ความแพร่หลายของพราหมณ์ในแหลมมลายู
เพื่อให้เรื่องแคบเข้ามาสู่วัตถุประสงค์ที่จะวกเข้าหาวัดเท้าโคตรจึงจะพูดถึงการขยายตัวของพราหมณ์ในขอบเขตแหลมมลายู โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น
สายที่ ๑ คือ สายบาตูปาฮัต
เมื่อตั้งชุมนุมชนปึกแผ่นหลายร้อยปีแล้วก็ค่อยเคลื่อนย้ายขึ้นออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ย่างเข้าแคว้นแดนดินซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศ“ลังกาสุกะ” สายนี้ตะลุยขึ้นไปตามเส้นทางที่กล่าวแล้ว จนเข้าเขตท้องที่เดี๋ยวนี้ซึ่งเรียกว่าเมืองสงขลา ข้ามทะเลสาบเข้าสู่อำเภอสะทิงพระและระโนด บางพวกก็ตัดข้ามทะเลสาบตรงไปทางตะวันตกไปตั้งชุมนุมชนขึ้นที่บางแก้ว เขตจังหวัดพัทลุง และไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ข้ามแม่น้ำท่าเสม็ดทางเหนือ เข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราชทางด้านใต้ แล้วเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ผ่านอำเภอชะอวด ร่อนพิบูลย์ จนเข้าถึงย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งขณะนั้นพวกเนกรีตอส เจ้าถิ่นเดิม อพยพขึ้นไปอยู่แถวริมภูเขาบันทัด อันเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของแหลมมลายูตอนใต้หมดแล้ว เฉพาะในเขตท้องที่เรียกว่า “เขาวัง” นั้นพวกวาณิชยพราหมณ์เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะเพราะมีภูเขากำแพงล้อมลอบ และเรือสำเภาเข้าถึง (ตำบลขุนทะเลเดี๋ยวนี้) จึงได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นเสียเลย พราหมณ์สายบาตูปาฮัตนี้อาจเรียกได้ว่าสะดุดหยุดลงที่ในเขตแหลมมาลายูตอนเหนือ คือตั้งแต่รัฐเคดาห์ขึ้นมาจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งเป็นเมืองหรือชุมนุมใหญ่ๆ ขึ้นทุกแห่งที่พราหมณ์ผ่านไป แต่ละแห่งก็ตั้งอยู่เป็นร้อยๆ ปี ทิ้งรอยให้ปรากฏอยู่ทุกแห่ง โดยเฉพาะเขตเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะได้กราบเรียนต่อไป
สายที่ ๒ คือ สายตะโกลา
นับว่าเป็นสายหรือคณะพราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดที่หลั่งไหลเข้ามาสู่แหลมอินโดจีน และยังแพร่เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งทำให้มีพราหมณ์เกิดเป็น ๒ พวกดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพราหมณ์สายตะโกลานี้มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า โดยมุ่งจะครอบคลุมแหลมอินโดจีนให้หมดทีเดียว จึงใช้วิธีการจาริกเป็น ๒ อย่าง คือทั้งทางน้ำและทางบก โดยชั้นแรกล่องขึ้นตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก เดินเลียบริมแม่น้ำคีรีรัฐซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยทางตะวันออกจนถึงบ้านพาน อันเป็นชุมทางร่วมกับสาขาใหญ่ของแม่น้ำตาปีอีกสายหนึ่ง เรียกว่าแม่น้ำหลวง พราหมณ์ได้ตั้งชุมนุมชนขึ้นจนกลายเป็นเมือง เรียกว่า “จักรพาน-พาน”(ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นพุนพินคือสถานีสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้) เมื่อถึงบ้านพานแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๓ พวก
พวกหนึ่งเดินบกไปสู่ทิศเหนือ ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรกัมโพช พวกหนึ่งแสวงหาเรือออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน แล่นเรือข้ามอ่าวไทยตรงไปทางทิศตะวันออก ไปขึ้นฝั่งที่ดินแดนอันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาเดี๋ยวนี้ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินท้าวเลียบริมแม่น้ำหลวง (สาขาแม่น้ำตาปี) ไปทางทิศใต้ ไปตั้งหลักฐานอยู่ที่บ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้ อีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่ ๔ เดินเท้ามุ่งไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ฝั่งทะเลของอ่าวไทย ผ่านเข้าบ้านกะแดะ (กาญจนดิษฐ์) เข้าชานเมืองนครศรีธรรมราช คือ อำเภอดอนสัก สิชล ท่าศาลา แล้วมาสะดุดหยุดลงในบริเวณที่เป็นวัดเสมาเมือง ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชเดี๋ยวนี้ ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เป็นอันว่าคณะพราหมณ์ที่ออกจากชมพูทวีปเมืองรามนครแล้วข้าพเจ้าแบ่งเป็น ๒ พวก เมื่อขึ้นฝั่งแหลมมลายูได้แล้ว ก็แพร่สะพัดไปในดินแดนแหลมอินโดจีนตั้งแต่ไทยยังไม่อพยพลงมาจากประเทศจีน อาจเรียกได้ว่านอกจากพม่าและลาวแล้ว ดินแดนส่วนนี้ของแหลมอินโดจีนตกอยู่ใต้อำนาจของพราหมณ์เกือบทั้งหมด
มีข้อสังเกตว่า ทุกแห่งที่พราหมณ์ไปตั้งชุมนุมชนอยู่ที่ไหน พราหมณ์ได้สร้างเทวสถานให้ปรากฏขึ้นที่นั้นทิ้งร่องรอยให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้นับเป็นส่วนดีอันหนึ่งของลัทธิพราหมณ์ที่ข้าพเจ้ายกย่องไว้ ณ ที่นี้ด้วย พราหมณ์ ๒ สายนี้ตั้งอาณาจักรพราหมณ์ขึ้นในท้องถิ่นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสายตาบาตูปาฮัต เริ่มตั้งแต่อาณาจักรลังกาสุกะขึ้นมาทางเหนือของแหลมมลายูตั้งเมืองที่เป็นปึกแผ่นก็ที่พัทลุงเดิม เมืองสทิงปุระรอบๆ ทะเลสาบสงขลาไต่ขึ้นมาจนถึง “หาดทรายแก้ว” ของอาณาจักร “ตามพรลิงค์” ส่วนพวกที่ ๔ ของสายตะโกลา พอถึงริมฝั่งทะเลอ่าวไทยแล้ววกลงทางใต้เข้าสู่หาดทรายแก้วเหมือนกัน แต่มาตั้งรกรากหลักฐานเป็นปึกแผ่น สร้างเทวสถานที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือหอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ แผ่เนื้อที่ครอบคลุมชุมชนพราหมณ์บริเวณโดยรอบถึงวัดเสมาเมืองและเสมาชัย เฉพาะในท้องที่หาดทรายแก้วนั้น พราหมณ์สายบาตูปาฮัตขยายลุกล้ำเข้ามาจนถึงบ้านหินหลักเดี๋ยวนี้
มีหลักฐานที่เป็นเอกสารที่ระบุถึงชื่อดินแดนแห่งหนึ่งในโลก เรียกว่า “ตามพรลิงค์” ซึ่งต่อมานักประวัติศาสตร์ทั่วไปรับรองว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช นั้นก็คือแผนที่ของปโตเลมีแสดงว่า ตั้งอยู่ในแหลมมาลายู มีอาณาเขตจดฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ระหว่างท้องที่ซึ่งเรียกกันโดยนักประวัติศาสตร์ว่า “หาดทรายแก้ว” แล้วแผ่ไปจนถึงเมืองครึหิ (ไชยา) ทางตอนใต้ของตามพรลิงค์ไปก็เป็นอาณาจักร “ลังกาสุกะ”นอกจากนี้ที่เชื่อถือได้แน่ชัดก็คือจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกให้เกียรติสูงสุดแก่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ตอนที่ว่า “สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองทุกคน ลุกแต่ในเมืองนครศรีธรรมราชมา” ก็เป็นอันคำว่า “ศรีธรรมราช”ได้เข้าไปปรากฏในวงการประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก เพราะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ ชาติอังกฤษถือเป็น “แม็กนาคาตา” ของประเทศไทยที่เดียว
เมื่อพิจารณาถึงการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ในสถานที่แห่งใหม่นี้จะเห็นท้องที่ที่เรียกว่า “หาดทรายแก้ว” เป็นท้องที่ที่เหมาะสมที่สุดในสมัยนั้นทางตะวันออกจดทะเล เป็นท่าเรือพาณิชย์สากลทางตะวันตกเป็นที่นาและที่สวน ทางทิศเหนือและทิศใต้ก็จดประเทศพันธมิตรซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นศัตรูกันได้คืออาณาจักรลังกาสุกะ ดังนี้ผู้ (ตั้งตัว) เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรซึ่งเรียกชื่อทีหลังว่า “ศรีธรรมราช” นั้น จึงได้ประกอบพิธีตั้งเมือง