โบราณสถาน เทวสถานตุมปัง
โบราณสถาน เทวสถานตุมปัง ได้ถูกพบในเขต อ. ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช จากการสำรวจ ได้พบแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียใต้แพร่กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ร่องรอยที่เหลือให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ ศาสนสถานของพราหมณ์ เทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ทั้ง ไศวนิกาย และ ไวษณพนิกาย จากการสำรวจแหล่งโบราณคดี เทวสถานตุมปัง โดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2536 พบชิ้นส่วนท่อนล่างของรูปเคารพสลักจากหินซึ่งสันนิษฐานว่า เป็น เทวรูป องค์พระนารายณ์
ประวัติเทวสถานตุมปัง
ก่อนการสำรวจทางโบราณคดีคนทั่วไปเข้าใจกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นวัดร้างจึงได้เรียกสถานที่แห่งนี้กันว่า "วัดร้างตุมปัง" จากการขุดค้นโดยกรมศิลปากร อย่างเป็นทางการได้มีข้อสรุปว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วน ของรูปเคารพท่อนล่าง และได้มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเทวรูปพระวิษณุ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อน ได้มีการขุดพบเทวรูปดังกล่าวและยกขึ้นหลังช้างออกจากป่าแต่ไปได้ไม่ไกลเทวรูปได้เกิดพลัดตกลงมาทำให้เทวรูป แยกออกเป็น ๒ ท่อน ชาวบ้านเก็บเฉพาะท่อนบนไปและไม่ทราบว่าไปอยู่ณ.ที่แห่งใด
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๕ กรมศิลปากร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีหน่วยปฏิบัติงาน ร่วมกันระหว่าง สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช และ โครงการอาศรมวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการดำเนินการขุดแต่ง ขุดค้นโบราณสถานตุมปัง เพื่อศึกษา ทางโบราณคดี รายละเอียดทางสถานภาพของแหล่ง ขอบเขตที่แท้จริงของโบราณสถานทางศาสนาพราหมณ์ ผลจากการขุดแต่งทำให้พบ เศียรพระโพธิสัตว์ ส่วนของท่อนลำตัวตั้งแต่คอลงมาถึงบั้นเอว และท่อนกร (แขนซ้าย) ตั้งแต่แขนถึงมือ เมื่อนำชิ้นส่วน ทั้ง ๓ ชิ้น ที่ได้ขุดพบไปประกอบเข้ากับส่วนท่อนล่างของรูปเคารพที่เคยพบก่อนหน้านี้ ทำให้ทราบว่าเป็นรูปเคารพองค์เดียวกัน และเมื่อทำการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ผู้ขุดพบสันนิษฐานว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร( เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น ) แต่จากการศึกษาและ ค้นคว้าเรื่องเทวรูปทางศาสนาพราหมณ์ จากการค้นคว้าทั้งในประเทศไทยและประเทศอินเดีย และคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ และพระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ ท่านวิภีษณพราหมณ์จึงสรุปลงไปล้าน% ว่า เทวรูปที่ขุดเจอ เป็นเทวรูปของพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ถือกันว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” หรือที่เรียกกันว่า พระ “กัลกี” จะเสด็จลงมาเป็นอวตารที่ 10 ขององค์พระนารายณ์ ตามคัมภีร์ วิษณุปุราณะ และอีกหลายคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ที่ผู้เขียนได้สืบค้น ( หากต้องการแหล่งอ้างอิงและที่มาที่เชื่อได้กรุณาติดต่อพราหมณ์ได้โดยตรงซึ่งพราหมณ์ไม่มีเวลาพอที่จะนำแหล่งอ้างอิงจากคัมภีร์นั้นๆมาลงเขียนไว้ในบทความนี้ )
และที่มานี้ ก็ตรงกับหลักฐานจากพระไตรปิฏกทางศาสนาพุทธ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า พระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอารย์ ท่านจะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป และเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 แห่งภัทรกัปนี้ ใจความที่สำคัญในพระไตรปิฏกมีอยู่ว่า พระศรีอารย์ หรือพระเมตไตรย ท่านจะลงมาจุติ เกิดในวรรณะพราหมณ์ เกิดตระกูลพราหมณ์ เกิดในศาสนาพราหมณ์ ( ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า )ฉะนั้น พวกพราหมณ์ทั้งหลายในลัทธิ ไวษณพนิกายในอดีต จึงได้สร้างเทวรูปของ พระกัลกี ของพราหมณ์ หรือพระเมตไตรย และเทวรูปที่ขุดเจอมีลักษณะคล้ายกันมาก กับเทวรูปของพระศรีอริยเมตไตรย ในประเทศอินเดีย แต่ลักษณะพระกัลกี บางปาง จะเป็นลักษณะเทวรูปขี่ม้าถือดาบ เชื่อกันว่าพระนารายณ์เสด็จอวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญ ในปางที่ 10 จึงสามารถสรุปลงได้ว่า สาเหตุที่พราหมณ์บูชาเทวรูปของพระโพธิสัตว์เมตไตรย ก็เพราะพราหมณ์เชื่อว่า พระโพธิสัตว์เมตไตรย คือ อวตาร ปางที่ 10 ของพระนาราย์ ทั้งนี้และทั้งนั้น พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทางศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า เป็น อวตารที่ 9 ของพระนาราย์ ตามพระคัมภีร์ วิษณุปุราณะ ของศาสนาพราหมณ์ ฉะนั้นในปัจจุบันนี้ พราหมณ์ในประเทศอินเดีย และพราหมณ์ในทุกๆประเทศทั่วโลก จึงได้นับถือ กราบไหว้ บูชาพระพุทธเจ้า โดยถือกันว่าพระพุทธเจ้าเป็น อวตารที่ 9 ของพระนารายณ์ ฉะนั้น ศาสนาพุทธ และพราหมณ์ ฮินดู ทั่วโลก จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น
พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ก็ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายมาตั้งแต่ในครั้งอดีต พระภิกษุในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ได้ทำการสวดบูชาอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ และกระทำการประกอบพิธีกรรมต่างๆ พร้อมทั้งมีการสวดสาธยายมนต์ เพื่อบูชาแด่องค์พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เช่น พระอมิตาภะ พระกิษิติครรภ์ พระอวโลกิเตศวร พระเมตไตรย เป็นต้น และมีการสวดที่ใช้เครื่องดนตรีประโคม เครื่องดีด สี ตีเป่า อย่างเช่นการเป่าสังข์ของพระภิกษุฝ่ายมหายานในประเทศธิเบตเป็นต้น ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ล้วนได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดียทั้งสิ้น
คลิกเพื่อชมวีดีโอสไลด์โชว์ ตามรอยพราหมณ์โบราณสถานตุมปัง