมือทำกล้ามเนื้อดีเหมือนคน  เทวรูปนี้ยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่  ซึ่งให้เห็นได้ว่าคงเป็นศาลหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง  แต่เรื่องราวอะไรก็สืบไม่ได้ จากที่คลองเหนอได้ทรงเรือ  เสด็จขึ้นทอดพระเนตรทุ่งตึกซึ่งอยู่ในเกาะคอขาว  ตรงกันข้ามกับที่ตั้งเมืองใหม่   ที่นี่ไม่มีอะไรดูนอกจากเนินดิน    ขุดลงไปพบอิฐแผ่นใหญ่ ๆ ชนิดเดียวกับที่เห็นอยู่ที่บนยอดเขาพระเหนอ  กับมีศิลาแบน ๆ สองแผ่น  ตัดเป็นรูปกลมมีเป็นรูสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง  จะใช้สำหรับอะไรก็ไม่ทราบ   บางทีที่นี้จะเนื่องกับเทวรูปที่คลองเหนอ  คืออาจจะเป็นเทวสถานอีกอันหนึ่งของคณะเดียวกันก็ได้  แต่ครั้นข้าพเจ้าจะเดาอะไรไปมากมายต่อไปอีก  ก็เกรงจะถูกหาว่ากุ  เพราะฉะนั้นคงงดไว้ทีดีกว่า...”
บทความโดย โดยวิภีษณพราหมณ์

ประกาศกรมศิลปากร
เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
ตามที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเขาพระเหนอ ตำบลย่านยาว อำเภอ
ตลาดใหญ่ จังหวัดพังงา ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๒ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่มิได้
กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ อธิบดีกรมศิลปากรจึงประกาศกำหนดเขตที่ดิน
โบราณสถานเขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี (เดิมคือตำบลย่านยาว) อำเภอตะกั่วป่า (เดิมคืออำเภอตลาดใหญ่) จังหวัดพังงา ให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓๔ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา
ประกาศ ณ วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘
อธิบดีกรมศิลปากร

 

คลิกเพื่อชมวีดีโอสไลด์โชว์ โบราณสถานเขาพระเหนอ ควนพระเหนอ ทุ่งตึก

Pin It