พิมพ์

ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานประเภทหิน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ ๓ ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นศาสนสถานฮินดู ที่สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖
มีการสำรวจพบศิลาจารึกสองหลัก ซึ่งตั้งชื่อว่า จารึกสด๊กก๊อกธม ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งทำการศึกษาประวัติศาสตร์เขมรได้อาศัยศิลาจารึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิง
ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่นักวิชาการเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกที่สำรวจพบในพื้นที่ จารึกหลักที่ ๑ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๑) ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้นำมามอบให้ผู้เชี่ยวชาญอักษรภาษาโบราณ อ่านแปลเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ มีเนื้อความกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เพื่อเป็นเทวสถานประดิษฐานศิวลึงค์ ตามความในจารึกดังกล่าว ในปีพุทธศักราช ๑๔๘๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้กำเสตญอัญศรีวีเฐนทรวรมัน ใช้ให้ปรัตยยะนำศิลาจารึกมาปักไว้ เพื่อประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเรียกข้าพระของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น ให้ใช้ข้าพระดังกล่าวเฉพาะการปฏิบัติบูชาบำรุงรักษาเทวรูป ศิวลึงค์ และรูปเคารพอันประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถาน(แห่งนี้) เท่านั้น
ส่วนจารึกหลักที่ ๒ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงตั้งแต่การเข้าไปสำรวจปราสาทครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ โดยนายเอโมนิเยร์) นั้นกล่าวว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในโอกาสที่ได้สร้าง (บูรณะปฏิสังขรณ์?) ปราสาทแห่งนี้สำเร็จในปีพุทธศักราช ๑๕๙๕ และนอกจากนี้แล้วยังบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับประวัติอารยธรรมทางด้านศาสนา ซึ่งบ่งชัดเจนว่ากษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชาเป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์ นอกจากนี้ในจารึกยังกล่าวถึงประวัติการสืบสายสกุลของพราหมณ์ผู้เป็นใหญ่ในราชสำนักเขมร การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่างๆในพระศาสนา เป็นต้น
จารึกหลักแรก ระบุศักราช พ.ศ. ๑๔๘๐ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ จารึกหลักที่สอง ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๑๕๙๕ กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ พระราชทานเทวสถานอุทิศแด่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังได้เล่าเรื่องย้อนหลังขึ้นไปอีกราว ๒๐๐ ปี กล่าวถึงต้นตระกูลพราหมณ์คนแรก ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเข้าด้วยกันและสร้างเมืองพระนครขึ้น จึงกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญในการกำหนดยุคสมัยของประวัติศาสตร์เขมรและประวัติศาสตร์ศิลปะเขมร ตั้งแต่ยุคแห่งการสร้างเมืองพระนครมาจนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒

อนึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าจารึกสด๊กก๊อกธม ๑ ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่าพบที่บ้านสระแจง ไม่ได้นำมาจากที่ปราสาทโดยตรง ส่วนจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ระบุว่าพบที่ปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งเป็นชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม และจากการขุดตรวจชั้นดินบริเวณทางดำเนินภายในตัวปราสาทบางส่วน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างใดๆ ก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ใน จ.สระแก้วยังมี ปราสาทเขาสระแจงดงรัก ซึ่งศาตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นปราสาทที่มีอายุสมัยระหว่างปี พ.ศ.๑๖๐๐ -๑๖๕๐ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ตามที่ระบุในจารึกสด๊กก๊อกธม ๑
จากปีที่ระบุไว้ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักแรก และใจความที่กล่าวถึงการสร้างศาสนสถาน ทำให้อาจเป็นไปได้ว่ามีอาคารที่สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ และถ้าหากจะอ้างอิงข้อมูลในจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งมีความชัดเจนว่าเคยตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเทวาลัยที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะเชื่อได้อีกเช่นกันว่าได้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมขึ้นหรือมีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวน ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความสงสัยให้เราหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนเพื่อค้นหาคำตอบ
ข้อมูลจากการทดลองประกอบหินหล่นและการขุดแต่งได้มาผสมผสานกันเข้าเป็นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่มีการเรียงลำดับอายุสมัยไว้แล้วโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบทำให้สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างของปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างยุคสมัยคลังหรือเกลียง (Khleang) และสมัยบาปวน (Baphuon) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ซึ่งระบุถึงรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทบาปวนขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลที่เมืองพระนคร แต่ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมในบางองค์ประกอบที่ยังคงมีรูปแบบค่อนข้างโน้มเอียงไปในลักษณะของยุคก่อนมากกว่าจึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการปฏิสังขรณ์เทวาลัยที่มีมาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ หรือเป็นการก่อสร้างในช่วงตอนต้นของรัชสมัย โดยมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่ทำการก่อสร้างปราสาท เช่น รูปแบบของปราสาทประธาน และ การตั้งเสาหินที่มีลักษณะเหมือนเสานางเรียงขนาดเล็ก ล้อมรอบปราสาทประธาน เหมือนเป็นการแสดงถึงปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่ใดมาก่อน
ดังนั้นลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของปราสาทสด๊กก๊อกธม จึงสามารถใช้ข้อมูลของเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบสำหรับการศึกษาทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยคลังต่อบาปวน ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ปราสาทหินที่อยู่ร่วมสมัยในแหล่งอื่นๆต่อไป
"ปราสาทสด๊กก๊อกธม" หรือ ชื่อเดิมคือ "ปราสาทเมืองพร้าว" อยู่ใกล้กับโนนหมากมุ่น บริเวณทิศตะวันออกของบ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว แต่เดิมเคยเป็นเขตปะทะระหว่างทหารไทยกับเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2523
 ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก และมีความสำคัญต่อการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองไทย เนื่อง จากพบจารึก หลักซึ่งกล่าวถึงลำดับราชวงศ์เขมรช่วยให้การลำดับราชวงศ์เขมรมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจนมากขึ้น
ต่อมาปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้รับการเก็บกู้ระเบิดออกจากบริเวณปราสาทจนเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 และกรมศิลปากรเริ่มบูรณะซ่อมแซมปราสาทสด๊กก๊อกธมด้วยวิธีอนัสติโลซิ สตั้งแต่ พ.ศ.2538 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2550 ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง
 โดยจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสามารถสันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้เริ่มสร้างช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ยังไม่แล้วเสร็จและต้องล้มเลิกการ ก่อสร้างไป ปราสาทหลังนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ ตัวปราสาทและบาราย (สระน้ำ) ตัวปราสาท มีกำแพงแก้วล้อมรอบสามารถเข้าออกได้ 2 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออกเป็น โคปุระ (ซุ้มประตู) หลักสำหรับเข้าออก และด้านทิศตะวันตกเป็นซุ้มประตูหลอกขนาดเล็ก
องค์ปราสาทประธานมีโคปุระ 4 ด้าน โคปุระด้านทิศตะวันออกก่อยอดเป็นเรือนปราสาท ซึ่งแตกต่างจากโคปุระของปราสาทองค์อื่นที่ไม่มีการก่อยอดเป็นเรือนปราสาท ระหว่าง โคปุระทั้ง 4 มีวิหารระเบียงคดที่มีหลังคาหินทรายและหลังคาอิฐมุง ด้านนอกก่อทึบ ด้านในเว้นเป็นเสาเรียงเชื่อมต่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม
 บริเวณวิหารคดมีบรรณาลัย 2 หลัง ตามแนวเหนือ-ใต้ กึ่งกลางปราสาทเป็นปราสาทประธาน หลังเดียวขนาดใหญ่ ลานด้านในปูพื้นศิลาแลงทั้งหมด และมีการประดับเสานางเรียง ตรงทางเดินเข้าและบริเวณรายรอบปราสาทประธาน ซึ่งนับเป็นการวางแผนผังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของปราสาทสด๊กก๊อกธม บารายกว้างใหญ่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่บริเวณหน้า ปราสาท

     ปัจจุบันน้ำแห้งแต่ก็ยังพอมองเห็นแนวคันดินรอบบารายได้ ถัดจากบารายมีทางเดินก่อด้วยศิลาแลงมุ่งหน้าตรงไปยังปราสาท สองข้างทางปักเสานางเรียงเป็นระยะ แสดงให้เห็น ถึงความอุดมสมบูรณ์และพิธีกรรมมากมายที่เคยเกิดขึ้นบริเวณปราสาท

     จารึกสด๊กก๊อกธมบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมพบศิลาจารึกที่สำคัญ 2 หลัก ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 1 จารึกบนแผ่นหินทรายรูปใบเสมา พบโดยเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากรบริเวณบ้านสระแจง ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อ พ.ศ. 1480 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เนื้อความบันทึกเกี่ยวกับการถวายทาสชาย หญิงดูแลรักษาศิวลึงค์ และรายนามทาสพระ
ปัจจุบันจารึกหลักนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร จารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 จารึกบนหลักแท่งหินสี่เหลี่ยมค้นพบบริเวณด้านทิศเหนือของ ปราสาทสด๊กก๊อกธมโดยเจ้าอาวาสวัดโคกสูง เป็นจารึกที่มีความสำคัญต่อการค้นคว้าด้านการลำดับราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก
สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อ พ.ศ. 1595 เนื้อความในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 พระราชทานที่ดินและผู้คนเพื่อสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นอาจารย์ และยังจารึกเรื่องการสืบสายตระกูลพราหมณ์สทาศิวะควบคู่ไปกับพระนามของกษัตริย์เขมรย้อนหลังจนถึงพราหมณ์ศิวไกวัลยะ
ข้อมูลท่องเที่ยว - ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 348 (ถ.อรัญประเทศ-ตาพระยา) ประมาณ 25.5 กม. จะถึงทางหลวงหมายเลข 3341 เลี้ยวขวาเข้า ไปประมาณ 10 กม. จะเห็นสถานีอนามัยโคกสูงอยู่ขวามือ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกอีกประมาณ 4 กม. ผ่านโรงเรียนหนองเสม็ด ถึง กม.ที่ 12 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2.5 กม.
“เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่” คือความหมายของคำในภาษาขะแมร์ที่ว่า “สด๊กก๊อกธม” ชื่อปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน จ.สระแก้ว ตั้งอยู่ ณ อ.โคกสูง ทว่า เมื่อเทียบกับปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์แล้ว
 “สด๊กก๊อกธม” ก็ด้อยกว่าทั้งขนาดและความวิจิตรตระการตาของลวดลายจำหลัก รวมทั้งต้องยอมรับว่า มิอาจนำไปเทียบกับสิ่งก่อสร้างระดับมหาปราสาท อย่างนครวัด บาแค็ง บาปวน ฯลฯ ในกัมพูชา
ปราสาทหินที่สร้างขึ้นในสมัยเมืองพระนครของขอม ซึ่งรุ่งเรืองเมื่อราวพันปีก่อน แล้ววันนี้กระจายอยู่ในกัมพูชาและไทยนั้น ส่วนใหญ่จะมีศิลาจารึกที่มีเนื้อหาเทิดทูนบูชามหาเทพฮินดู อาทิ พระอิศวร (พระศิวะ) กับพระนารายณ์ (พระวิษณุ) รวมทั้งเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ผู้สร้าง ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อวตารของมหาเทพ ต่อท้ายด้วยบัญชีรายชื่อสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนจำนวนพราหมณ์ นางรำ ข้าวัด แรงงาน ฯลฯ ที่ถวายไว้ ให้ดูแลปราสาท ทว่า เป็นที่ยอมรับกันในวงการโบราณคดีว่า ศิลาจารึกที่พบ ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธม มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
สาระสำคัญใน จารึกสด๊กก๊อกธม เล่าเรื่องตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่งที่รับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์ขอมถึง 12 รัชกาล เป็นเวลาถึง 250 ปี ระหว่าง พ.ศ.1345-1595 คือตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ก่อนสมัยนครวัด) โดยความตอนหนึ่งได้เล่าเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จจากเกาะชวามาครองกัมพูชา แล้วทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อใคร และเพื่อแสดงบุญญาบารมี ทรงได้นำเอาลัทธิไศเลนทร์ หรือลัทธิเทวราชาจากชวามาหยั่งรากในอาณาจักรขอม ลัทธินี้ถือว่า “เทวะ” คือ “ราชา”, “ราชา” คือ “เทวะ” ลงมาจุติเพื่อสร้างสันติสุขบนโลกมนุษย์ การบูชา “เทวราชา” คือการสร้างรูปศิวลึงค์ (แทนองค์ศิวะเทพ) ประดิษฐานบนยอดเขา เช่นเดียวกับพระศิวะประทับบนเขาไกรลาส ทั้งนี้เนื่องจาก “เทวราชา” มีรากฐานจากศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพชั้นสูงสุด
โดยสรุปรวมแล้ว การค้นพบและอ่านจารึกสด๊กก๊อกธมสำเร็จ มีส่วนสำคัญทำให้องค์ความรู้ว่าด้วยปรัชญาเบื้องหลังการก่อสร้างปราสาท และการลำดับรัชกาลพระราชาขอม ที่เคยคลุมเครือมานาน สามารถปะติดปะต่อกันจนนักโบราณคดีมั่นใจว่า การสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น อันถือเป็นราชประเพณีที่พระราชาขอมทุกพระองค์พึงปฏิบัติ ก็เพื่อเป็นวิหารเก็บราชลึงค์บนภูเขา เป็นทิพยวิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ เป็นพระราชสุสานหรือพระเมรุมาศเมื่อยามสวรรคต ดวงพระวิญญาณของพระองค์จะกลับไปหลอมรวมกับเทพเจ้าที่ใจกลางปรางค์ประธาน และสุดท้ายคือเป็นเขาพระสุเมรุหรือศูนย์กลางโลกและจักรวาล

 แล้วเหตุใดจึงมาจารึกไว้ที่ปราสาทหลังนี้ ก็เป็นไปได้ว่า พระครูพราหมณ์ตระกูลนี้รับใช้ราชสำนักมายาวนาน จนได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างปราสาทได้ จึงได้สร้างไว้ที่ชุมชนบ้านเกิด คือจุดที่ตั้งปราสาทสด๊กก๊อกธมในวันนี้

 ดังนั้น หากมหาปราสาทนครวัด ที่เคยเป็นศูนย์ของเมืองพระนคร (Angkor) ของขอม ได้รับสมญาว่า “พีระมิดแห่งเอเชีย” และหากการที่ ฌอง-ฟรองซัวส์ ชอมโปลิย็อง (Jean-Fran?ois Champollion) ชาวฝรั่งเศส สามารถอ่านและแปล “ไฮโรกลิฟิค” หรืออักษรภาพของอียิปต์โบราณ จนอ่านจารึกค้นพบที่เมืองโรเซตตาสำเร็จในปี พ.ศ.2365 เปรียบได้ดั่งการค้นพบกุญแจไขความลี้ลับแห่งมหาฟาโรห์ผู้สร้างมหาพีระมิดเมื่อหลายพันปีก่อน และเปิดศักราชใหม่ของวิชาอียิปต์วิทยา (Egyptology) ที่โลกตะลึง..ฉันใด การค้นพบและอ่านจารึกสด๊กก๊อกธม เมื่อปี พ.ศ.2511 ก็มีความสำคัญดั่งการการค้นพบตัวต่อ หรือ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย ไขความลี้ลับของ “พีระมิดแห่งเอเชีย” ฉันนั้น

 

คลิกเพื่อชมวีดีโอสไลด์โชว์ ตามรอยพราหมณ์ที่สด๊กก๊อกธม