ตามรอยพราหมณ์ที่วัดเขียนบางแก้ว โดย วิภีษณพราหมณ์
วัดเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
วัดเขียนบางแก้ว เป็นสถานที่ตั้งของเมืองพัทลุงในสมัยก่อน ผู้สร้างวัดเขียนบางแก้วคือ เจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงในสมัยนั้น โดยที่เจ้าพระยากรุงทอง ได้ทรงนับถือ ศาสนาพุทธและพราหมณ์ควบคู่กันไป เนื่องจากพระราชบิดาของพระเจ้ากรุงทองได้นับถือศาสนาพราหมณ์ และได้สร้างโบสถ์พราหมณ์ขึ้นในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่เหมาะในการสร้างเทวสถาน และติดกับแม่น้ำสายใหญ่ อันสมมุติให้เป็นแม่น้ำคงคา ในวัดเขียนบางแก้ว ได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุสำคัญทางศาสนาพราหมณ์หลายสิ่ง อันได้แก่ ร่องรอยของเนินที่สร้างโบสถ์พราหมณ์ ฐานศิวลึงค์ และฐานโยนิ เนินวิหารถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีพราหมณ์ ก่อนที่เจ้าพระยากรุงทองจะเป็นเจ้าเมืองพัทลุงและสร้างวัดบางแก้วขึ้น พระราชบิดาของเจ้าพระยากรุงทองนั้นเป็นพราหมณ์ที่มาจากอินเดียใต้ และได้มาตั้งรกราก สร้าง เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สถานที่ประกอบพิธีกรรมขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 และเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณของพราหมณ์ และยังค้นพบหลักเมืองพัทลุง (เก่า)
ในพุทธศตวรรษที่ 13 พ.ศ. 1482 สมัยศรีวิชัย ได้ก่อสร้าง กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ คือพระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันได้สร้างองค์ใหม่ขึ้นมา เนื่องจากองค์เก่าที่เป็นหินทรายแดงได้แตกหักไปเหลือแต่ชิ้นส่วนไว้ให้ชม) พระมหาธาตุเจดีย์ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 1493 และในปีพ.ศ. 1493 นั้นเอง เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร เศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ศิลปจีนพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว
วัดเขียนบางแก้ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 1486
จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 15-18 แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เข้าใจว่า
วัดเขียนบางแก้ว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก สมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายู จนพวกโจรสลัดได้เผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายมาก วัดเขียนบางแก้วเคยเป็นวัดร้าง ชาวพัทลุงได้บูรณะวัดเขียนบางแก้วขึ้นในปี พ.ศ. 2109 - พ.ศ. 2111 สมัยอยุธยาตอนกลาง สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เจ้าอินบุตรของพราหมณ์สน กับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน พ.ศ. 2242 สมัยพระเพทราชา พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงบูรณะพ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา