หลักฐานทางโบราณคดี
การพบหลักฐานทางโบราณคดีจำพวกปฏิมากรรมรูปเคารพทางศาสนาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ พระวิษณุ ที่หอพระนารายณ์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 เศียรพระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะอินเดียภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตอำเภอสิชล กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่10-11 เป็นหลักฐานยืนยันว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ได้เผยแพาเข้ามายังดินแดนนครศรีธรรมราชแล้วในระยะเวลาใกล้เคียงกัน การเข้ามาของพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้เพราะสถาบันศาสนาและความเชื่อเป็นพื้นฐานของการสร้างกฏเกณฑ์ทางสังคม (Social Control) ร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาครั้งอดีตกาลปรากฏในรูปโบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในท้องที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อันแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช
โบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีที่กล่าวถึงต่อไปนี้ แต่เดิมคงเป็น ศาสนสถาน ประจำชุมชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำลำคลองตามธรรมชาติ จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอสิชล-ท่าศาลา ปรากฏว่าชุมชนโบราณมักตั้งถิ่นฐานไม่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติเท่าใดนัก และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชุมชนโบราณที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 มักเป็นกลุ่มชุมชนนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชุมชนผู้นับถือศาสนาพุทธมหายานได้พบเป็นจำนวนมากขึ้นได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดขอม (ร้าง), วัดจอมทอง ในเขตอำเภอสิชล และวัดพระนางตรา ในเขตอำเภอท่าศาลา เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 20-23 ในพื้นที่อำเภอท่าศาลาได้พบวัดสำคัญหลายวัด ซึ่งปัจจุบันมีหลายวัดได้กลายเป็นวัดร้างไปเสียแล้ว และยังพบว่าโบราณสถานบางแห่งได้ถูกรื้อถอนเปลี่ยนแปลงเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นพุทธสถาน เช่น วัดโมคลาน เป็นต้น
ศาสนสถานและมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในอำเภอท่าศาลา มีดังต่อไปนี้
โบราณสถานวัดโมคลาน
โบราณสถานวัดมเหยงคณ์ (ร้าง)
โบราณสถานวัดตุมปัง (ร้าง)
โบราณสถานวัดเกาะพระนารายณ์
โบราณสถานวัดพระนางตรา
ศาสนสถาน : ภาพสะท้อนสังคม วัฒนธรรมในอดีตของท่าศาลา
ศาสนสถานในพื้นที่อำเภอท่าศาลาดังที่ได้คัดเลือกแหล่งสำคัญมากล่าวแล้วข้างต้นเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มรับอารยธรรมอินเดีย ชุมชนพื้นเมืองได้รับเอาพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ น่าเชื่อว่ามีชาวอินเดียโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยร่วมกับคนพื้นเมืองแล้ว และชาวอินเดียเหล่านี้คือผู้นำทางศาสนาในชุมชนทั้งในด้านปรัชญาและพิธีกรรมหากจารึกวัดมเหยงคณ์ (ร้าง) เป็นวัตถุที่พบในอำเภอท่าศาลาจริง จารึกหลักนี้คงเป็นหลักฐานที่ดีในการกล่าวอ้างถึงชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่อาศัย เผยแพร่ศาสนา และอบรมสั่งสอนวิธีการปฏิบัติพระธรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกหลักนี้เขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ฝีมือดีมากเหมือนกับการคัดลายมือโดยเจ้าของภาษาเอง เสียดายที่จารึกมีรอยหักทั้งด้านซ้าย ด้านขวา ทำให้อ่านข้อความไม่ได้ครบถ้วน ถึงกระนั้นก็ยังจับใจความสำคัญได้ว่ามีการกล่าวถึงศาสนสถาน คณะสงฆ์ การปฏิบัติธรรม การบริบาลประชาราษฎร์ และกล่าวถึงคณะพราหมณ์ด้วย ชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาเหล่านี้คงเป็นผู้วางรากฐานในการสรรสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นความแตกต่างของชาวอินเดียกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มพุทธศาสนา กลุ่มฮินดูไศวนิกาย กลุ่มฮินดูไวษณพนิกาย ชาวอินเดียหลายกลุ่มหลายเหล่าคงมาจากภูมิภาคที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งเทวาลัยพระศิวะบนยอดเขาคา อำเภอสิชล คงมาจากที่ราบสูงเดคคานตอนกลาง ฝั่งตะวันตกของอินเดียแถบเมืองไอโฮลี (ภัคพดี อยู่คงดี และนงคราญ ศรีชาย 2540 : 68-69) คงเป็นคนละกลุ่มกับเจ้าของจารึกหลักที่ 27 วัดมเหยงคณ์ (ร้าง) และกลุ่มฮินดูไวษณพนิกายแถบลุ่มน้ำคลองท่าพุดอย่างแน่นอน
ศาสนสถานซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นเพียงเนินดินอยู่ในไร่ ในสวน ในที่นา ในพื้นที่รกร้างผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ถูกทำลายลงด้วยกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติ และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์เดิมคงเป็นเทวาลัย หรือวัดในย่านชุมชน โบราณสถานที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในพื้นที่อำเภอท่าศาลาเท่าที่ สำราจพบแล้วมีจำนวน 12 แห่ง ได้แก่
1. โบราณสถานบ้านนางนำ สังข์ทอง หมู่ 2 บ้านทุ่งพัน ตำบลกลาย เขตลุ่มน้ำคลองท่าลาด พบเนินโบราณสถาน สระน้ำโบราณ ศิวลึงค์แบบประเพณีนิยม และฐานโยนิ ปัจจุบันศิวลึงค์อยู่ที่วัดดอนใคร ฐานโยนิอยู่ที่โรงเรียนวัดดอนใคร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
2. โบราณสถานบ้านนายสว่าง พรหมสุวรรณ หมู่ 2 บ้านทุ่งพัน ตำบลกลาย เขตลุ่มน้ำคลองท่าลาด พบเนินโบราณสถาน สระน้ำโบราณ ศิวลึงค์ แบบประเพณีนิยมและธรณีประตู ปัจจุบันศิวลึงค์อยู่ที่วัดดอนใคร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
3. โบราณสถานสวนนายจรูญ รัตนขวัญ หมู่ 12 บ้านทุ่งพัน ตำบลกลาย เขตลุ่มน้ำคลองท่าลาด พบเนินโบราณสถาน และสระน้ำโบราณ
4. โบราณสถานบ้านนายสุวิทย์ และนายสุวิน จ่องเย้า หมู่ 3 บ้านนาเหรง ตำบลกลาย เขตลุ่มน้ำคลองท่าลาด พบเนินโบราณสถาน สระน้ำโบราณ บ่อน้ำโบราณ ฐานโยนิ ธรณีประตูและกรอบประตู กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
5. โบราณสถานบ้านนายจำนงค์ ศรีวิมาศ หมู่ 3 บ้านนูด ตำบลกลาย เขตลุ่มน้ำคลองท่าลาด พบเนินโบราณสถาน และสระน้ำโบราณ
6. วัดมเหยงค์ (ร้าง) หมู่ 2 บ้านลุ่มโหนด ตำบลสระแก้ว เขตลุ่มน้ำคลองกลาย พบเนินโบราณสถานและชิ้นส่วนธรรมจักรดินเผา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 และสมัยอยุธยาในโบราณสถานรุ่นหลัง
7. โบราณสถานหาดทอนไม้สูง หมู่ 1 บ้านชุมโลง ตำบลสระแก้ว เขตลุ่มน้ำคลองกลาย พบพระพิมพ์ดินเผา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
8. โบราณสถานบ้านนายพัว กาญจนธานี หมู่ 4 บ้านกลาย ตำบลสระแก้ว เขตลุ่มน้ำคลองกลาย พบเนินโบราณสถานถูกขุดทำลายหมดสภาพแล้ว และศิวลึงค์ ศิลาแบบหัวเลี้ยวหัวต่อ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
9. วัดเกาะพระนารายณ์ (ร้าง) ตำบลไทยบุรี เขตลุ่มน้ำคลองท่าพุด พบเนินโบราณสถานและเทวรูปพระวิษณุศิลา 2 องค์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13
10. วัดตุมปัง (ร้าง) หมู่ 6 ตำบลไทยบุรี เขตลุ่มน้ำคลองท่าพุด พบเนินโบราณสถาน 3 เนินสระน้ำโบราณ เทวรูปพระวิษณุและฐานเสาอาคาร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
11.วัดพระนางตรา หมู่ 2 บ้านนางตรา ตำบลไทยบุรี เขตลุ่มน้ำคลองท่าพุด-คลองท่าสูง พบ ซากอุโบสถเก่า เจดีย์ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ดินเผา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 และสมัยอยุธยาในโบราณสถานรุ่นหลัง
12. วัดโมคลาน หมู่ 11 บ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน เขตลุ่มน้ำคลองปากพยิง พบซากอาคารเทวาลัย วิหาร เจดีย์ กำแพงแก้ว สระน้ำโบราณ ศิวลึงค์ ฐานโยนิ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ได้แก่ ธรณีประตู กรอบประ๖ เสาหิน ฐานเสา และชิ้นส่วนพระพุทธรูป กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และสมัยอยุธยาในโบราณสถานรุ่นหลัง ในจำนวนโบราณสถานทั้ง 12 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มฮินดูไศวนิกาย 5 แห่ง ฮินดูไวษณพนิกาย แห่ง กลุ่มพุทธศาสนา 3 แห่ง และยังไม่สามารถจัดกลุ่มได้ 2 แห่ง นอกจากชุมชนพื้นเมืองจะติดต่อค้าขายและรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียโดยตรงแล้วยังมี หลักฐานว่าชุมชนโบราณแถบอำเภอท่าศาลาติดต่อค้าขายกับชุมชนในภาคกลางของประเทศไทยด้วย ได้พบแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากโบราณสถานวัดโมคลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เรียกว่า "ทุ่งน้ำเค็ม" สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มอยู่ระหว่างคลองโต๊ะแน็งทางทิศตะวันตก และคลองอู่ตะเภา ทางด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านได้ขุดพบเหรียญเงิน บรรจุอยู่ในไห จำนวน 150 เหรียญ ที่ระดับความลึกประมาณ 1.50 เมตร จากชั้นผิวดิน เหรียญเงินในนี้มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ด้านหนึ่งมีลวดลายพระอาทิตย์สาดแสง อีกด้านหนึ่งเป็นลายศรีวัตสะ (สัญลักษณ์แห่งมงคล-Symbol of luck) พบมากในเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางของไทย ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เมืองอู่ตะเภา-เมืองดงคอน จังหวัดชัยนาท เป็นต้น กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 เหรียญแบบนี้ยังคล้ายกับเหรียญเงินที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนามและเมืองศรีเกษตร สหภาพพม่า (ณัฎฐภัทร จันทวิช 2529 : 70)
แม้ว่าเราจะไม่พบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีในอำเภอท่าศาลาแต่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่วัดใหญ่ (ร้าง) ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี ก็ได้พบทางพุทธรูปประทับยืนปางประทานธรรมศิลปะทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 จำนวน 1 องค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่วิหารโพธิ์ลังกา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และที่วัดหว้ายาน (ร้าง) ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 1 องค์ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานธรรม สภาพชำรุด พระเศียรและพระกรหักทั้ง 2 ข้าง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช อย่างไรก็ดีศิลปทวารวดีก็แสดงอิทธิพลในประติมากรรมพระพุทธรูปสำริด องค์หนึ่งที่พบที่วัดโมคลานแม้ว่าจะเป็นสมัยหลังลงมาแล้วและมีอิทธิพลศิลปะเขมรเข้ามาผสมผสาน
เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 17-18 ปรากฏว่าอิทธิพลศิลปเขมรโดดเด่นมากในงานประติมากรรม เช่น พระพุทธรูปและพระพิมพ์ดินเผา แหล่งที่สำคัญ ได้แก่ วัดพระนางตรา อำเภอท่าศาลา .วัดนาขอม (ร้าง) อำเภอสิชล, วัดพระเวียง วัดโพธิ์ท่าเรือ วัดนาสน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช และถ้ำเขาแดง อำเภอร่อนพิบูลย์
เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 20-23 ได้พบศาสนสถานร่วมสมัยอยุธยา ลักษณะเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา ได้แก่ วิหาร อุโบสถ เจดีย์ ฯลฯ แหล่งโบราณสถานวัดโมคลานเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาอยู่อาศัยในแหล่งที่เคยเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณเดิมมาก่อน ชุมชนใหม่ที่เข้ามายังแสดงให้เห็นถึงการขาดความต่อเนื่อง ขาดความเข้าใจ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชนเดิม จึงได้ดำเนินการรื้อซากอาคารศาสนสถานเก่านำวัสดุเก่าที่พอใช้การได้มาก่อสร้างศาสนสถานแห่งใหม่ เราจึงได้พบเสาหิน และกรอบประตูถูกนำมาปักไว้ในลักษณะแสดงอาณาเขตวัดหรือสถานที่ประกอบสังฆกรรม ได้พบกรอบประตูนำมาถมอัดอยู่บนฐานอาคารแห่งใหม่ ได้พบฐานโยนิและชิ้นส่วนศิวลึงค์ถูกทุบแตกเป็นชิ้น และวางกองระเกะระกะอยู่บนพื้นโดยปราศจากความสนใจเอาใจใส่ ปรากฏกาณ์เช่นนี้ปรากฏในชุมชนปัจจุบันที่ได้เข้ามาอาศัยซ้อนทับที่ที่เคยเป็นโบราณสถานเดิม เราจึงพบซากอาคารและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอยู่ในสวนยางพารา สวนผลไม้ ในที่นา และเขตบ้านเรือนราษฎร บ้านบางหลังสร้างค่อมทับโบราณสถานด้วยเหตุผลว่าเป็นที่ดอนไม่ต้องถมที่ หรือได้รื้อชิ้นส่วนอาคารตั้งแต่เศษอิฐที่ยังพอใช้ได้ นำมาก่อสร้างบ้านพักอาศัย หรือนำกรอบประตู ธรณีประตูมาวางไว้ตามเชิงบันไดเป็นที่เช็ดเท้า หรือล้างเท้า หรือทุบให้แตกนำมาถมที่เพื่อปลูกสร้างบ้าน เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางภูมิปัญญาระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ที่ขาดหายไป การตีความเรื่องวัฒนธรรมหินใหญ่หรือหินตั้งที่โมคลานตามที่ศาสตราจารย์ลุฟส์ และนักวิชาการอื่น ๆ ที่คล้ายกับว่าจะเชื่อตามอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาพิจารณาใหม่ โดยพิจารณาหลักฐานแวดล้อมใกล้เคียงที่มีอยู่ว่าสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวหรือไม่/อย่างไร ทั้งนี้แม้ว่าการตีความเรื่องหินตั้งจะสร้างสีสรรให้กับการศึกษาเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ก็ตาม
นอกจากโบราณสถานรุ่นที่ 2 ของวัดโมคลานซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในพื้นที่อำเภอท่าศาลาก็ได้พบวัดร่วมสมัยที่สำคัญ ได้แก่ วัดขุนโขลง (ร้าง) ตำบลหัวตะพาน พบซากเจดีย์ก่ออิฐสอดินขนาด 6x6 เมตร ความสูงของเนินดินประมาณ 3 เมตร พบพระพุทธรูปศิลาทรายแดงข้างฐานเจดีย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง พระพักตร์สี่เหลี่ยม เม็ดพระศกกลมเรียบมีไรพระศก ลักษณะพุทธศิลป์เป็นแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 อุโบสถที่วัดพระนางตราก็น่าจะเป็นศาสนสถานในสมัยอยุธยา รวมทั้งซากอุโบสถและชิ้นส่วนใบเสมาที่พบ ณ วัดมเหยงคณ์ (ร้าง) นอกจากนี้ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ได้พบร่องรอยของศาสนสถานที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบซากอาคารซึ่งถูกทับถมอยู่ในชั้นดินซึ่งในขณะนี้ ยังไม่สามารถพิจารณารูปแบบได้ว่า เป็นอาคารชนิดใดเนื่องจากยังมิได้ขุดค้นทางโบราณคดีเพียงแต่สันนิษฐานในขั้นเบื้องต้นจากการพบกำแพงแก้ว ว่าน่าจะเป็นวัดร้างในสมัยอยุธยา เหมือนกับวัดจันทร์ (ร้าง) ทางด้านทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน
การศึกษาแหล่งโบราณสถานส่วนใหญ่ในเขตอำเภอท่าศาลา ยังดำเนินการเพียงขั้นตอนการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น ปัจจุบันสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช ได้ตั้งโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานแหล่งชุมชนแรกเริ่ม จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 59 แหล่ง ในเขตพื้นที่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ร่อนพิบูลย์ พระพรหม และเมืองนครศรีธรรมราช มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคม เศาษฐกิจการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม รายละเอียดของแผนเน้นแผนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ การปรับปรุงสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ การส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริการและการประชาสัมพันธ์ และการควบคุมการใช้ที่ดิน ดังนั้นในอนาคตการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดีในพื้นที่เป้าหมายเหล่านี้คงจะมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ในด้านวิชาการและเป็นรากเหง้าของการพัฒนาทั้งมวลที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง