ชื่อวิทยานิพนธ์ ตัวตนและการธำรงความเป็นพราหมณ์นครศรีธรรมราช
ผู้เขียน มานะ ช่วยชู
สาขาวิชา สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา
ปีการศึกษา 2548
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง ตัวตนและการธำรงความเป็นพราหมณ์นครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า “ตัวตน” ของกลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคม เป็นอย่างไร และเพื่อศึกษาถึงกระบวนการเรียนรู้ในการธำรงความเป็นพราหมณ์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
จากการศึกษาพบว่า ตัวตนของกลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนที่กลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชต้องการแสดงออก กับตัวตนที่เกิดจากการรับรู้และความคาดหวังจากกลุ่มต่าง ๆ กล่าวคือ ตัวตนที่กลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชต้องการแสดง คือ ผู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากตระกูลพราหมณ์ โดยเป็นการสืบทอดทางสายเลือดทั้งนี้เป็นการสืบทอดทางฝ่ายพ่อ หรือบางกรณีเป็นฝ่ายแม่ก็ได้ และเป็นผู้ที่ธำรงไว้ซึ่งบทบาทของผู้ประกอบพิธีกรรมแบบพราหมณ์ ที่ได้ผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้จนชำนาญ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่ดำเนินตามจารีตในการปฏิบัติตัวของพราหมณ์ คือ การนุ่งขาวห่มขาว การไว้มวย การไม่บริโภคเนื้อวัว ปลาไหล เป็นต้น ในด้านชาติพันธุ์นั้นกลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชเป็นผู้มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย ไม่มีความรู้สึกเป็นคนอินเดียซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของบรรพบุรุษ ด้านความศาสนาเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งเชื่อในเรื่องวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้มีความเชื่อในเรื่องครูหมอของตระกูลอีกด้วย
ส่วนตัวตนที่สังคมคาดหวังจากพราหมณ์คือ เชื่อว่าพราหมณ์สามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังนั้นจึงเชื่อว่าการประกอบพิธีกรรมโดยพราหมณ์ จะทำให้พิธีเกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน ปัดเป่าความชั่วร้ายต่าง ๆ ในด้านตัวตนของพราหมณ์นั้นสังคมรับรู้และคาดหวังว่าพราหมณ์จะต้องสืบเชื้อสายมาจากสายตระกูลพราหมณ์ มีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมตามสถานะของพราหมณ์ ต้องแต่งชุดขาวและไว้มวย ไม่เที่ยวเตร่
จากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ มีผลกระทบต่อการแสดงตัวตนพราหมณ์มากขึ้น ความจำเป็นในด้านเศรษฐกิจทำให้พราหมณ์จะต้องพยายามรักษาความน่าเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชน ในขณะเดียวก็มีความจำเป็นในการให้ได้มาซึ่งรายได้ในการเลี้ยงชีพด้วย ดังนั้นพราหมณ์จึงมีกระบวนการเพื่อดำรงความสมดุลทั้งสองด้านเอาไว้ ประกอบด้วย การซ่อนในเรื่องค่าตอบแทน ไว้ในระบบจารีต และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ การรักษาพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม ด้วยการสร้างความโดดเด่นในการประกอบพิธีกรรม รวมทั้งการขยายพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม ด้วยการบวชพราหมณ์ การให้ความสะดวกแก่ผู้ต้องการประกอบพิธีกรรมมากขึ้น และการขยายไปสู่บทบาทของหมอดู หมอสะเดาะเคราะห์และบทบาทของร่างทรง ในด้านการดำรงตัวตนของความเป็นพราหมณ์ได้มีการปรับตัวตนใหม่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไข ด้วยการจัดการบวชพราหมณ์ขึ้นเองที่นครศรีธรรมราช แทนการบวชที่โบสถ์พราหมณ์ที่กรุงเทพฯ การสืบทอดโดยการไม่ต้องบวชพราหมณ์ การปรับลดเงื่อนไขให้มีการสืบทอดทางฝ่ายแม่ได้ด้วยนอกจากการฝ่ายพ่ออย่างเดียว นอกจากนี้กลุ่มพราหมณ์นครศรีธรรมราชยังได้ใช้ประเพณีแห่นางกระดาน ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ให้กับกลุ่มตนด้วย
สำหรับกระบวนการเรียนรู้ในการธำรงความเป็นพราหมณ์นั้น ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่1 การรับรู้ว่าตนเองเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมความพร้อม เพื่อการสืบทอดการเป็นพราหมณ์ ขั้นตอนที่ 3 การผ่านพิธีกรรมสู่การเป็นพราหมณ์ ด้วยการบวชพราหมณ์และ/หรือการ/ผ่านพิธีครอบ และขั้นตอนที่ 4 การเป็นพราหมณ์ที่สมบูรณ์ด้วยกระบวนการตอกย้ำและ/หรือปรับเปลี่ยนตัวตน เพื่อให้สามารถดำรงความเป็นพราหมณ์ต่อไปได้