พิธีตั้งเมืองของท้าวโคตร
ความจริง ชื่อ ท้าวโคตร เป็นชื่อที่ประชาชนเรียกกันเอง ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรกแต่ชื่อที่ปรากฏต่อมาที่นักประวัติศาสตร์เรียกตามทางการนั้นคือ “พญาศรีธรรมาโศกราช ที่ ๑” โดยเฉลิมพระนามให้ปรากฏคล้าย ๆ กับกษัตริย์พราหมณ์ในอินเดีย
เรื่องการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช บนหาดทรายแก้วนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”พิมพ์ขึ้นโดยทางวัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในโอกาสฉลอง ๒ พุทธศตวรรษ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อมหาศักราชได้ปีนั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างสถานและหาดทราย (แก้ว) นั้นเป็นกรุงเมืองชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ได้สถาปนาอัครมเหสีชื่อนางสังคเทวีฯลฯ”
ในหนังสือตำนานดังกล่าวได้เว้นตัวเลขปีมหาศักราชไว้ ทั้งนี้เพราะเกิดความไม่แน่ใจในหลักฐานก็อาจเป็นได้ แต่ปีที่สร้างเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีในหนังสือประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็มีอยู่หลายเล่มว่า พญาศรีธรรมาโศกราช (ที่ ๑) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๐๙๘ ซึ่งตั้งเมืองนครศรีธรรมราชให้ปรากฏไว้ด้วย เรื่องนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคำศรีธรรมราชในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ที่ว่าพบที่วัดเวียง ไชยากล่าวถึงพระเจ้าจันทรภานุแห่งนครศรีธรรมราชซึ่งได้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ชั่วระยะห่างกันประมาณ ๗๐๐ ปีก็พอจะกลมกลืนกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนั้นได้
เพราะกว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์จะตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลารบพุ่งกับศัตรูทางการเมืองของพระองค์มาอย่างยากลำบาก และกว่าถึงรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี อนึ่ง ตัวเลขศักราชในหนังสือตำนาน หรือพงศาวดาร ฯลฯ เพิ่งเขียนขึ้นมาทีหลัง ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้นพอที่จะยอมรับกันได้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๑๐๙๘ ซึ่งเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองก่อนตั้งกรุงสุโขทัย
เนื่องจากท้าวโคตรหรือพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ เป็นพราหมณ์ซึ่งอยู่ในสายบาตูปาฮัต เพราะฉะนั้นการประกอบพิธีทางบ้านเมืองหรือทางศาสนาก็ล้วนแต่ต้องใช้ลัทธิพราหมณ์ทั้งสิ้น เช่นก่อนอื่นให้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบอาณาเขตเมืองทั้ง ๔ ด้านมุมกำแพงทุกมุมให้ตั้งตุ่มน้ำใบใหญ่ใส่น้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา กันข้าวยากหมากแพง ฝังหลักเมือง มีสิ่งที่ควรจดจำในเรื่องนี้ก็คือ บริเวณที่ตั้งเมืองในขณะนั้น คือที่เรียกว่า “วัดพระเวียง” เดี๋ยวนี้ ซึ่งบัดนี้ทางราชการได้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นสถานที่เลี้ยงเด็กอนาถามาหลายปีแล้ว จนบัดนี้ภาพถ่ายเจดีย์และสิ่งสำคัญที่ท่านผู้อ่านควรจะทราบไว้ด้วยก็คือ เนื่องจากพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ นับถือศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้นจึงได้สร้างเทวสถานและเทวลัยขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือตรงที่เรียกว่า “วัดท้าวโคตร” เดี๋ยวนี้ ประมาณ พ.ศ. ๑๑๑๑ สำหรับประกอบพิธีศาสนกิจตามลัทธิพราหมณ์
เทวาลัยที่พญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ สร้างขึ้นนั้น มีรูปพรรณสัณฐานดูคล้ายปล่องกลม ก่อด้วยอิฐโดยรอบทั้งหมด เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๕ วา สูงประมาณ ๘ วา ตอนบนสุดไม่มียอด แต่มีฐานยกเป็นแท่นขึ้นทางด้านตะวันออก แท่นสูงประมาณ ๒ วา กว้างประมาณ ๑ วา ตอนหน้าแท่นมีหินขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๓ ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน มีบันไดอิฐขึ้นจากฐานถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐ตารางวา ส่วนที่เหลือจากที่ทำแท่นก็กลายเป็นที่ว่าง ซึ่งต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ เทวลัยนี้ บัดนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ในวัดท้าวโคตรกลายเป็นปูชนียสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาวไทย การสร้างเทวลัยก็โดยความประสงค์ที่จะให้ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์มีโอกาสเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์บนสวรรค์ทุกพระองค์ให้มากที่สุด เมื่อถึงวันสำคัญหรือเกือบทุกวันพราหมณ์จะขึ้นไปประกอบพิธีนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีแอ่งน้ำอยู่ข้างบนด้วย อันเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธี อาจใช้เพื่อชำระร่างกายหรือดับไฟที่ต้องเผาของหอม ฯลฯ
เทวลัยนี้ ถ้าผู้สร้างเป็นผู้มีวาสนามากก็จะสร้างขึ้นใหญ่มาก เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน อย่างที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และต่อๆ มาได้สร้างไว้ที่ยอดเขาพระวิหารทางภาคอีสานติดต่อกับประเทศเขมรเดี๋ยวนี้
ส่วนเทวสถานที่พญาศรีธรรมาโศกที่ ๑ ได้สร้างไว้ อาจเป็นการชั่วคราวเพราะมีภาระในการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้นอาจเสียหายชำรุดไปตามกาลเวลาก็ได้ จึงไม่ปรากฏอยู่ หรือพระองค์อาจถือว่าอยู่ในที่จุดเดียวกับเทวาลัย หรือใช้ร่วมกันกับเทวาลัยไปด้วยก็ได้
เมื่อถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมโศกราชเสร็จสิ้นแล้ว บริเวณหาดทรายแก้วตรงนั้นก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตัวเมือง (ในบริเวณวัดพระเวียงโดยรอบ) และไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญที่ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงและยังมีเทวลัยประดิษฐานเป็นที่น่าเกรงขามอยู่ด้วย ที่ตรงนั้นจึงรกร้างอยู่นับจำนวนเป็นร้อย ๆ ปีเว้นไว้แต่ช่องทางเดินเข้าออกที่จะไปประกอบพิธีนมัสการตามลัทธิพราหมณ์บนเทวาลัยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้ตั้งขึ้นแล้ว ต่อมาก็มีการสืบสันติวงศ์ คือพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๒ ปกครองเมืองต่อมา แต่ยังคงนับถือศาสนาพราหมณ์ตามพระบิดาจนมาถึงกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งสืบทอดการปกครองเมืองต่อมา ทรงพระนามว่า “พระยาชีวกะสุชิตราช” ต้องการแสดงอำนาจให้เห็นเหมือนกับพวกพราหมณ์สายตะโกลาที่ขยายเข้าครอบคลุมอาณาจักรกัมโพชหรืออาณาจักรขอม (โบราณ) จึงได้ยกกองทัพเรือไปโจมตีกรุงละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นเมืองเอกของขอมสมัยนั้น ได้กรุงละโว้ไว้ในอำนาจเป็นที่ครั่นคร้านของกษัตริย์ขอม
ต่อมาเกิดมีความสัมพันธ์ทางการสมรสโดยหลานของพระเจ้าสุชิตราชไปได้กับธิดาของกษัตริย์ขอม มีบุตรด้วยกัน ได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรขอมมีพระนามว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑” ซึ่งสร้างเทวสถานใหญ่และสวยงามที่สุดในโลกขึ้นที่ “เขาพระวิหาร” อยู่ตรงยอดเขาระหว่างจังหวัดศรีสะเกษของไทยกับเขมรเดี๋ยวนี้ เทวสถานเขาพระวิหารได้สร้างสืบทอดติดต่อกันมาหลายองค์กษัตริย์ นับว่าเป็นเทวสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาวโลกทั่วไปสืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ กษัตริย์พระองค์นี้มีเดชานุภาพมาก สืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุชิตราช (พระยาชีวกะ) ซึ่งไปจากแหลมมลายูหรือนครศรีธรรมราช
กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราช นักประวัติศาสตร์ถือว่ามีพระยศเป็นพญาศรีธรรมาโศกราช สำหรับพระเจ้าสุชิตราชก็นับเป็นพญาศรีธรรมโศกราชที่ ๓ ตั้งแต่ไปมีอำนาจอยู่ในกรุงละโว้แล้วก็ไม่ปรากฏกลับมายังนครศรีธรรมราชอีกเลย อาจเพราะไปช่วยหลานชายสร้างเขาพระวิหารอยู่ก็อาจเป็นได้
ข้อมูลที่ยกมาอ้างนี้เห็นได้ว่าพูดถึงเรื่องราวพราหมณ์บนแผ่นดินสยามทั่วไปและพบว่าพราหมณ์พวกที่ไปสร้างประเทศเขมรนั้น ได้นำความรู้อถรรพเวทไปเผยแพร่ด้วยแต่ชนชาติขอมจำนวนหนึ่งได้นำวิชาความรู้ด้านนี้ไปใช้ในทางเสื่อมเสีย จึงทำให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีทำให้มองว่าไสยเวทสายของขอมเป็นสายที่ชั่วร้าย ต่อมาถึงกับแบ่งกันชัดเจนว่าเป็นไสยดำไสยขาว สายที่ชั่วร้ายเป็นไสยดำ สายที่ยังคงบริสุทธิ์ ประกอบพิธีกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่อความสงบสุขของหมู่ชน และช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้ายได้ชื่อว่าเป็นไสยขาว ไสยเวทสายเขมรจึงถูกจัดเป็นไสยดำจำนวนหนึ่งไสยขาวจำนวนหนึ่งแต่ส่วนใหญ่จัดเป็นไสยดำ แต่สำหรับไสยเวทสายสำนักเขาอ้อส่วนใหญ่จะถูกจัดเป็นไสยขาว เพราะต่อมามีการถ่ายทอดวิชาให้กับพระซึ่งพระถูกพระธรรมวินัยกำหนดให้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้าย ด้วยเหตุนี้ ไสยเวทสายเขาอ้อจึงมีภาพพจน์ที่ดีกว่าสายเขมร
ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปถึงประวัติของเขาอ้อขอพูดถึงประวัติของพราหมณ์สายที่อพยพลงไปที่พัทลุงเสียก่อนสักเล็กน้อยเพื่อจะเป็นหลักฐานว่าข้อสันนิษฐานของผู้เขียนมีส่วนถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรสำหรับเรื่องของพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองพัทลุงเก่าได้ค้นพบหลักฐานเป็นลายลักอักษรในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภายใต้ ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ซึ่งจัดทำโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษาในหนังสือดังกล่าวได้เขียนถึงพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองพัทลุงไว้ตอนหนึ่งว่า
“...เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภาคใต้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมาพร้อมกับเมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองพัทลุงนานแล้ว ตามตำนานคำเล่ากันว่าในพระเจ้าอโศกมหาราชได้ปราบปรามแคว้นกลิงคราชในอินเดียทำให้ชาวอินเดียได้รับความเดือดร้อนเพราะภัยสงคราม จึงพากันอพยพมายังแหลมมลายู ชาวอินเดียส่วนหนึ่งขึ้นที่เมืองปะเหลียน แล้วเดินบกข้ามมายังเมืองพัทลุงทางช่องเขาตระ ตำบลตะโหมด ไปตั้งรกรากครั้งแรกที่บ้านท่าทิดครู ตำบลฝาละมี ตำบลหารเทา อำเภอปากพยูน ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นำศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ให้แก่ชาวพื้นเมือง
แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุโบราณสถานที่บ้านท่าทิดครูไม่ ปรากฏมีร่องรอยศาสนาพราหมณ์อยู่เลย แต่กลับพบร่องรอยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาคือ พระพุทธรูปปั้นปูนขนาดใหญ่ปางสมาธิ ศิลปะท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุสมัยหลังตำนานมาก
หลังฐานทางศาสนาพราหมณ์ที่พอจะเชื่อถือได้คือ โบสถ์พราหมณ์ที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนนอำเภอเขาชัยสน ซึ่งมีร่องรอยอิฐฐานประติมากรรม ชิ้นส่วนศิวลึงค์และอุมาลึงค์หินทรายจำนวนหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าศาสนาพราหมณ์คงเข้ามาเผยแพร่ในขณะที่เมืองพัทลุงตั้งอยู่ที่โคกเมืองซึ่งอยู่ห่างจากโบสถ์พราหมณ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร
พราหมณ์เมืองพัทลุงนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิราศนครวัดตอนหนึ่งว่า “มีกิจเรื่องหนึ่งซึ่งตั้งใจจะมาหาความรู้พวกพราหมณ์ที่กัมพูชา ด้วยพราหมณ์ในกรุงเทพฯ มี ๓ พวก คือพราหมณ์พิธีที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราชพราหมณ์โหรดาจารย์มาจากเมืองพัทลุงพวกพราหมณ์พฤฒิบาศไปจากกรุงกัมพูชา เคยสืบได้ความจากพราหมณ์ที่นครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงว่าต้นสกุลพราหมณ์พิธีมาจากเมืองรามนคร ส่วนพราหมณ์โหรดาจารย์นั้นได้ความว่าต้นสกุลมาจากเมืองพาราณสี แต่พวกพราหมณ์พฤฒิบาศ สืบในกรุงเทพฯ ไม่ได้ความต้นสกุลมาจากไหน จึงหมายจะถามพวกพราหมณ์ที่กรุงกำพูชา ได้ถามพระครู บอกได้แต่ว่ามาแต่พนมไกรลาสหมายความว่ามาจากเขาไกรลาส”
การสืบสวนของผู้รู้ในปัจจุบันได้ความว่า เมืองรามนครกับเมืองพาราณสีเป็นเมืองเดียวกัน วังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครพาราณสียังเรียกว่ารามนครอยู่จนทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่าพราหมณ์เมืองนครกับเมืองพัทลุงมาจากเมืองเดียวกัน แต่การเรียกชื่อผิดแผกแตกต่างกันไป จึงทำให้ผู้รู้ในสมัยก่อนหลงเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับพราหมณ์เมืองพัทลุงนี้จากคำบอกเล่าของพระพร้อม เขมาภิรโต อายุ ๗๔ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ปรางไชย์ ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง เล่าว่าพราหมณ์พัทลุงเรียกว่า “ พราหมณ์บัณเฑาะว์” หรือ “พราหมณ์มลิลา”ซึ่งไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด
พงศาวดารเมืองพัทลุงของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ได้กล่าวมาถึงพนักงานพิธีของฝ่ายพราหมณ์ไว้ว่าพนักงานพิธีขึ้นกับหลวงทิพมณเทียรหน้าวัง มีพราหมณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียนไชย หัวหน้าพราหมณ์ ๔ คนคือ ขุนศรีสยมภู หัวหน้าพราหมณ์ ขุนศรีลพสมัย ๑ เป็นผู้ถือบัญชีพราหมณ์ ขุนไชยปาวี ๑ ขุนสิทธิไชย ๑เป็นผู้นำเจ้าเมืองเข้าเมืองนอกจากนี้มีผู้ช่วยอีก ๔ คน คือขุนไชยธรรม ผู้ช่วย ๑ ขุนเทพมุนี ผู้ช่วย ๑ ขุนยศ ผู้ช่วย ๑ ขุนน้อย ผู้ช่วย ๑ มีพราหมณ์บัณเฑาะว์ชาวสังข์อีก ๑๒ คน ๒ คู่ ๘ คน ผลัดเปลี่ยนกันคนแกว่งบัณเฑาะว์ ๑ คู่ ๔ คน ผลัดเปลี่ยนกัน
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๓๗ ความสำคัญของพราหมณ์เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ตามหัวเมืองก็ลดความสำคัญลงทำให้การนับถือศาสนาพราหมณ์เสื่อมลง จนบางครั้งพวกพราหมณ์เองก็ได้รวมเอาศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน เพราะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ เมื่อสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไป การหาผู้สืบทอดหรือผู้ที่บวชเป็นพวกพราหมณ์ก็หาได้ยากยิ่งขึ้นเพราะเมื่อบวชแล้วก็ไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ในการพิธีต่างๆ มากพอที่จะหาปัจจัยมาจุนเจือชีวิตได้ และอีกประการหนึ่งคือบวชแล้วจะสึกไม่ได้
พวกพราหมณ์ที่เมืองพัทลุงถือตัวเองว่าเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ในอินเดียพวกพราหมณ์จึงมักเลือกตั้งบ้านเรือนไว้ในที่สูงที่ถือว่าเป็นมงคลและเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกตนมีฐานะชนชั้นสูงกว่าคนทั่วไปสถานที่ที่พวกพราหมณ์เมืองพัทลุงได้เคยตั้งบ้านเรือน ได้แก่ บ้านดอนเค็ด บ้านดอนรุม บ้านดอนยอ บ้านลำป่าบ้านไสไฟ อำเภอเมืองพัทลุง บ้านควนปิง บ้านดอนนูด อำเภอควนขนุน บ้านดอนจาย บ้านจองถนน อำเภอเขาชัยสนเป็นต้น พราหมณ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผิดแปลกไปกว่าเมืองนครศรีธรรมราช