ประวัติความเป็นมาของพราหมณ์ในแผ่นดินสยาม
“นับเวลาอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปีที่ศาสนาได้อุบัติและได้ครองลัทธิประเพณีของประชาชนชาวทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบันสืบเนื่องตกทอดตลอดมา แม้จนกระทั้งบัดนี้ ก็มีอยู่เกือบค่อนประเทศ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ศาสนาฮินดูอิซม์” ต่อมา เมื่อเกิดศาสนาพุทธขึ้นในย่านเดียวกันของโลก คือชมพูทวีป และมีชาวฮินดูมาก่อนได้หันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น พยานเหตุการณ์ที่เชื่อถือได้ในเรื่องนี้คือ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานได้เพียงเจ็ดวัน ก็ตั้งเค้าว่าจะเกิดแย่งพระสรีรธาตุของพระองค์ขึ้นแล้วและเหตุการณ์นับวันจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นหลังจากได้ถวายพระเพลิงของพระองค์ที่ที่นครป่าหมากหรือเมืองกุสินาราเสร็จแล้ว ก็มีโทณพราหมณ์ต้องกระทำการแจกจ่ายถวายแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ ไปเท่าที่จะทำได้ ส่วนสัมภินนธาตุ คือส่วนที่แตกหัก ก็ตวงด้วยทะนานเล็กๆ ให้ไปแต่ส่วนที่สำคัญ คือ พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ๑ องค์ เบื้องซ้ายอีก ๑ องค์ ซึ่งเราเรียกกันต่อมาว่า “พระทันตธาตุ” นั้น พระเขมะเถระซึ่งเป็นพระสาวกอาวุโสได้กำบังผู้คนที่ห้อมล้อมนำออกมาได้เพื่อจะได้นำไปถวายพระมหากษัตริย์จากแว่นแค้วนภาคกลางและภาคใต้ชมพูทวีปบ้างต่อมาความลับเรื่องนี้ถูกเปิดเผยหลังจากกาลเวลาล่วงมาถึง ๘๐๐ ปี ว่าพระทันตธาตุได้ตกไปอยู่ที่เมืองทันตปุระ ทำให้กษัตริย์เมืองอื่นๆ คือ พระเจ้าขรีราภราชแห่งเมืองรัฐมคธ และรัฐกาลิงค์ ยกกองทัพใหญ่มาแย่งชิงที่เมืองปาตาลีบุตร เพราะขณะนั้นพระทันตธาตุได้ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ที่เมืองนั้นแล้ว แต่กษัตริย์แห่งรัฐกาลิงค์รบแพ้พระเจ้าลิวราชแห่งปาตาลีบุตร ต่อมาทันตธาตุถูกเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานไว้ที่เกาะลังกา เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นเรื่องยืดยาวจับเอาเป็นว่าพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าลอยทะเลมาประดิษฐ์ติดอยู่ที่หาดทรายแก้วของเผ่าเนกรีตอสในสมัยนั้น และพระสารีริกธาตุอยู่ที่นั้นชั่วกาลเวลาหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดประกาศอยู่ในหนังสือตำนานพระบรมธาตุแล้ว เหตุการณ์ที่ทำให้ถึงกษัตริย์เมืองต่าง ๆทำศึกสงครามกัน ทหารผู้คนล้มตายเหลือคณานับนั้น แสดงให้เห็นว่าความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับนับถือเลื่อมใสมีมากขึ้นรวดเร็วอย่างมหาศาล จนถึงกับทำให้ศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ ในชมพูทวีปหวั่นไหวในความอยู่รอดของตนไปตามๆ กัน”
“ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพานไม่นานศาสนาพราหมณ์ที่ครองความเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของชาวฮินดูมาก่อนเป็นพันๆ ปีก็เริ่มรู้สึกหวั่นไหวเพราะได้เห็นศาสนาพุทธแพร่หลายลุกรวดเร็วกระจายออกไปทั่วสารทิศในชมพูทวีปราวกับไฟไหม้ป่าจึงทำให้พราหมณ์ผู้อาวุโสทั้งหลายต่างรู้สึกว่าจะต้องหาทางยับยั้งหรืออย่างน้อยก็ให้เคียงคู่ขนานกันไปกับศาสนาพุทธ และจะจำกัดวงอยู่แต่ในชมพูทวีปแห่งเดียวก็ไม่ได้ ควรขยายเผยแพร่ออกไปยังดินแดนต่างทวีปด้วยความคิดนี้ถือเป็นหลักการปฏิบัติอันสำคัญยิ่งของศาสนาพราหมณ์ในสมัยเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้วจึงดำเนินการเผยแพร่ตามแบบพิธีพราหมณ์ โดยส่วนใหญ่ก็มุ่งไปทางตะวันออก (ตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย)”
เส้นทางจาริกของพราหมณ์
ส่วนใหญ่ของชาวฮินดูในประเทศอินเดียแม้ในขณะนี้นับถือศาสนาพราหมณ์ผู้นับถือไม่จำเป็นต้องเป็น “นักบวช” คืออำนาจครองชีพแบบฆราวาส หมายถึงมีภรรยาและลูกก็ได้ พักอาศัยอยู่ตามนิวาสสถานบ้านช่องก็ได้คล้ายคลึงกับพระสงฆ์ชาวทิเบต แต่ทุกคนนับถือว่าตนเป็นนักบวชอยู่ตลอดเวลาปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างนักบวชทั้งหลายก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อพราหมณ์จาริกหรือทำนองอพยพไปไหนก็สามารถนำครอบครัวของตนไปด้วยก็ได้ และสามารถทำมาหากินไปตามวิถีทางของตนได้แต่ห้ามขาดเรื่องการแต่งงานกับคนนอก คือคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ เพราะพราหมณ์ถือว่ามีวรรณะรองจากกษัตริย์อยู่สูงกว่าพวกแพศย์และพวกศูทร จะไปร่วมพงศ์พันธุ์กันไม่ได้ความคิดนี้มีอยู่มากในประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้ลัทธิห้ามสมพงศ์ต่างวรรณะกับคนภายนอกนี้เท่ากับเป็นการกั้นวงล้อมของพวกพราหมณ์เอง
คณะของพราหมณ์ที่มุ่งหน้ามาทางตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นเผ่าดราวิเดียน ซึ่งอยู่ทางปลายแหลมคอมอรินทางฝั่งตะวันออก ได้ค่อยๆ ทยอยกันออกมา โดยแบ่งเป็น ๒ สาย
สายที่ ๑ เริ่มต้นจากเมืองมัทราสและใต้ลงมาตามริมฝั่งทะเลมาลาบาร์ ขบวนเรืออย่างน้อยก็ประมาณ ๑๐ ลำบ่ายโฉมหน้าพุ่งตรงไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่ทะเลอันดามันแต่เนื่องจากกลัวพวกชีเปลือยที่หมู่เกาะอันดามันซึ่งเป็นลัทธิหนึ่ง และเป็นเกาะที่เป็นดินแดนหรือขึ้นกับอินเดียจนกระทั่งบัดนี้ จึงบ่ายโฉมหน้าขบวนเรือออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแวะที่หมู่เกาะอันดามันซึ่งเป็นลัทธิหนึ่ง และเป็นหมู่เกาะที่เป็นดินแดนของอินเดียเหมือนกันแต่ก็หนีพวกชีเปลือยไม่พ้น เมื่อทนพักอยู่ระยะเวลาหนึ่งก็ออกเดินทางบ่ายโฉมหน้าสู่ช่องแคบมะละกา ระหว่างแหลมมาลายูกับเกาะสุมาตรา เห็นภูมิประเทศตอนหนึ่งทางซ้ายมืออันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน น่าตั้งรกรากหลักฐานที่นั่น จึงเลี้ยวเข้าสู่แม่น้ำสายหนึ่ง ไม่ใหญ่แต่ลึกมาก ซึ่งมีชื่อต่อมาเรียกว่าแม่น้ำนั้นว่า “แม่น้ำสุไหงบาตูปาฮัต” อยู่ในรัฐเคดาห์ พวกพราหมณ์พวกแรกนี้จึงได้ตั้งแหล่งชุมชนของพวกตนขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ “โบสถ์พราหมณ์”
โบสถ์พราหมณ์แห่งนี้บัดนี้กลายเป็นเป็นโบราณสถานอันประเทศมาเลเซียถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากที่สุดเพราะเป็นเครื่องแสดงว่าดินแดนมาเลเซียเป็นดินแดนที่มนุษย์ที่เจริญแล้วเคยมาตั้งรกรากหลักฐานอยู่ก่อนไมใช่แต่พวกคนป่า ตัวดำ ผมหยิก (หมายถึงเนกรีตอส ซึ่งในเมืองนครศรีธรรมราชก็เคยมีพวกนี้มาตั้งแหล่งอาศัยอยู่ คือที่บ้านป่าโลง ใกล้วัดใหญ่ตลาดท่าวัง แต่ความจริงเป็นเผ่าเนกรีตอสที่มีสาขาออกมา เรียกว่า “ปะหล่อง” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นชุมโลงไป) โบสถ์พราหมณ์ดังกล่าวนี้เป็นแหล่งทัศนศึกษาของประชาชนทั่วไปทั่วโลก พราหมณ์รุ่นแรกที่เข้ามาตั้งชุมชนขึ้นนี้ เนื่องจากสืบชาติพันธุ์วรรณะพราหมณ์ไม่ค่อยได้ ที่มีก็ค่อยๆ ล้มตายไปจนหมด และมีพราหมณ์คณะใหญ่ทยอยตามมา ก็มาขึ้นเรือที่ท่าเรือปะเหลียนในจังหวัดตรัง แล้วอพยพต่อมาจนเข้าเขตพัทลุง และทางตอนใต้ของเมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบันก็มีด้วย ร่องรอยหลักฐานก็มีให้เห็นอยู่จนบัดนี้
สาย ๒ การจาริกของคณะพราหมณ์สายนี้มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยมาก เพราะนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ว่าไทยหรือเทศ มักจะนึกออกถึงคำๆ หนึ่ง และชอบกันนัก คือคำว่า“ตะโกลา”
โดยมีความเป็นมาดังนี้ หลังจากพวกพราหมณ์สายที่ ๑ ตั้งหลักขึ้นครั้งแรกที่ริมแม่น้ำบาตูปาฮัตในรัฐเคดาห์ (ในมาเลเซียปัจจุบัน) ได้แล้ว ข่าวก็แพร่กระจายไปว่า ในดินแดนที่ไปพบนั้นช่างอุดมสมบูรณ์เหลือเกินจะใช้เป็นสถานที่สำคัญในการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ให้กว้างขวางออกไปได้ง่าย เป็นดินแดนใหม่ที่ไม่มีผู้คนแออัดยัดเยียด อย่างในชมพูทวีป ข่าวนี้ทำให้มีพวกพราหมณ์สายที่ ๒ มีความกระตือรือร้น และพราหมณ์สายนี้มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้าที่จะขยายศาสนาเข้าไปราชอาณาจักรกัมโพช ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบันและไปทางตะวันออกจนจรดประเทศเขมรและญวนเดี๋ยวนี้ เป็นความมุ่งหมายอันใหญ่หลวงและแก่กล้ากว่าพราหมณ์พวกแรกมาก เพราะฉะนั้นจึงได้จัดขบวนเรือขนาดใหญ่หลายสิบลำมุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยตามแผนที่ของปโตเลมี พราหมณ์พวกนี้ไม่กลัวพวกชีเปลือยที่หมู่เกาะอันดามัน ได้หยุดพักขบวนเรือที่นั้นตามสมควรแล้วก็บ่ายโฉมหน้าฝ่าคลื่นใหญ่ของทะเลอันดามันมุ่งไปทางทิศตะวันออกต่อไป จนในที่สุดก็มองเห็นแผ่นดินใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เห็นฝั่งทะเลแหว่งๆ มีเกาะแก่งสลับซับซ้อนเป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก จึงได้เคลื่อนขบวนเรือเข้าไป เห็นเป็นทำเลที่เหมาะมาก จึงขึ้นเรือที่เกาะเล็กเกาะหนึ่ง (ความจริงก็ไม่เล็กนัก) เดี๋ยวนี้ก็คือเกาะพระทองอยู่ริมฝั่งทะเลของอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา แล้วตั้งโบสถ์หรือปูชนียสถานขึ้นตามลัทธิประเพณีพราหมณ์ ตั้งเป็นชุมชนใหม่ขึ้นในหมู่บ้านที่เรียกว่า “ทุ่งตึก” ซึ่งต่อมาก็ได้รู้ว่าอยู่ในเขตปกครองของเมืองตะโกลา ความจริงพราหมณ์ทั้ง ๒ สายนี้เดิมก็มีพันธุ์และวรรณะมาจากชมพูทวีป
ความแพร่หลายของพราหมณ์ในแหลมมลายู
เพื่อให้เรื่องแคบเข้ามาสู่วัตถุประสงค์ที่จะวกเข้าหาวัดเท้าโคตรจึงจะพูดถึงการขยายตัวของพราหมณ์ในขอบเขตแหลมมลายู โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น
สายที่ ๑ คือ สายบาตูปาฮัต เมื่อตั้งชุมนุมชนปึกแผ่นหลายร้อยปีแล้วก็ค่อยเคลื่อนย้ายขึ้นออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ย่างเข้าแคว้นแดนดินซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศ“ลังกาสุกะ” สายนี้ตะลุยขึ้นไปตามเส้นทางที่กล่าวแล้ว จนเข้าเขตท้องที่เดี๋ยวนี้ซึ่งเรียกว่าเมืองสงขลา ข้ามทะเลสาบเข้าสู่อำเภอสะทิงพระและระโนด บางพวกก็ตัดข้ามทะเลสาบตรงไปทางตะวันตกไปตั้งชุมนุมชนขึ้นที่บางแก้ว เขตจังหวัดพัทลุง และไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ข้ามแม่น้ำท่าเสม็ดทางเหนือ เข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราชทางด้านใต้ แล้วเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ผ่านอำเภอชะอวด ร่อนพิบูลย์ จนเข้าถึงย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นพวกเนกรีตอส เจ้าถิ่นเดิม อพยพขึ้นไปอยู่แถวริมภูเขาบันทัด อันเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของแหลมมลายูตอนใต้หมดแล้ว เฉพาะในเขตท้องที่เรียกว่า “เขาวัง” นั้นพวกวาณิชยพราหมณ์เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะเพราะมีภูเขากำแพงล้อมลอบ และเรือสำเภาเข้าถึง (ตำบลขุนทะเลเดี๋ยวนี้) จึงได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นเสียเลย พราหมณ์สายบาตูปาฮัตนี้อาจเรียกได้ว่าสะดุดหยุดลงที่ในเขตแหลมมาลายูตอนเหนือ คือตั้งแต่รัฐเคดาห์ขึ้นมาจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งเป็นเมืองหรือชุมนุมใหญ่ๆ ขึ้นทุกแห่งที่พราหมณ์ผ่านไป แต่ละแห่งก็ตั้งอยู่เป็นร้อยๆ ปี ทิ้งรอยให้ปรากฏอยู่ทุกแห่ง โดยเฉพาะเขตเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะได้กราบเรียนต่อไป
สายที่ ๒ คือ สายตะโกลา นับว่าเป็นสายหรือคณะพราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดที่หลั่งไหลเข้ามาสู่แหลมอินโดจีน และยังแพร่เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งทำให้มีพราหมณ์เกิดเป็น ๒ พวกดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพราหมณ์สายตะโกลานี้มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า โดยมุ่งจะครอบคลุมแหลมอินโดจีนให้หมดทีเดียว จึงใช้วิธีการจาริกเป็น ๒ อย่าง คือทั้งทางน้ำและทางบก โดยชั้นแรกล่องขึ้นตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก  เดินเลียบริมแม่น้ำคีรีรัฐซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยทางตะวันออกจนถึงบ้านพาน อันเป็นชุมทางร่วมกับสาขาใหญ่ของแม่น้ำตาปีอีกสายหนึ่ง เรียกว่าแม่น้ำหลวง พราหมณ์ได้ตั้งชุมนุมชนขึ้นจนกลายเป็นเมือง เรียกว่า “จักรพาน-พาน”(ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นพุนพินคือสถานีสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้) เมื่อถึงบ้านพานแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๓ พวกพวกหนึ่งเดินบกไปสู่ทิศเหนือ ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรกัมโพช พวกหนึ่งแสวงหาเรือออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน แล่นเรือข้ามอ่าวไทยตรงไปทางทิศตะวันออก ไปขึ้นฝั่งที่ดินแดนอันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาเดี๋ยวนี้ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินท้าวเลียบริมแม่น้ำหลวง (สาขาแม่น้ำตาปี) ไปทางทิศใต้ ไปตั้งหลักฐานอยู่ที่บ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้ อีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่ ๔ เดินเท้ามุ่งไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ฝั่งทะเลของอ่าวไทย ผ่านเข้าบ้านกะแดะ (กาญจนดิษฐ์) เข้าชานเมืองนครศรีธรรมราช คือ อำเภอดอนสัก สิชล ท่าศาลา แล้วมาสะดุดหยุดลงในบริเวณที่เป็นวัดเสมาเมือง ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชเดี๋ยวนี้ ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หากถูกผิดประการใด ขอท่านผู้รู้โปรดทักท้วงขึ้น เพื่อช่วยกันทำความผิดให้เป็นความถูก
เป็นอันว่าคณะพราหมณ์ที่ออกจากชมพูทวีปเมืองรามนครแล้วข้าพเจ้าแบ่งเป็น ๒ พวก เมื่อขึ้นฝั่งแหลมมลายูได้แล้ว ก็แพร่สะพัดไปในดินแดนแหลมอินโดจีนตั้งแต่ไทยยังไม่อพยพลงมาจากประเทศจีน อาจเรียกได้ว่านอกจากพม่าและลาวแล้ว ดินแดนส่วนนี้ของแหลมอินโดจีนตกอยู่ใต้อำนาจของพราหมณ์เกือบทั้งหมด
มีข้อสังเกตว่า ทุกแห่งที่พราหมณ์ไปตั้งชุมนุมชนอยู่ที่ไหน พราหมณ์ได้สร้างเทวสถานให้ปรากฏขึ้นที่นั้นทิ้งร่องรอยให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้นับเป็นส่วนดีอันหนึ่งของลัทธิพราหมณ์ที่ข้าพเจ้ายกย่องไว้ ณ ที่นี้ด้วย พราหมณ์ ๒ สายนี้ตั้งอาณาจักรพราหมณ์ขึ้นในท้องถิ่นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสายตาบาตูปาฮัต เริ่มตั้งแต่อาณาจักรลังกาสุกะขึ้นมาทางเหนือของแหลมมลายูตั้งเมืองที่เป็นปึกแผ่นก็ที่พัทลุงเดิม เมืองสทิงปุระรอบๆ ทะเลสาบสงขลาไต่ขึ้นมาจนถึง “หาดทรายแก้ว” ของอาณาจักร “ตามพรลิงค์” ส่วนพวกที่ ๔ ของสายตะโกลา พอถึงริมฝั่งทะเลอ่าวไทยแล้ววกลงทางใต้เข้าสู่หาดทรายแก้วเหมือนกัน แต่มาตั้งรกรากหลักฐานเป็นปึกแผ่น สร้างเทวสถานที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือหอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ แผ่เนื้อที่ครอบคลุมชุมชนพราหมณ์บริเวณโดยรอบถึงวัดเสมาเมืองและเสมาชัย เฉพาะในท้องที่หาดทรายแก้วนั้น พราหมณ์สายบาตูปาฮัตขยายลุกล้ำเข้ามาจนถึงบ้านหินหลักเดี๋ยวนี้
มีหลักฐานที่เป็นเอกสารที่ระบุถึงชื่อดินแดนแห่งหนึ่งในโลก เรียกว่า “ตามพรลิงค์” ซึ่งต่อมานักประวัติศาสตร์ทั่วไปรับรองว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช นั้นก็คือแผนที่ของปโตเลมีแสดงว่า ตั้งอยู่ในแหลมมาลายู มีอาณาเขตจดฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ระหว่างท้องที่ซึ่งเรียกกันโดยนักประวัติศาสตร์ว่า “หาดทรายแก้ว” แล้วแผ่ไปจนถึงเมืองครึหิ (ไชยา) ทางตอนใต้ของตามพรลิงค์ไปก็เป็นอาณาจักร “ลังกาสุกะ”นอกจากนี้ที่เชื่อถือได้แน่ชัดก็คือจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกให้เกียรติสูงสุดแก่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ตอนที่ว่า “สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองทุกคน ลุกแต่ในเมืองนครศรีธรรมราชมา” ก็เป็นอันคำว่า “ศรีธรรมราช”ได้เข้าไปปรากฏในวงการประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก เพราะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ ชาติอังกฤษถือเป็น “แม็กนาคาตา” ของประเทศไทยที่เดียว
เมื่อพิจารณาถึงการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ในสถานที่แห่งใหม่นี้จะเห็นท้องที่ที่เรียกว่า “หาดทรายแก้ว” เป็นท้องที่ที่เหมาะสมที่สุดในสมัยนั้นทางตะวันออกจดทะเล เป็นท่าเรือพาณิชย์สากลทางตะวันตกเป็นที่นาและที่สวน ทางทิศเหนือและทิศใต้ก็จดประเทศพันธมิตรซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นศัตรูกันได้คืออาณาจักรลังกาสุกะ ดังนี้ผู้ (ตั้งตัว) เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรซึ่งเรียกชื่อทีหลังว่า “ศรีธรรมราช” นั้น จึงได้ประกอบพิธีตั้งเมือง
พิธีตั้งเมืองของท้าวโคตร
ความจริง ชื่อ ท้าวโคตร เป็นชื่อที่ประชาชนเรียกกันเอง ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรกแต่ชื่อที่ปรากฏต่อมาที่นักประวัติศาสตร์เรียกตามทางการนั้นคือ “พญาศรีธรรมาโศกราช ที่ ๑” โดยเฉลิมพระนามให้ปรากฏคล้าย ๆ กับกษัตริย์พราหมณ์ในอินเดีย
เรื่องการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช บนหาดทรายแก้วนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”พิมพ์ขึ้นโดยทางวัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในโอกาสฉลอง ๒ พุทธศตวรรษ มีข้อความตอนหนึ่งว่า 
“เมื่อมหาศักราชได้ปีนั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างสถานและหาดทราย (แก้ว) นั้นเป็นกรุงเมืองชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ได้สถาปนาอัครมเหสีชื่อนางสังคเทวีฯลฯ”
ในหนังสือตำนานดังกล่าวได้เว้นตัวเลขปีมหาศักราชไว้ ทั้งนี้เพราะเกิดความไม่แน่ใจในหลักฐานก็อาจเป็นได้ แต่ปีที่สร้างเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีในหนังสือประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็มีอยู่หลายเล่มว่า พญาศรีธรรมาโศกราช (ที่ ๑) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๐๙๘ ซึ่งตั้งเมืองนครศรีธรรมราชให้ปรากฏไว้ด้วย เรื่องนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคำศรีธรรมราชในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ที่ว่าพบที่วัดเวียง ไชยากล่าวถึงพระเจ้าจันทรภานุแห่งนครศรีธรรมราชซึ่งได้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ชั่วระยะห่างกันประมาณ ๗๐๐ ปีก็พอจะกลมกลืนกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนั้นได้ เพราะกว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์จะตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลารบพุ่งกับศัตรูทางการเมืองของพระองค์มาอย่างยากลำบาก และกว่าถึงรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี อนึ่ง ตัวเลขศักราชในหนังสือตำนาน หรือพงศาวดาร ฯลฯ เพิ่งเขียนขึ้นมาทีหลัง ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้นพอที่จะยอมรับกันได้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๑๐๙๘ ซึ่งเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองก่อนตั้งกรุงสุโขทัย
เนื่องจากท้าวโคตรหรือพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ เป็นพราหมณ์ซึ่งอยู่ในสายบาตูปาฮัต เพราะฉะนั้นการประกอบพิธีทางบ้านเมืองหรือทางศาสนาก็ล้วนแต่ต้องใช้ลัทธิพราหมณ์ทั้งสิ้น เช่นก่อนอื่นให้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบอาณาเขตเมืองทั้ง ๔ ด้านมุมกำแพงทุกมุมให้ตั้งตุ่มน้ำใบใหญ่ใส่น้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา กันข้าวยากหมากแพง ฝังหลักเมือง มีสิ่งที่ควรจดจำในเรื่องนี้ก็คือ บริเวณที่ตั้งเมืองในขณะนั้น คือที่เรียกว่า “วัดพระเวียง” เดี๋ยวนี้  ซึ่งบัดนี้ทางราชการได้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นสถานที่เลี้ยงเด็กอนาถามาหลายปีแล้ว จนบัดนี้ภาพถ่ายเจดีย์และสิ่งสำคัญที่ท่านผู้อ่านควรจะทราบไว้ด้วยก็คือ เนื่องจากพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ นับถือศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้นจึงได้สร้างเทวสถานและเทวลัยขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือตรงที่เรียกว่า “วัดท้าวโคตร” เดี๋ยวนี้ ประมาณ พ.ศ. ๑๑๑๑ สำหรับประกอบพิธีศาสนกิจตามลัทธิพราหมณ์
เทวาลัยที่พญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ สร้างขึ้นนั้น มีรูปพรรณสัณฐานดูคล้ายปล่องกลม ก่อด้วยอิฐโดยรอบทั้งหมด เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๕ วา สูงประมาณ ๘ วา ตอนบนสุดไม่มียอด แต่มีฐานยกเป็นแท่นขึ้นทางด้านตะวันออก แท่นสูงประมาณ ๒ วา กว้างประมาณ ๑ วา ตอนหน้าแท่นมีหินขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๓ ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน มีบันไดอิฐขึ้นจากฐานถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐ตารางวา ส่วนที่เหลือจากที่ทำแท่นก็กลายเป็นที่ว่าง ซึ่งต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ เทวลัยนี้ บัดนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ในวัดท้าวโคตรกลายเป็นปูชนียสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาวไทย การสร้างเทวลัยก็โดยความประสงค์ที่จะให้ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์มีโอกาสเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์บนสวรรค์ทุกพระองค์ให้มากที่สุด เมื่อถึงวันสำคัญหรือเกือบทุกวันพราหมณ์จะขึ้นไปประกอบพิธีนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีแอ่งน้ำอยู่ข้างบนด้วย อันเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธี อาจใช้เพื่อชำระร่างกายหรือดับไฟที่ต้องเผาของหอม ฯลฯ
เทวลัยนี้ ถ้าผู้สร้างเป็นผู้มีวาสนามากก็จะสร้างขึ้นใหญ่มาก เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน อย่างที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และต่อๆ มาได้สร้างไว้ที่ยอดเขาพระวิหารทางภาคอีสานติดต่อกับประเทศเขมรเดี๋ยวนี้
ส่วนเทวสถานที่พญาศรีธรรมาโศกที่ ๑ ได้สร้างไว้ อาจเป็นการชั่วคราวเพราะมีภาระในการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้นอาจเสียหายชำรุดไปตามกาลเวลาก็ได้ จึงไม่ปรากฏอยู่ หรือพระองค์อาจถือว่าอยู่ในที่จุดเดียวกับเทวาลัย หรือใช้ร่วมกันกับเทวาลัยไปด้วยก็ได้
เมื่อถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมโศกราชเสร็จสิ้นแล้ว บริเวณหาดทรายแก้วตรงนั้นก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตัวเมือง (ในบริเวณวัดพระเวียงโดยรอบ) และไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญที่ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงและยังมีเทวลัยประดิษฐานเป็นที่น่าเกรงขามอยู่ด้วย ที่ตรงนั้นจึงรกร้างอยู่นับจำนวนเป็นร้อย ๆ ปีเว้นไว้แต่ช่องทางเดินเข้าออกที่จะไปประกอบพิธีนมัสการตามลัทธิพราหมณ์บนเทวาลัยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้ตั้งขึ้นแล้ว ต่อมาก็มีการสืบสันติวงศ์ คือพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๒ ปกครองเมืองต่อมา แต่ยังคงนับถือศาสนาพราหมณ์ตามพระบิดาจนมาถึงกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งสืบทอดการปกครองเมืองต่อมา ทรงพระนามว่า “พระยาชีวกะสุชิตราช” ต้องการแสดงอำนาจให้เห็นเหมือนกับพวกพราหมณ์สายตะโกลาที่ขยายเข้าครอบคลุมอาณาจักรกัมโพชหรืออาณาจักรขอม (โบราณ) จึงได้ยกกองทัพเรือไปโจมตีกรุงละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นเมืองเอกของขอมสมัยนั้น ได้กรุงละโว้ไว้ในอำนาจเป็นที่ครั่นคร้านของกษัตริย์ขอม ต่อมาเกิดมีความสัมพันธ์ทางการสมรสโดยหลานของพระเจ้าสุชิตราชไปได้กับธิดาของกษัตริย์ขอม มีบุตรด้วยกัน ได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรขอมมีพระนามว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑” ซึ่งสร้างเทวสถานใหญ่และสวยงามที่สุดในโลกขึ้นที่ “เขาพระวิหาร” อยู่ตรงยอดเขาระหว่างจังหวัดศรีสะเกษของไทยกับเขมรเดี๋ยวนี้ เทวสถานเขาพระวิหารได้สร้างสืบทอดติดต่อกันมาหลายองค์กษัตริย์ นับว่าเป็นเทวสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาวโลกทั่วไปสืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ กษัตริย์พระองค์นี้มีเดชานุภาพมาก สืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุชิตราช (พระยาชีวกะ) ซึ่งไปจากแหลมมลายูหรือนครศรีธรรมราช
กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราช นักประวัติศาสตร์ถือว่ามีพระยศเป็นพญาศรีธรรมาโศกราช สำหรับพระเจ้าสุชิตราชก็นับเป็นพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๓ ตั้งแต่ไปมีอำนาจอยู่ในกรุงละโว้แล้วก็ไม่ปรากฏกลับมายังนครศรีธรรมราชอีกเลย อาจเพราะไปช่วยหลานชายสร้างเขาพระวิหารอยู่ก็อาจเป็นได้
ข้อมูลที่ยกมาอ้างนี้เห็นได้ว่าพูดถึงเรื่องราวพราหมณ์บนแผ่นดินสยามทั่วไปและพบว่าพราหมณ์พวกที่ไปสร้างประเทศเขมรนั้น ได้นำความรู้อถรรพเวทไปเผยแพร่ด้วยแต่ชนชาติขอมจำนวนหนึ่งได้นำวิชาความรู้ด้านนี้ไปใช้ในทางเสื่อมเสีย จึงทำให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีทำให้มองว่าไสยเวทสายของขอมเป็นสายที่ชั่วร้าย ต่อมาถึงกับแบ่งกันชัดเจนว่าเป็นไสยดำไสยขาว สายที่ชั่วร้ายเป็นไสยดำ สายที่ยังคงบริสุทธิ์ ประกอบพิธีกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่อความสงบสุขของหมู่ชน และช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้ายได้ชื่อว่าเป็นไสยขาว ไสยเวทสายเขมรจึงถูกจัดเป็นไสยดำจำนวนหนึ่งไสยขาวจำนวนหนึ่งแต่ส่วนใหญ่จัดเป็นไสยดำ แต่สำหรับไสยเวทสายสำนักเขาอ้อส่วนใหญ่จะถูกจัดเป็นไสยขาว เพราะต่อมามีการถ่ายทอดวิชาให้กับพระซึ่งพระถูกพระธรรมวินัยกำหนดให้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้าย ด้วยเหตุนี้ ไสยเวทสายเขาอ้อจึงมีภาพพจน์ที่ดีกว่าสายเขมร
ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปถึงประวัติของเขาอ้อขอพูดถึงประวัติของพราหมณ์สายที่อพยพลงไปที่พัทลุงเสียก่อนสักเล็กน้อยเพื่อจะเป็นหลักฐานว่าข้อสันนิษฐานของผู้เขียนมีส่วนถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรสำหรับเรื่องของพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองพัทลุงเก่าได้ค้นพบหลักฐานเป็นลายลักอักษรในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภายใต้ ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ซึ่งจัดทำโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษาในหนังสือดังกล่าวได้เขียนถึงพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองพัทลุงไว้ตอนหนึ่งว่า
“...เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภาคใต้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมาพร้อมกับเมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองพัทลุงนานแล้ว ตามตำนานคำเล่ากันว่าในพระเจ้าอโศกมหาราชได้ปราบปรามแคว้นกลิงคราชในอินเดียทำให้ชาวอินเดียได้รับความเดือดร้อนเพราะภัยสงคราม จึงพากันอพยพมายังแหลมมลายู ชาวอินเดียส่วนหนึ่งขึ้นที่เมืองปะเหลียน แล้วเดินบกข้ามมายังเมืองพัทลุงทางช่องเขาตระ ตำบลตะโหมด ไปตั้งรกรากครั้งแรกที่บ้านท่าทิดครู ตำบลฝาละมี ตำบลหารเทา อำเภอปากพยูน ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นำศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ให้แก่ชาวพื้นเมือง
แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุโบราณสถานที่บ้านท่าทิดครูไม่ ปรากฏมีร่องรอยศาสนาพราหมณ์อยู่เลย แต่กลับพบร่องรอยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาคือ พระพุทธรูปปั้นปูนขนาดใหญ่ปางสมาธิ ศิลปะท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุสมัยหลังตำนานมาก
หลังฐานทางศาสนาพราหมณ์ที่พอจะเชื่อถือได้คือ โบสถ์พราหมณ์ที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนนอำเภอเขาชัยสน ซึ่งมีร่องรอยอิฐฐานประติมากรรม ชิ้นส่วนศิวลึงค์และอุมาลึงค์หินทรายจำนวนหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าศาสนาพราหมณ์คงเข้ามาเผยแพร่ในขณะที่เมืองพัทลุงตั้งอยู่ที่โคกเมืองซึ่งอยู่ห่างจากโบสถ์พราหมณ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร
พราหมณ์เมืองพัทลุงนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิราศนครวัดตอนหนึ่งว่า “มีกิจเรื่องหนึ่งซึ่งตั้งใจจะมาหาความรู้พวกพราหมณ์ที่กัมพูชา ด้วยพราหมณ์ในกรุงเทพฯ มี ๓ พวก คือพราหมณ์พิธีที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราชพราหมณ์โหรดาจารย์มาจากเมืองพัทลุงพวกพราหมณ์พฤฒิบาศไปจากกรุงกัมพูชา เคยสืบได้ความจากพราหมณ์ที่นครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงว่าต้นสกุลพราหมณ์พิธีมาจากเมืองรามนคร ส่วนพราหมณ์โหรดาจารย์นั้นได้ความว่าต้นสกุลมาจากเมืองพาราณสี แต่พวกพราหมณ์พฤฒิบาศ สืบในกรุงเทพฯ ไม่ได้ความต้นสกุลมาจากไหน จึงหมายจะถามพวกพราหมณ์ที่กรุงกำพูชา ได้ถามพระครู บอกได้แต่ว่ามาแต่พนมไกรลาสหมายความว่ามาจากเขาไกรลาส”
การสืบสวนของผู้รู้ในปัจจุบันได้ความว่า เมืองรามนครกับเมืองพาราณสีเป็นเมืองเดียวกัน  วังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครพาราณสียังเรียกว่ารามนครอยู่จนทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่าพราหมณ์เมืองนครกับเมืองพัทลุงมาจากเมืองเดียวกัน แต่การเรียกชื่อผิดแผกแตกต่างกันไป จึงทำให้ผู้รู้ในสมัยก่อนหลงเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับพราหมณ์เมืองพัทลุงนี้จากคำบอกเล่าของพระพร้อม เขมาภิรโต อายุ ๗๔ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ปรางไชย์ ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง เล่าว่าพราหมณ์พัทลุงเรียกว่า “ พราหมณ์บัณเฑาะว์” หรือ “พราหมณ์มลิลา”ซึ่งไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด
พงศาวดารเมืองพัทลุงของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ได้กล่าวมาถึงพนักงานพิธีของฝ่ายพราหมณ์ไว้ว่าพนักงานพิธีขึ้นกับหลวงทิพมณเทียรหน้าวัง มีพราหมณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียนไชย หัวหน้าพราหมณ์ ๔ คนคือ ขุนศรีสยมภู หัวหน้าพราหมณ์ ขุนศรีลพสมัย ๑ เป็นผู้ถือบัญชีพราหมณ์ ขุนไชยปาวี ๑ ขุนสิทธิไชย ๑เป็นผู้นำเจ้าเมืองเข้าเมืองนอกจากนี้มีผู้ช่วยอีก ๔ คน คือขุนไชยธรรม ผู้ช่วย ๑ ขุนเทพมุนี ผู้ช่วย ๑ ขุนยศ ผู้ช่วย ๑ ขุนน้อย ผู้ช่วย ๑ มีพราหมณ์บัณเฑาะว์ชาวสังข์อีก ๑๒ คน ๒ คู่ ๘ คน ผลัดเปลี่ยนกันคนแกว่งบัณเฑาะว์ ๑ คู่ ๔ คน ผลัดเปลี่ยนกัน
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๓๗ ความสำคัญของพราหมณ์เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ตามหัวเมืองก็ลดความสำคัญลงทำให้การนับถือศาสนาพราหมณ์เสื่อมลง จนบางครั้งพวกพราหมณ์เองก็ได้รวมเอาศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน เพราะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ เมื่อสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไป การหาผู้สืบทอดหรือผู้ที่บวชเป็นพวกพราหมณ์ก็หาได้ยากยิ่งขึ้นเพราะเมื่อบวชแล้วก็ไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ในการพิธีต่างๆ มากพอที่จะหาปัจจัยมาจุนเจือชีวิตได้ และอีกประการหนึ่งคือบวชแล้วจะสึกไม่ได้
พวกพราหมณ์ที่เมืองพัทลุงถือตัวเองว่าเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ในอินเดียพวกพราหมณ์จึงมักเลือกตั้งบ้านเรือนไว้ในที่สูงที่ถือว่าเป็นมงคลและเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกตนมีฐานะชนชั้นสูงกว่าคนทั่วไปสถานที่ที่พวกพราหมณ์เมืองพัทลุงได้เคยตั้งบ้านเรือน ได้แก่ บ้านดอนเค็ด บ้านดอนรุม บ้านดอนยอ บ้านลำป่าบ้านไสไฟ อำเภอเมืองพัทลุง บ้านควนปิง บ้านดอนนูด อำเภอควนขนุน บ้านดอนจาย บ้านจองถนน อำเภอเขาชัยสนเป็นต้น พราหมณ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผิดแปลกไปกว่าเมืองนครศรีธรรมราช
ประเพณีของพราหมณ์เมืองพัทลุงเท่าที่ได้ถือปฏิบัติกันในปัจจุบันมีดังนี้
การเกิด เดิมจะถือปฏิบัติกันอย่างไรไม่สามรถสืบทราบได้ ปัจจุบันได้ถือปฏิบัติแบบเดียวกับคนไทยทั่วไป
การตาย ผู้ที่เป็นพราหมณ์หรือที่มีเชื้อสายพราหมณ์จะนั่งตาย สาเหตุที่พราหมณ์นั่งตายมีเรื่องเล่าทำนองนิทานว่า ในสมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่นั้น พระอิศวรกับพระพุทธเจ้าทรงเล่นซ่อนหาโดยพระอิศวรเป็นผู้ซ่อนพระองค์ก่อน โดยลงไปซ่อนที่สะดือทะเล พระพุทธเจ้าทรงหาพบ เมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเสด็จขึ้นไปซ่อนอยู่ในมวยผมของพระอิศวร พระอิศวรทรงหาเท่าไรก็ไม่พบ จึงทรงเรียกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงขานรับทำให้เสียงดังไปทั้ง ๔ ทวีป พระอิศวรก็เลยแยกสำเนียงไม่ได้ว่าจะมาจากทิศใดจึงทรงยอมแพ้ต่อพระพุทธองค์ และขอเพียงที่สำหรับพอให้พวกพราหมณ์นั่งตายเท่านั้นนอกจากนั้นไม่ต้องการอะไรอีก พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต
เมื่อพราหมณ์คนหนึ่งคนใดตาย การบรรจุโลงต้องทำเป็นรูปโกศรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยอดแหลมพอให้ผู้ตายนั่งได้ ก่อนบรรจุศพต้องอาบน้ำให้สะอาด ศพต้องนั่งท่าสมาธิ แล้วบรรจุเข้าในโกศให้หันหน้าไปทางทิศอีสานพิธีฝังต้องไปทางทิศอีสาน เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วพวกพราหมณ์ทั้งหมดจะกลับไปบ้านเจ้าภาพ แล้วรับประทานข้าวต้มบนครก เป็นอันเสร็จพิธีศพ
สำหรับป่าช้าเมืองพัทลุง เท่าที่ได้ค้นพบในเวลานี้มีอยู่ ๒ แห่ง คือที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาสนชัย ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าช้าแขกชี” และป่าช้าที่หน้าวัดดอนกรวด ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นป่าช้าที่ใช้อยู่จนทุกวันนี้ เดิมที่หน้าป่าช้านี้มีเสาหงส์ขนาดใหญ่ ๑ เสาต่อมาทางวัดดอนกรวดได้รื้อนำไปทำเป็นเสากุฏิภายในวัด ส่วนตัวหงส์ก็สูญหายไป
การบวช ผู้ที่จะบวชเป็นพราหมณ์ต้องเป็นผู้ชาย และเป็นบุตรคนแรกของตระกูล อายุ ๔๐ ปี (บางแห่งว่า ๔๒ ปี) จึงจะบวชได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วและส่วนใหญ่จะผ่านชีวิตครอบครัวมาแล้วเมื่อบวชก็สามารถอยู่กินกับภรรยาได้ในวันบวชพวกญาติพี่น้องจะมานั่งรวมกันในพิธีแล้วพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่บวชก็ให้ญาติพี่น้องนำผ้าขาวมาคลุมศีรษะผู้บวช ปลายผ้าทั้งสองให้ผู้ร่วมพิธีจับไว้แล้วโยกศีรษะผู้บวชสลับไปมา พราหมณ์ผู้ทำพิธีก็จะเป็นผู้ให้ศีลให้พร ก็เป็นอันเสร็จพิธีถือว่าเป็นพราหมณ์ได้ เรียกพราหมณ์แบบบวชนี้ว่า “พราหมณ์ญัติ” หรือ “พราหมณ์บัญญัติ”
การแต่งงาน สมัยเดิมจะเป็นอย่างไรไม่สามารถสืบทราบได้ ปัจจุบันการแต่งงานของพราหมณ์ก็เช่นเดียวกับการแต่งงานของคนไทยทั่วๆ ไปแต่ถ้าหญิงพราหมณ์แต่งงานกับชายไทยถือว่าผู้นั้นจะขาดความเป็นพราหมณ์บุตรชายที่เกิดขึ้นจะเป็นพรตเป็นพราหมณ์ไม่ได้
การแต่งกาย โดยทั่วไปแล้ว พราหมณ์จะนุ่งห่มด้วยผ้าขาว คือ เสื้อขาวธรรมดา ๑ ตัว ผ้าโจงกระเบน ๑ ผืนแต่ถ้าทำพิธีพราหมณ์จะใส่เสื้อยาวแบบราชปะแตนสีขาวคลุมทับเสื้อใน สวมหมวกแบบถุงแป้ง ห้อยคอด้วยลูกประคำ
ข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร พราหมณ์เมืองพัทลุงจะไม่กินเนื้อและปลาไหลเพราะพราหมณ์ถือว่าวัวเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์ส่วนเนื้อปลาไหล ที่พราหมณ์ไม่รับประทาน เพราะมีเรื่องเล่าทำนองนินทาว่า ในสมัยหนึ่งพระอิศวรเสด็จประพาสป่า ทรงพบกวางคู่หนึ่งกำลังร่วมสังวาสกันอยู่ พระอิศวรเกิดความกำหนัดขึ้นมาจึงแปลงกายเป็นกวางตัวผู้ร่วมสังวาสกับกวางตัวเมียต่อมาพระอิศวรเกิดความละอายใจจึงตัดอวัยวะสืบพันธ์ทิ้งไป ก็เกิดเป็นปลาไหล ด้วยความเชื่อนี้เองพราหมณ์จึงไม่กินปลาไหล 
รูปเคารพของพราหมณ์พัทลุง เท่าที่เหลือในปัจจุบัน คือ รูปพระอิศวรหล่อสำริดปางนาฏราชศิลปะอินเดียพระพิฆเนศวร พระอุมา และยังมีรูปพระโพธิสัตว์มัญชุศรีของพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานร่วมอยู่ด้วยโดยพราหมณ์เข้าใจว่าเป็นรูปพระอิศวร”
จากตำนานพราหมณ์เมืองพัทลุงที่ยกมาอ้างดังกล่าว พอจะโยงใยไปถึงการก่อตั้งสำนักเขาอ้อได้เนื่องจากตามหลักฐานพบว่าพราหมณ์เคยไปอยู่ละแวกอำเภอควนขนุน คือ ในเขตใกล้เคียงกับเขาอ้อและที่ว่าพราหมณ์ชอบตั้งที่พำนักสูง ๆ เพราะถือว่าตัวเองเป็นชนชั้นสูงโดยเฉพาะพราหมณ์ผู้เรืองเวทย์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องการที่สูงอาศัยอยู่และต้องการสถานที่สงบเงียบเพื่อการบำเพ็ญพรต
ในละแวกอำเภอควนขนุน เขาอ้อถือเป็นชัยภูมิที่ดีมากแห่งหนึ่ง เส้นทางคมนาคมในอดีต คือ ลำคลองผ่านหน้าเขาภายในเขามีถ้ำกว้างใหญ่ เย็น สบาย รอบ ๆ เขาเป็นที่อยู่ของชาวบ้านและที่สำคัญอยู่ไม่ห่างตัวเมืองพัทลุงเก่ามากนักด้วยเหตุนี้อาจจะมีพราหมณ์ผู้เรืองเวทสักกลุ่มได้ตั้งสำนักขึ้นเพื่อถ่ายทอดวิทยาการของพราหมณ์สู่ลูกหลานพราหมณ์รวมทั้งลูกหลานกษัตริย์ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์โดยตรงที่จะต้องทำหน้าที่ราชครูให้เหล่าพระวงศ์และองค์รัชทายาทในเมืองต่างๆ ด้วยเหตุนี้วัดเขาอ้อ แม้ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัด มีพระเป็นเจ้าอาวาสแล้วเจ้าเมืองต่างๆ ก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียน

ข้อมูลคัดลอกจากหนังสือ “เขาอ้อ วิทยาลัยไสยเวทแห่งสยาม” โดย เวทย์ วรวิทย์

Pin It