ชุมชนโบราณเขาคูหา ชุมชนโบราณเริ่มแรกสมัยประวัติศาสตร์

 สถานที่ตั้ง ชุมชนโบราณ เทวสถานถ้ำเขาคูหา ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๕ และ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตามพิกัดภูมิศาสตร์ที่ละติจูด ๗ องศา ๓๖ ลิปดาเหนือ และลองติจูด ๑๐๐ องศา ๒๓ ลิปดาตะวันออก

ประวัติความเป็นมา จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานภาคใต้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้พบหลักฐานสำคัญว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนโบราณเริ่มแรกสมัยประวัติศาสตร์ ที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา บริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยปรากฏชื่อเอกสารหลักฐานเอกสารโบราณคดีแผนที่ ภาพสมัยอยุธยาแสดงชื่อวัดต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อวัดพะโคะ กัลปนาเมืองพัทลุงและเพลาเมืองสทิงพระ ได้กล่าวถึงชื่อภูเขาโคหาย (โคหาหรือคูหา) จากหลักฐานที่ปรากฏในอาณาบริเวณนี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ กลุ่มชนบนภูเขาคูหา ได้รับอิทธิพลสมัยประวัติศาสตร์จากภายนอกสร้างศาสนสถาน สร้างเทวสถานตามคติความเชื่อใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขึ้น ณ บริเวณเขาคูหา และน่ทั้งศาสนาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และลัทธิไวณพนิกาย หรือการนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ และนับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ตามหลักฐานที่ปรากฏ คือ ศิวลึงค์และแท่นฐานเสียบศิวลึงค์ และพระอคัตยะซึ่งเป็นเทพเจ้าปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู เป็นเทพเจ้าที่นำอารยธรรมต่าง ๆ มาสู่อินเดียใต้ตามลัทธิไศวนิกาย

ลักษณะทั่วไป ชุมชนโบราณเขาคูหามีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาที่เกิดจากการทับถมของหิน กรวด มนและหินทราย มีสภาพเป็นเนินเขาลูกโดดเตี้ย ๆ เป็นที่ราบลุ่มนอกสันทราย มีอาณาบริเวณประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขาพะโคะ เขาผี และเขาน้อย เนินเขามีความสูงไม่เกิน ๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาและป่าละเมาะอยู่ห่างจากแนวสันทรายประมาณ ๑ กิโลเมตร
 
หลักฐานที่พบ บริเวณเนินเขาคูหามีลักษณะเป็นเนินเขาลาดชัน มีถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ๒ ถ้ำ ปากถ้ำทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร ถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ - ๒ เมตร มีลานหน้าถ้ำ ทางเข้าของถ้ำแรกเป็นรูปโค้งสูงประมาณ ๒.๕ เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ลึกประมาณ ๔.๕ เมตร ภายในถ้ำมีการสกัดหินจนเรียบ พื้นที่ภายในถ้ำบรรจุคนได้ประมาณ ๒๐ คน และบนลานหน้าถ้ำบรรจุคนได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน บริเวณหน้าถ้ำพบแผ่นหินโยนีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ เคยประดิษฐานศิวลึงค์ แต่ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปแล้ว ถ้ำที่สองมีลักษณะและสัดส่วนคล้ายคลึงถ้ำแรก ชุมชนโบราณได้ใช้ถ้ำคูหาเป็นเทวสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์และฮินดู เหมือนกับถ้ำอะชันตะและเอลโลรา ในประเทศอินเดีย ซึ่งขุดเจาะภูเขาเข้าไปสลักหินและเขียนภาพเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งไม่เคยพบถ้ำลักษณะนี้ในประเทศไทย ได้สัณนิษฐานว่าถ้ำคูหามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ - ๑๔ เป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ภาคใต้

เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ ชุมชนโบราณเขาคูหา อยู่ห่างจากทางหลวง หมายเลข ๔๐๘๓ ระโนด - สงขลา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดสงขลาไปทางทิศเหนือ ๔๙ กิโลเมตร เดินทางโดยรถประจำทางและรถส่วนตัว

 

คลิกเพื่อชมวีดีโอสไลด์โชว์ ตามรอยพราหมณ์ที่ถ้ำเขาคูหา

Pin It