ชีวิตและสังคมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในบริบทสังคมอยุธยา

กับแนวคิดประวัติศาสตร์อิสระ

1. ที่มาของการศึกษา
ในสังคมสมัยอยุธยาการจัดแบ่งลำดับชนชั้นทางสังคมได้เริ่มขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ภาพที่เห็นได้ชัดคือ กษัตริย์ และกลุ่มขุนนาง มีฐานะอยู่ในชนชั้นของผู้ปกครอง และคนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ไพร่ และทาส อยู่ในฐานะของชนชั้นผู้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีพระสงฆ์ และพราหมณ์เป็นผู้อยู่ในกลุ่มที่มีสถานภาพทางสังคมพิเศษกว่าสองกลุ่มแรก สถานภาพพิเศษนี้แท้ที่จริงแล้วเกิดจากบทบาทที่แตกต่างกันนั้นเอง สำหรับความชัดเจนของการจัดแบ่งลำดับชนชั้นหรือหน้าที่ทางสังคมนี้สันนิษฐานว่าเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กลุ่มพระสงฆ์และพราหมณ์ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในราชสำนักอยุธยาไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธดูจะมีบทบาทอย่างชัดเจนในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ความเชื่อ การศึกษา และหรือการที่กษัตริย์นำศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่าพระสงฆ์จะมีสถานภาพพิเศษเพียงใดก็ตาม ทางราชสำนักอยุธยาก็พยายามเข้าทำการควบคุมบทบาทหน้าที่ และสังคมของกลุ่มพระสงฆ์ด้วยการออกกฎหมายมาควบคุม โดยปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ในขณะที่ภาพของศาสนาพราหมณ์มักสะท้อนว่ามีบทบาทในฐานะของผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นที่ปรึกษาหรือครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับกษัตริย์ หรือที่รู้จักกันในนาม ปุโรหิต ให้แก่กษัตริย์ โดยอยู่ในชนชั้นที่อยู่นอกเหนือจากการปกครองของอำนาจรัฐ เนื่องด้วยปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการควบคุมกลุ่มคนนี้น้อยมาก นอกจากนี้แล้วเรื่องราวของพราหมณ์ยังได้รับการกล่าวถึงน้อยมากเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ในสังคมอยุธยา ทั้งๆที่ “ชีพ่อพราหมณ์” (เขียนตามสำนวนเก่า) เป็นผู้มีบทบาทตั้งแต่ครั้งสถาปนากรุงศรีอยุธยาในฐานะของผู้ประกอบพิธีสถาปนากรุง แม้ว่าภาพนี้จะยังเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ก็ตามแต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพราหมณ์ในที่ผสมผสานเข้ากับความเชื่อของศาสนาพุทธในสังคมอยุธยา อย่างไรก็ตามภาพของพราหมณ์ที่รับรู้อยู่นี้เป็นการนำเสนอเพียงเรื่องราวเกี่ยวกับพราหมณ์ในบริบทหนึ่งของพราหมณ์ที่อยู่ยังศูนย์กลางของอำนาจรัฐเท่านั้น และเป็นเพียงเรื่องราวเพียงด้านหนึ่งของ “ชีวิต” พราหมณ์ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ปรากฏชัดเจนว่า เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองสำคัญของศาสนาพราหมณ์ มาไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ 10 ความสำคัญของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเห็นเป็นที่เด่นชัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชีพ่อพราหมณ์มาจากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อประกอบพิธีกรรมหลวงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีที่กล่าวมาก็ยังคงเป็นหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนา และสถาบันกษัตริย์อยู่ดี อย่างไรก็ดีได้มีเอกสารอยู่ชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาพของพราหมณ์ในอีกด้านหนึ่ง คือ “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารสมัยอยุธยาด้วยการสอบศักราชและเนื้อความ ที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพราหมณ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เอกสารชิ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของพราหมณ์ และความสัมพันธ์ของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชกับกษัตริย์แห่งราชสำนักอยุธยา (รวมถึงอำนาจของราชธานีอยุธยากับหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป)
อย่างไรก็ดีแม้ว่า ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจะมีการนำมาศึกษากันบ้างแล้วก็ตาม แต่งานส่วนใหญ่มุ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพราหมณ์นครศรีธรรมราชกับราชสำนักอยุธยาหรือกษัตริย์ หรือความสัมพันธ์กับพราหมณ์อินเดียในสมัยพระเจ้าอู่ทองหรือก่อนหน้านั้น จึงมีเหตุทำให้ภาพชีวิตของพราหมณ์ในอีกมิติหนึ่งขาดหายไป เป็นต้นว่า กฎหมายเกี่ยวกับพราหมณ์ และศักดินาของพราหมณ์ ที่แสดงนัยของความเปลี่ยนแปลงของสังคมพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช การศึกษาที่ผ่านมายังไม่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของศาสนาพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเข้ากับบริบทของสังคมอยุธยามากนักว่ามีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้แล้วเมื่อนำเอกสารอีกหลายชิ้นเท่าที่ค้นคว้าได้ในขณะนี้ก็ทำให้ภาพของพราหมณ์ในสมัยอยุธยา (โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช) เกิด “มิติ” ที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้นอกจากมีวัตถุประสงค์ที่จะนำตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเป็นตัวตั้งเพื่อสะท้อนภาพวิถีชีวิต และสังคมของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในบริบทของการปกครองหรือการควบคุมจากอยุธยาแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ เพราะเหตุใดพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รับความสนใจจากราชสำนักอยุธยาเป็นพิเศษดังปรากฏให้เห็นในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ในขณะที่ทางราชธานีอยุธยากลับไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับกฎหมาย และมาตรการควบคุมเช่นนี้ในกฎหมายตราสามดวง แต่ในกฎหมายตราสามดวงกลับปรากฏกฎหมาย และมาตรการควบคุมพระสงฆ์ชัดเจนเพียงอย่างเดียว การทำความเข้าใจในประเด็นหลังนี้จึงได้นำกรอบแนวคิดเรื่อง ประวัติศาสตร์อิสระ

2. ความรู้เรื่อง “พราหมณ์”
2.1 พราหมณ์ คือ ใคร? พราหมณ์ คือ อะไร?
มีผู้ให้คำนิยามเกี่ยวกับพราหมณ์ไว้มากมาย พราหมณ์ (Brahman) มีความหมายอยู่ 2 ลักษณะ คือ หมายถึง ศาสนาพราหมณ์ และหมายถึง นักบวชหรือผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์เองนั้นได้ใช้จำกัดความว่า พราหมณ์คือ คนที่รู้หรือศึกษาพรหม อันได้แก่ พระเวท หรือคนที่รู้หรือศึกษาดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นผู้ที่เกิดจากโอษฐ์(ปาก)ของพระพรหม พราหมณ์เป็นผู้ยึดมั่นในปรมาตมัน และอาตมัน โดยเชื่อว่าปรมาตมันสูงสุดคือ การไปรวมสถิตอยู่กับพระพรหมันอย่างนิรันดร บางท่านกล่าวว่า พราหมณ์เป็นพวกที่ดี และบริสุทธิ์ที่สุด เกิดในตระกูลวรรณะสูงสุด เป็นพระและนักปรัชญา อุทิศตัวต่อการศึกษาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ และพวกเขาได้รับความอุปถัมภ์โดยรัฐหรือคนวรรณะอื่น พวกพราหมณ์เป็นพวกมังสาวิรัติ อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ในกระแสน้ำไหล และสวมใส่ด้ายอันศักดิ์สิทธิ์ คือ สายยัณโญปวีต ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะของพราหมณ์ คนในวรรณะอื่นให้ความเคารพอย่างมากต่อพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวอารยันที่อพยพเข้ามาสู่บริเวณลุ่มน้ำสินธุ เมื่อราว 4,000-3,500 ปีมาแล้ว โดยชาวดราวิเดียนผู้เคยครอบครองพื้นที่แถบนี้ได้แพ้สงครามจึงต้องกลายเป็นทาส ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของวรรณะ ความแตกต่างระหว่างสีผิวของผู้แพ้และผู้ชนะ คือ ชาวอารยันเป็นกลุ่มคนผิวขาวส่วนชาวดราวิเดียนเป็นชาวผิวดำ จึงได้แบ่งแยกวรรณะตามสีผิว และยังเป็นการป้องกันความบริสุทธิ์ของชนชาติ พร้อมทั้งเหยียดหยามชาวดราวิเดียนที่เป็นคนพื้นเมืองว่าเป็นชนชั้นต่ำ ในยุคต้นของศาสนาพราหมณ์ พราหมณ์มีหน้าที่เพียงการดำเนินการทางศาสนาเพียงอย่างเดียว อำนาจของศาสนาพราหมณ์ต่อมาได้เพิ่มมากขึ้นเพราะพราหมณ์ได้อ้างว่าตนเป็นผู้กำเนิดมาจากพระพรหม (ซึ่งคือที่มาของคำว่า พราหมณ์) และพราหมณ์ยังเป็นผู้ที่ติดต่อกับเทพเจ้า และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์จึงได้เพิ่มมากขึ้นเพราะความเชื่อว่า พราหมณ์เป็นผู้ที่มีความรู้ในการประกอบยัญพิธีอย่างดี (เพราะถ้าหากประกอบพิธีไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดผลในทางร้าย) มีความเชี่ยวชาญในพระเวท เป็นสื่อกลางระหว่างเทพ เทวดา และมนุษย์ แม้แต่พระราชาก็จำเป็นต้องยอมรับนับถือและจ้างพราหมณ์ (ปุโรหิต) ไว้ประจำราชสำนัก พราหมณ์ในอินเดียแบ่งออกเป็น 2 นิกายสำคัญคือ ไศวนิกาย เป็นนิกายของผู้ที่นับถือพระอิศวร (พระศิวะ) และไวษณพนิกาย เป็นนิกายของผู้ที่นับถือพระนารายณ์ (วิษณุ) ศาสนาพราหมณ์ทั้งสองนิกายนี้ได้แพร่กระจายเข้าสู่ดินแดนอุษาคเนย์ในเวลาต่อมา ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป ศาสนาพราหมณ์ได้เริ่มนำเอาระบบวรรณะเข้ามาใช้ โดยการแบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 วรรณะ โดยมีพื้นฐานทางความคิดจากคัมภีร์สำคัญคือ พระเวท ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท คือ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ (ไวศยะ) และศูทร ใน ที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดในวรรณะพราหมณ์ และกษัตริย์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน วรรณะพราหมณ์ ถือเป็นวรรณะสูงสุด ทำหน้าที่ทางศาสนาอุทิศตัวต่อการศึกษาคัมภีร์ และได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐหรือคนในวรรณะอื่น พราหมณ์ถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพรหม จึงเป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าได้ ดังนั้นวรรณะอื่น และราชสำนักจึงต้องให้เกียรติแก่พราหมณ์ ในส่วนของวรรณะกษัตริย์นั้นกษัตริย์ถือว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่ควบคุม และต่อสู้กับข้าศึก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองด้วย คนกลุ่มนี้ถูกกำหนดว่าต้องให้ความเคารพพราหมณ์ ดังนั้นการติดต่อกับพระเจ้าจึงจำเป็นจะต้องอาศัยพราหมณ์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในสังคม

2.2 หน้าที่ และองค์ประกอบแห่งความเป็นพราหมณ์
องค์ประกอบที่แสดงถึงความเป็นพราหมณ์จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 5 ประการ คือ ชาติ (กำเนิด) มนต์ วรรณะ ศีล และปัญญา ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้พราหมณ์เป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างจากวรรณะอื่น โดยเฉพาะชาจิกำเนิดด้วยแล้วถือว่าจะต้องสืบเชื้อสายจากบิดามารดาที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์มาตลอด 7 ชั่วคน สิ่งที่ทำให้พราหมณ์มีฐานะพิเศษอีกประการคือ พราหมณ์เป็นผู้ที่ต้องเล่าเรียนมนต์ และพิธีกรรม โดยพราหมณ์นั้นจะต้องตั้งอยู่ในศีล นอกจากนี้แล้วการจะเข้าสู่ความเป็นพราหมณ์ได้นั้นจะต้องผ่านการบวชทวิชาติด้วย เพราะเชื่อว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่เกิดสองครั้ง จึงจะถือว่าเป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์จึงมีฐานะเพียงศาสนิกชน
หน้าที่ของพราหมณ์ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นบ้าง ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ได้กำหนดหน้าที่ของพราหมณ์ไว้โดยสรุปก็คือ เป็นผู้ที่ศึกษาพระเวท สั่งสอนศิลปวิทยาให้แก่ผู้อื่น ทำพิธีต่างๆเพื่อตนเอง และผู้อื่น ทำบุญให้ทาน และรับบุญจากผู้มีศรัทธา พราหมณ์มีหลายประเภทแตกต่างกันไปตามหน้าที่ในสมัยอยุธยามีชื่อเรียกพราหมณ์หลายจำพวกด้วยกันตามภาษาที่พราหมณ์ใช้ เช่น พราหมณ์วัยถึกภาษา พราหมณ์พาราณสีภาษา เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีปุโรหิต พราหมณ์ในตำแหน่งโล้ชิงช้า 5 ตำแหน่ง คือ ไวยทึก เวรำมเหศวร อะวะดาร บรมเทสันตรี และพญารี
ในสมัยรัตนโกสินทร์บทบาทของพราหมณ์นั้นคงลดลงมากจึงปรากฏพราหมณ์เพียง 3 ประเภท คือ
พราหมณ์พิธี คือ พวกที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราช พราหมณ์โหรดาจารย์ คือ อาจารย์บูชาไฟอันเป็นพราหมณ์พิธีเช่นกัน
พราหมณ์พฤฒิบาศ คือพวกพราหมณ์มาจากเมืองเขมรเชี่ยวชาญการจับช้าง
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พราหมณ์เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะ และสถานภาพพิเศษมากแต่ก็ล้วนเป็นบทบาททางศาสนาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม พราหมณ์ในอินเดียนั้นสามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้อีกหลายอาชีพตามที่บัญญัติไว้ในมานวธรรมศาสตร์ การได้รับสิทธิให้ประกอบอาชีพอื่นได้นี้เองทำให้ความประพฤติของพราหมณ์แปรเปลี่ยนไปเพราะความโลภ จึงปรารถนาทรัพย์ของพระราชา และชาวบ้าน
ด้วยการที่พราหมณ์เป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับเทพเจ้าด้วยการประกอบพิธีกรรมนี้เอง ตามความเชื่อของกษัตริย์ที่เชื่อว่าตนเป็นภาคหนึ่งของเทพเจ้าที่ลงมาจุติ จึงทำให้พราหมณ์ และกษัตริย์มีความเกี่ยวโยงกันในราชสำนัก พราหมณ์จึงได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากราชสำนัก

2.3 เมื่อพราหมณ์อินเดียแพร่เข้าสู่อุษาอาคเนย์
ศาสนาพราหมณ์ได้แพร่กระจายเข้ามาในอุษาอาคเนย์อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 ในอาณาจักรฟูนัน ผู้ใดที่นำศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ในภูมิภาคนี้ก่อนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่บ้างว่าเป็นพ่อค้า บ้างว่าเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์ และบ้างว่าเป็นกษัตริย์ก็มี แต่ที่แน่นอนก็คือ จะต้องเป็นพราหมณ์เท่านั้นเพราะ สามารถเผยแพร่หลักธรรมและศิลปวิทยาชั้นสูงได้ การเข้ามาของพราหมณ์นี้คงเข้ามาเพื่อประกอบพิธีกรรมให้กับกษัตริย์พื้นเมือง ซึ่งได้รับแนวคิดเรื่องการปกครองไปจากอินเดีย การใช้พราหมณ์ในการประกอบพิธีกรรมนี้ได้ช่วยทำให้พราหมณ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนัก และมีบทบาทในฐานะของผู้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆให้กับกษัตริย์ และสถาปนาความเป็นกษัตริย์ในลัทธิเทวราชา การเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ในระยะแรกนั้นคงเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่คาบสมุทรมลายูก่อน เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางการเดินเรือ และจุดกึ่งกลางของการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างอินเดียและจีน และทำให้คาบสมุทรนี้เป็นที่พักระหว่างการเดินทาง ปัจจุบันบริเวณที่พบร่องรอยของศาสนาพราหมณ์ที่เก่าแก่บริเวณคาบสมุทรมลายูแห่งงหนึ่งก็คือ นครศรีธรรมราช ได้พบหลักฐานเป็นเทวรูปเนื่องในศาสนาพราหมณ์นิกายไวษณพนิกาย และไศวนิกาย มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-10 นครศรีธรรมราช และเป็นบริเวณที่พบศาสนาพราหมณ์รุ่งเรืองอย่างมากในคาบสมุทร ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเถรวาทได้เผยแพร่เข้ามายังดินแดนอุษาอาคเนย์จึงได้เข้าแทนความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ แต่กระนั้นศาสนาพราหมณ์ก็ยังเป็นศาสนาที่ปรากฏอยู่ในราชสำนัก ด้วยเป็นศาสนาที่ส่งเสริมความเป็นกษัตริย์นั่นเอง สำหรับในราชสำนักของบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นในระยะต้นนี้ยังไม่มีหลักฐานใดมากนัก แต่ศาสนาพราหมณ์เป็นสิ่งที่ทางราชสำนักต้องให้ความสำคัญอย่างมากดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ว่ามีกรมพราหมณ์ หรือสมัยอยุธยาในกฎหมายตำแหน่งนาพลเรือนที่ตราขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถได้กำหนดศักดินาของพราหมณ์ไว้อย่างชัดเจน ในจารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราชพบที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นจารึกอักษรทมิฬ ภาษาสันสกฤต คาดว่าจารึกขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-17 ได้ปรากฏคำว่า “.....พราหมณ์....” ขึ้นแล้ว เป็นต้น

3. ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความรู้เรื่องพราหมณ์สมัยอยุธยา
กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ความรู้เรื่องพราหมณ์ในสมัยอยุธยานั้นถือว่ายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะความรู้เรื่องพราหมณ์ในพื้นที่วงนอกราชธานี เช่น เมืองนครศรีธรรมราช ทั้งๆที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางสำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่เก่าแก่ เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอัญเชิญพราหมณ์จากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีหลวง
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพราหมณ์สมัยอยุธยาในนครศรีธรรมราช ได้มีการนำไปอ้างอิงในการศึกษาเกี่ยวกับพราหมณ์พอสมควร อย่างไรก็ตามเอกสารชิ้นนี้ยังไม่มีการศึกษาเพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับภาพวิถีชีวิต และสังคมพราหมณ์มากนัก เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษากันมักให้ความสำคัญในฐานะว่าเป็นเอกสารที่แสดงถึงการติดต่อกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองรามราชในยุคต้นของประวัติศาสตร์อยุธยา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความสนใจเฉพาะเรื่อง แต่ในเอกสารชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใหญ่แล้วเป็นกฎหมายที่ออกมาจากอยุธยาเพื่อควบคุมชุนนุมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพราหมณ์เมืองนครฯ จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายตราสามดวงที่สามารถสะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิต และอำนาจของรัฐได้เช่นเดียวกัน กาญจนา สุวรรณวงศ์ (2539) ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “วิถีชีวิต พิธีกรรม และการธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มพราหมณ์ราชสำนักในสังคมไทย”ถือเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพราหมณ์ตั้งแต่สมัยในอินเดีย และโดยเฉพาะในสังคมไทยตั้งแต่สมัยที่เริ่มปรากฏหลักฐานในคาบสมุทรไทย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ได้ในหลายมิติ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์เรื่องพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับราชธานีอยุธยาเท่าที่ควร เช่นเดียวกับวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องปุโรหิตในวรรณคดีสันสกฤตและในวัฒนธรรมไทย”ของสุกัญญา ห่อประทุม (2531) โดยวิทยานิพนธ์นี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์พราหมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้
ในขุนนางกรมท่าขวา: การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2153-2435 ของ จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ (2546) ได้กล่าวถึงพราหมณ์ว่าถูกจัดอยู่ในความควบคุมของขุนนางกรมท่าขวาโดยเรียกพราหมณ์ว่า พราหมณ์เทศ หรือแขกพราหมณ์ อันหมายถึงชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในสยาม กาญจนาคพันธ์เชื่อว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่พราหมณ์พิธี แต่เป็นราษฎรธรรมดาสามัญที่มาจากอินเดียเพื่อมาทำการค้า และยังปรากฏในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนอีกด้วย นอกจากนี้แล้วพราหมณ์เหล่านี้ยังตั้งประชาคมหรือชุมชนขึ้นในอยุธยา โดยมีขุนนางตำแหน่ง “หลวงนนทเกษ” เป็นเจ้าท่าพราหมณ์เทศในสังกัดกรมท่าขวา เอกสารชิ้นนี้จึงทำให้เข้าใจมิติของพราหมณ์ที่มีมากขึ้นนอกเหนือจากเน้นเฉพาะในเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ แต่เรื่องราวของพราหมณ์ที่อยู่ในวงนอกของราชธานี เช่นที่นครศรีธรรมราชก็ไม่ได้รับการเชื่อมโยงเข้าสู่บริบทของสังคมอยุธยา
จะเห็นได้ว่า งานศึกษาเกี่ยวกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนั้นยังมีการศึกษามากเท่าที่ควรโดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้าสู่บริบทของสังคมอยุธยา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อจำกัด ขอบเขต และประเด็นที่ศึกษา สำหรับการศึกษาในครั้งนี้จึงได้นำเอกสารเรื่อง “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช” เป็นตัวตั้งในการทำความเข้าใจพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในแต่ละช่วงเวลา และนำหลักฐานอื่นๆเข้ามาประมวลเพื่อทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตามเมื่อจะนำเอกสารเรื่องนี้เข้ามาเป็นตัวตั้งแล้วก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิพากษ์เอกสารเสียก่อน เพราะจากการศึกษาในเบื้องต้นได้พบว่าเอกสารมีเงื่อนงำที่ยังน่าสงสัยอยู่โดยเฉพาะในเรื่องอายุของเอกสาร

4. วิพากษ์ “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช”
ประเด็นหลักที่จะวิพากษ์เกี่ยวกับเอกสารชิ้นนี้ก็คือ อายุของเอกสาร ระยะเวลาที่เอกสารถูกชำระ พร้อมทั้งให้ภาพของเนื้อหาโดยย่อก่อนที่จะวิเคราะห์แยกออกเป็นเรื่องราวของพราหมณ์ในที่ประกอบด้วยประเด็นทางด้านการปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ (ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป)

4.1 อายุของเอกสาร
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเอกสารที่ยังคงมีปัญหาเรื่องอายุ แต่จากการวิเคราะห์แล้วทำให้ค้นพบว่า ถ้าหากยึดอายุตามศักราช ซึ่งเป็นปี จุลศักราช และมหาศักราชแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเริ่มเรื่องด้วยมหาศักราช 1251 (พ.ศ.1872) มีกษัตริย์นามว่า สมเด็จบรเมนทร์สูรย์ธิบดี สยมภูวนารถบดินทร ไตรโลกโลกามไหยพศรีวพรมเลงโสฬศ พระองค์ทรงครองราชย์เมืองรามราช ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในอินเดียใต้ สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏจุลศักราชอยู่ 4 ศักราชคือ เริ่มเรื่องตั้งแต่จุลศักราช 712 (พ.ศ.1893) ตรงกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ตามสำนวนของเอกสารเรียกพระองค์ว่า “สมเด็จองค์นารายน์รามาธิบดี”ต่อมาเอกสารได้เริ่มเรื่องเมื่อจุลศักราช 899 (พ.ศ.2080) ตรงกับสมัยพระชัยราชาธิราช ต่อมาปรากฏจุลศักราช 911 (พ.ศ.2092) ตรงกับสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ และสุดท้ายมาจบที่จุลศักราช 1096 (พ.ศ.2277) ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (บรมโกศ) จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารชิ้นนี้จะมีศักราชระบุปีไว้อย่างชัดเจนและค่อนข้างเรียงเนื้อเรื่องตามลำดับเวลา แต่ก็ปรากฏว่า ในตอนท้ายของเอกสารชิ้นนี้ได้ปรากฏจุลศักราช 659 (พ.ศ.1840) แทรกขึ้นมา จุดนี้เองที่นักวิชาการหลายท่านได้ลดทอนความเชื่อถือของเอกสารชิ้นนี้ลง จนถึงกับไม่ใช้เอกสารชิ้นนี้ในส่วนท้ายเพื่อนำไปศึกษาเรื่องพราหมณ์ในสมัยอยุธยาตอน แต่จากการอ่านสำนวนของเอกสารแล้วทำให้สันนิษฐานได้ว่าเอกสารชิ้นนี้อาจเกิดการสลับหน้าขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนชำระเอกสารในสมัยโบราณ เรื่องราวในตอนนี้ได้ย้อนกับไปโดยปรากฏว่าเรื่องราวมีความต่อเนื่อง และปรากฏพระนามของ สมเด็จองค์นารายน์รามาธิบดีอีกครั้งหนึ่งจากการวิเคราะห์เอกสารชิ้นนี้แล้วสิ่งหนึ่งจะพบว่าเอกสารชิ้นนี้อย่างน้อยคงได้รับการชำระทั้งฉบับในสมัยอยุธยาตอนกลางหรืออยุธยาตอนปลาย ด้วยเหตุผลหลายประการนอกเหนือจากศักราชที่ระบุให้เห็นความต่อเนื่องของอายุเอกสารที่น่าจะตกทอดมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนปลาย คือ เนื้อความของเอกสารได้ปรากฏการกำหนดศักดินาของข้าราชการขุนนาง และพราหมณ์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการกำหนดศักดินานี้ได้เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในพระราชกำหนดตำแหน่งนาพลเรือน ประการต่อมาเนื้อความในสมัยพระเจ้าอู่ทองได้กล่าวว่า “.....ลูกขุนหัวเมืองแลแขกจีนไปมา ฝรั่งนานาประเทศก็ดี” (หน้า 10) จึงแสดงความไม่สมเหตุผลเพราะตามหลักฐาน “ฝรั่ง”เพิ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยชาติแรกที่เข้ามาคือ โปรตุเกส ดังนั้นจึงย่อมแสดงให้เห็นว่า เมื่อนครศรีธรรมราชหรืออยุธยาได้ติดต่อกับฝรั่งต่างชาติแล้วคงมีการชำระเอกสารขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเวลาเพราะเอกสารชิ้นนี้อยู่ในลักษณะของกฎหมายนั่นเอง แต่คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้วเอกสารชิ้นนี้ชำระครั้งสุดท้ายเมื่อใด จากการวิเคราะห์ของมานพ ถาวรวัฒน์สกุล (2547) ได้กล่าวว่า “ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 23 มีการเปลี่ยนแปลงเสนาบดีผู้ควบคุมหัวเมืองฝ่ายใต้จากสมุหพระกลาโหมมาเป็นโกษาธิบดี (หรือพระคลัง) ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”ดังนั้นจะสังเกตว่าตำนานพราหมณ์เมืองงนครศรีธรรมราชนอกจากจะเพิ่มเติมเนื้อความขึ้นมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว ในตอนต้นของตำนานในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองผู้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราชเพื่ออัญเชิญเทวรูปจากนครศรีธรรมราชมาอยุธยา และรวมถึงการดำเนินการประกอบพิธีกรรมบูชาเทวรูปประจำปีที่เมืองนครฯ ยังเป็นพระคลัง ดังเช่นเนื้อความตอนหนึ่งว่า “แลองค์นารายน์รามาธิบดี มีพระราชโองการ ตรัสให้นายพระคลัง เอาบินจัตุรภัณฑ์ส่งให้จัตุทหารเอากลับคืนไปเมืองรามราชตอบไมตรี”(หน้า 3) หรือ “แลองค์นารายน์รามาธิบดี ตรัสว่าจารีตธรรมเนียมพระนารายน์เทวารูปทำเปนประการใด แลเจ้าพญาโกษาธิบดีถามชีพ่อเบญจภาษา...” (หน้า 5) ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานว่า ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชคงมีการชำระขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานอีกว่า ในเนื้อความซึ่งจัดอยู่ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ได้มีการกล่าวถึง “..จีนสุรังวิลันดา แขกไทยนานาประเทศต่างภาษาก็ดี”(หน้า 29) ย่อมแสดงให้เห็นว่าเอกสารชิ้นนี้มีการชำระขึ้นภายหลังค่อนข้างแน่ชัด เพราะวิลันดา หรือฮอลันดาเพิ่งเข้ามาติดต่อการค้ากับอยุธยาในสมัยพระนเรศวร แต่ปรากฏบทบาทชัดเจนในสมัยพระเอกาทศรถ โดยฮอลันดากับอยุธยาทำการค้าครั้งแรกใน พ.ศ.2147 ซึ่งคำว่า “วิลันดา” นี้จะยังปรากฏในเนื้อความในสมัยขององค์นารายน์รามาธิบดี ที่มีศักราชกำกับอยู่ใน พ.ศ. 1840 ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อทำการอ่านอย่างละเอียดแล้วก็จะพบว่า เนื้อหาของเอกสารนั้นเป็นเรื่องราวของการติดต่อกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช-กรุงศรีอยุธยา-เมืองรามราชในอินเดีย ซึ่งจะปรากฏในช่วงต้นของเอกสาร และอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในตอนท้ายของเรื่องล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมชุมชนพราหมณ์เมืองนครฯ ด้วยการคุ้มครอง และลงโทษพราหมณ์ผู้กระทำผิด ดังนั้นสาระสำคัญของการชำระ ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ให้กฎหมายหรือพระราชกำหนดทั้งหลายที่ปรากฏมีความทันสมัยเพื่อให้เกิดผลของการบังคับใช้โดยกฎหมายเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ และในสัมพันธ์กับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในอยุธยาด้วย ดังนั้น พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นส่วนหนึ่งของบริบทต่อการมองภาพสังคมอยุธยาได้อีกทางหนึ่ง

4.2 เรื่องย่อจากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
ในส่วนนี้จะเป็นการเขียนสรุปอย่างย่นย่อเพื่อให้เกิดภาพของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในแต่ละรัชกาล ซึ่งปรีชา นุ่นสุข เคยได้ทำการวิเคราะห์และสรุปเนื้อหาไว้แล้วโดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน แต่จากการวิเคราะห์ในครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ตอนหลัก

ตอนที่ 1 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง (หรือองค์นารายน์รามาธิบดี)
พ.ศ.1893 องค์นารายน์รามาธิราชซึ่งครองอยู่เมืองรามราชมหานคร (พาราณสี) กับองค์นารายน์รามาธิบดีกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโดยการชักนำของนายวานิช (พ่อค้า) หลังจากนั้นกษัตริย์ทั้งสองได้กระชับความสัมพันธ์ด้วยการที่กษัตริย์เมืองรามราชได้ส่งเทวรูปพระนารายณ์พระศรีลักษมีพระมเหวารีย์บรมหงษ์ ชิงช้าทองแดง โดยมีชีพ่อเบญจภาษาเป็นผู้อัญเชิญมา เรือที่อัญเชิญเทวรูปมาได้ติดพายุอยู่ที่ปากน้ำตรัง กรมการเมืองตรังจึงส่งข่าวไปยังเจ้าพญานคร และพระหลวงกรมการ ทั้งสองจึงได้อัญเชิญเทวรูปมาไว้ยังเมืองนคร และแจ้งเรื่องต่อไปยังเจ้าพญาโกษาที่อยุธยายาเพื่อที่จะอัญเชิญเทวรูปเหล่านี้ไปที่อยุธยาอีกต่อหนึ่ง แต่สุดท้ายเทวรูปไม่ยอมไปอยุธยา จึงนำไปไว้ที่ตำบลท่าม้า เจ้าพญาโกษา (พระคลัง) จึงได้มาตรวจเมื่อเห็นตามนั้นจึงได้กลับไปอยุธยาพร้อมกับพราหมณ์ (ผแดง) ที่อัญเชิญเทวรูปมาจากอินเดีย พระเจ้าอู่ทองจึงโปรดให้ผแดงธรรมนารายน์ และผแดงศรีกาเกียสเภาลักจัน เข้าเฝ้าที่อยุธยา และแต่งตั้งให้ผแดงธรรมนารายน์ เป็นออกพระธรรมนารายน์เวทภักดีศรีรัตนโกษา ส่วนผแดงศรีกาเกียสเภาลักจัน เป็นออกพระศรีราชโภเบนทร์ภักดีศรีอาคมชุมนุม แล้วให้กลับไปดูแลเทวารูปที่เมืองนคร พร้อมกันนี้ได้ประกาศกัลปนาที่ดินสร้างหอพระเทวรูปที่เมืองนครและข้าพระชายหญิงอีก 200 คนจากอยุธยาให้ไปอยู่ยังเมืองนคร อีกด้วย พร้อมกันนี้ได้ออกกฎหมายคุ้มครองข้าพระที่กัลปนายังเมืองนคร และให้เจ้าพญาโกษาไปประกอบพิธีกรรมบูชาเทวารูปที่เมืองนครทุกปี แต่มีอยู่ปีหนึ่งนั้นเนื่องจากเจ้าพญาโกษาไม่สามารถเดินทางไปบูชาเทวรูปได้เพราะวันที่กำหนดให้ไปบูชาทุกปีนั้นตรงกับฤดูมรสุมเสมอ พราหมณ์จากเมืองนครจึงได้มาทูลขอทำพิธีกรรมบูชานี้เอง ซึ่งพระเจ้าอู่ทองก็ทรงยินยอม เนื้อหาในส่วนนี้ได้ปรากฏกฎหมายอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ กฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งคนอันเกิดจากการสมรสของข้าพระ กฎหมายคุ้มครองพราหมณ์ และกฎหมายห้ามการเรียกแรงงานและเงินจากพรามหณ์ ลูกพราหมณ์ และข้าพระ

ตอนที่ 2 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง (หรือองค์นารายน์รามาธิบดี)
ตอนที่สองที่ยังเป็นเรื่องในสมัยองค์นารายน์รามาธิบดี โดยปรากฏอยู่ในหน้า 38-44 ซึ่งห่างจากเนื้อความของตอนที่ 1 (หน้า 1-17) อยู่หลายหน้า แต่พบว่าสำนวนภาษาและเรื่องราวมีความต่อเนื่องกับเรื่องราวในตอนที่ 1 เช่น เรื่องการกัลปนาคน 200 เป็นต้น เนื้อหาในส่วนนี้กล่าวถึงราชการในเมืองนครที่อยุธยาเข้าไปควบคุม และเรื่องการพิจารณาคดีในโรงศาลเนื่องด้วยทางนครศรีธรรมราชเกิดคดีความขึ้น องค์นารายน์รามาธิบดีทรงพระกรุณามีพระราชโองการตรัสแก่ขุนพิพัฒน์โกษาให้แต่งพระกำหนดและพระธรรมสาสตร์ให้แก่ชีพราหมณ์ทั้งหลาย “...ว่าซึ่งลูกเมียพรรคพวกชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลายมีคดีสิ่งใด” (หน้า 39) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายออกมาควบคุมกำลังพลอีกหลายมาตรา ที่สำคัญได้กล่าวถึงไพร่ประเภทต่าง ๆ เช่น “ไพร่พุทสาด จีนแขกไทยฝรั่ง วิลันดานานาประเทศก็ดี คือแม่งัว พ่องัว ข้าส่วยแลอาสาแขก ไทยบโทนและนักการต่าง ๆ ภาษาก็ดี ไพร่สัมกัดพัน...ข้าพระอิศวรนารายน์ชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลายก็ดี” กฎหมายที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายคุ้มครองพราหมณ์และลงโทษพราหมณ์ด้วยการปรับไหม

ตอนที่ 3 สมัยพระชัยราชาธิราช
เนื้อความตอนนี้เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกฎหมายประกาศออกมาเพื่อคุ้มครองพราหมณ์ไม่ให้ใครเข้ามากรรโชกชีพ่อพราหมณ์และข้าพระ กฎหมายควบคุมและห้ามเรียกเข้าค่าต่าง ๆ เช่น อากร ขนอนตลาด ฤชา จากข้าพระเทวรูป 200 (ซึ่งคือข้าพระที่พระเจ้าอู่ทองได้กัลปนาให้นั่นเอง) เงินเหล่านี้ห้ามเอาเข้าคลังหลวงเพราะเป็นเงินสินทาน กฎหมายห้ามเรียกเอาข้าพระไปใช้งานต่าง ๆ เช่น การตัดหนังและเอาไปเลี้ยงช้าง
อนึ่ง ในท่อนนี้มีส่วนที่น่าสังเกตก็คือได้กล่าวถึงนารายน์เมืองหางซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงให้ความเห็นว่าเป็นพระนเรศวร ในเรื่องนี้คงจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป

ตอนที่ 4 สมัยพระมหาจักรพรรดิ์
เป็นช่วงที่มีกฎหมายต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายของชุมนุมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช และอำนาจจากส่วนกลางของอยุธยาที่สามารถเข้ามาควบคุมได้มากขึ้น
เนื้อหาได้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์เทวสถานโดยมีชีพัทลุง ชีพ่อทั้งหลายและพราหมณ์ไวธึกที่อยู่เมืองนคร นำเอาสิ่งของต่าง ๆ มาช่วยกันปฏิสังขรณ์และยังมีการกล่าวถึง “สงฆ์และพราหมณ์ตั้งกุณฑ์พิธีเข้าด้วยกัน” ในส่วนของกฎหมายได้มีกฎหมายออกมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กฎหมายที่ออกมาตักเตือนข้าราชการในท้องถิ่น ห้ามเรียกเอาเงินค่านอนไฟ และค่าทำเรือนจากพราหมณ์ กฎหมายการสืบทอดมรดกด้วยการสืบบำเหน็จต่อจากพราหมณ์ผู้ตาย กฎหมายการลงโทษผู้กระทำผิดต่อพราหมณ์ และลงโทษพราหมณ์ กฎหมายห้ามลงโทษพราหมณ์ด้วยความไม่ยุติธรรม ในระยะนี้ได้ปรากฏว่ากลุ่มพราหมณ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองนครคงมีการขยายตัวมาก เพราะได้กล่าวว่า “ปโรหิตหัวชุมนุมพราหมณ์ชีพ่อทั้งหลาย”คำว่าชุมนุมนี้ย่อมหมายถึงการที่มีชุมชนพราหมณ์เป็นจำนวนมากนั่นเอง
พิธีศพของพราหมณ์ก็มีพระกำหนดออกมาเป็นพิเศษ คือ ให้บรรจุในโรงทอง โกษฐทองตั้งเหนือราชหงส์มังกร (หน้า 21-22) และยังมีรายละเอียดของพิธีการเกี่ยวกับศพที่ถูกกำหนดอย่างแน่นอน
พราหมณ์เหล่านี้มียศถาศักดิ เช่น มีศักดินา 1600 เป็นต้น ซึ่งศักดินานี้เองเป็นตัวกำหนดอัตราการปรับไหมพราหมณ์ที่กระทำผิดผู้กระทำผิดกับพราหมณ์ ในช่วงเวลานี้ได้ปรากฏพราหมณ์ประเภทต่าง ๆ หลายพวก เช่น พราหมณ์ราชคุรูปโรหิต ชีพ่อ พราหมณ์โหดาจารย์ คุรูปอาดานมชุมนุม พราหมณ์ชุมนุม และพญาริย การปรากฏความซับซ้อนของโครงสร้างหน้าที่ของพราหมณ์ที่มากขึ้นนี้สอดคล้องกับการปรากฏคำว่า “ทวยราษฎร์กตุมภี” (หน้า 29) กตุมภีนี้คือกระฎุมพี หมายถึง กลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังทรัพย์ และยังปรากฏคำว่า วิลันดา อีกด้วย (เนื้อหาในส่วนนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่จะนำไปวิเคราะห์ในเรื่องสังคมพราหมณ์เมืองนคร)

ตอนที่ 5 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้กล่าวถึงความเสื่อมโทรมของพราหมณ์ในเมืองนครโดยรู้ข่าวไปถึงกรุงศรีอยุธยา เพราะไม่มีพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ (อุปไวยะทึกอาจารย์) ด้วยมีแต่ชาติแขกชิวิรำมเหศอาดานพิริ และไม่มีพระตำรากฎพระธรรมสาตร์พระราชกำหนด จึงมีพระราชโองการจากส่วนกลางขอให้ปลัดเมืองช่วยบำรุงพราหมณ์และเทวสถานพระนารายณ์ พระอิศวร พระวิฆิเนศร์ หากพราหมณ์ผู้ใดไม่ปฏิบัติก็ให้ลงโทษสถานหนัก หรือพราหมณ์ผู้ใดที่พ้นโทษแล้วก็อนุญาตให้กลับไปบวชพราหมณ์ใหม่ได้ และอย่าให้ชาติตระกูลพราหมณ์ “แปลกปนกันเปนหินชาติจันฑาลผิดจาริตวาริชพราหมณ์ ๆ ที่ดี ๆ ก็จะพลอยเศร้าหมองมุนทิลเสียด้วย แลจะไปสู่โทษอบายทุกข์เปนอันแท้ฯ” ในขณะเดียวกันถ้าเห็นว่าพราหมณ์ผู้ใดมีปัญญาก็ให้ปรึกษากันให้จัดเข้ามาเล่าเรียน ในกรุงศรีอยุธยา สำหรับการลงโทษพราหมณ์ได้ปรากฏไว้อย่างชัดเจนว่า “ให้ชุมนุมพราหมณ์พร้อมกันกระทำโทษ ถอดสุวรรณชักเกสาชักกุณทานเด็จทุรำถอดประวิศ สินเกสาให้นิราศสันโดษเสีย แลจักให้เข้ามาเป็นพราหมณ์ทำการมงคลพิธีสิ่งใดอีกเล่านั้น ไม่เป็นการมงคล” (หน้า 47)
จากเนื้อความที่สรุปมานี้จะเห็นได้ว่า อาจแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องราวในช่วงต้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองรามราช เมืองนครศรีธรรมราช และกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในขณะนั้นปรากฏว่าผู้นำของเมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะเพียงเจ้าพญานครเท่านั้น มีการกล่าวถึงการสถาปนาศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชโดยกษัตริย์อยุธยา และคุ้มครองพราหมณ์ ข้าพระในนครศรีธรรมราช
ต่อมาเมื่อสังคมพราหมณ์เกิดการขยายตัวมากขึ้นอย่างน้อยในสมัยพระชัยราชาธิราชจึงได้ปรากฏว่าอำนาจรัฐจากส่วนกลางของอยุธยาคงเข้าไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เนื้อหาแทบทั้งหมดกล่าวถึงเรื่องของกฎหมาย พระกำหนด หรือพระราชกำหนด พระธรรมสาสตร์ ต่างๆ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการขยายตัวของชุมชนพราหมณ์ที่อาจเกิดความวุ่นวายมากขึ้น จนท้ายที่สุดกล่าวถึงความเสื่อมโทรมของศาสนาพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชอย่างชัดเจน สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้นอกเหนือจากการวิเคราะห์ในเรื่องการเมือง การปกครองที่จะตีความออกมาจากกฎหมายที่ปรากฎแล้ว ยังจะสังเคราะห์สาเหตุที่ทางการจะต้องออกกฎหมายออกมาควบคุมจำนวนมากนี้ด้วยว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และสุดท้ายสิ่งที่ควรสังเกตก็คือในเมื่อศาสนาพราหมณ์หรือวรรณะพราหมณ์นั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์หรือวรรณะกษัตริย์อย่างใกล้ชิดตามหลักการทางศาสนาที่กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้นนี้ย่อมจะมีนัยยะสำคัญบางประการ ดังนั้นจึงได้นำแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์อิสระเข้ามาจับในประเด็นหลังนี้

5. วิถีชีวิต และสังคมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
ในราชธานีอยุธยาได้ปรากฏว่ามีการตั้งถิ่นฐานของพวกพราหมณ์อย่างชัดเจน พราหมณ์เหล่านี้มีทั้งพราหมณ์ที่ทำงานให้กับราชสำนัก และพราหมณ์ที่เข้ามาทำการค้า
5.1 วิถีชีวิต และสังคมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
5.1.1 หน้าที่ วิถีชีวิต และสังคมพราหมณ์
แม้ว่าทางราชธานีอยุธยาจะเป็นผู้ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับกลุ่มของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชก็ตาม แต่เมื่อราชธานีอยุธยาได้ล่มสลายลงกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมพราหมณ์นั้นกลับไม่ปรากฏว่าได้รวบรวมเข้าในกฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางของราชธานีได้นับถือศาสนาพุทธเป็นแกนหลัก แม้ว่าพระองค์จะอัญเชิญพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเข้ามาประกอบพิธีกรรมสมโภชราชธานีก็ตาม โดยนัยยะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ในขณะนั้น
พัฒนาการของสังคมพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชคงมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อสังเกตจากกฎหมายที่ประกาศออกมาจากส่วนกลางนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังปรากฏว่าในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ได้เกิด “ชุมชนพราหมณ์”ขึ้น ซึ่งในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์นี้เองอาจถือเป็นช่วงเวลาที่ชุนชนพราหมณ์ได้ปรากฏการขยายตัวขึ้นอย่างมาก เพราะว่าในคราวที่มีการบูรณะเทวสถานในเมืองนครศรีธรรมราชได้มี “ชีพัทลุง” คือ พราหมณ์จากเมืองพัทลุง เข้ามาร่วมในงานนี้ด้วย ทางอยุธยาเมื่อทราบข่าวก็ได้มีพระราชโองการให้พระราชทานคันหาม เก้าอี้ม้าปิดทองสลักเป็นรูปจมูกสิงห์สองชั้น สัพโทนแดงสี่คัน กันพิรุณ (ร่ม) สองคันมาถวายพระเทวารูป และยังได้พระราชทานสิ่งของให้กับออกพระจักรสุริยญาณอีกด้วย แต่ก่อนหน้านี้จะสังเกตว่าการกัลปนาข้าพระของพระเจ้าอู่ทองก็อาจแอบแฝงแด้วยผลทางการเมืองด้วย หนึ่งในนั้นคือการทำให้เกิดความเชื่อและมาตรฐานค่านิยมทางศาสนาที่เหมือนกับในอยุธยา เพราะข้าพระเหล่านี้คงจะต้องปฏิบัติกิจทางศาสนาเช่นเดียวกับที่เคยทำมาในอยุธยา เพราะการกัลปนาผู้คนเหล่านี้ไปอยู่ก็ควรเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในอยุธยาก็เป็นไปได้
หน้าที่ของพราหมณ์ พราหมณ์ที่อยู่ในราชสำนักนั้นมีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมให้กับกษัตริย์ และการถ่ายทอดศิลปวิทยาการต่างๆ อันเป็นภาพที่รับรู้กันโดยทั่วไป ตำแหน่งหน้าที่พราหมณ์ในราชสำนักอยุธยาปรากฏอยู่ชัดเจนในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน ตำแหน่งพระมหาราชครูอยู่ถึง 2 ตำแหน่ง คือ พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรหมาจาริยาธิบดีพุทธาจารย์ นาหมื่น กับ พระมหาราชครูพระราชปโรหิตตาจารย์สุภาวดีศรีบรมหงษ์องคปุริโสดมพรหมญาณวิบูลสีลสุริตวิวิธเวทยาพรหมพุทธาจารย์ นาหมื่น และยังปรากฏตำแหน่งพราหมณ์ซึ่งมีศักดินา 10,000 และ 5,000 เป็นต้น ดังนั้น ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่พราหมณ์ได้ถูกกำหนดหน้าที่ขอบเขตของอำนาจอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นจากกฎหมายศักดินา สำหรับในเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ปรากฏพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน คือ พราหมณ์ราชคุรูปโรหิต ชีพ่อพราหมณ์โหดาจารย์ พราหมณ์คุรูปอาดานมชุมนุม พราหมณ์ชุมนุม และพญาริย ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ พราหมณ์ตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ได้ถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยุธยาดังเห็นได้จากศักดินาที่ปรากฏในตำนานพราหมณ์เมืองนคร และถ้าหากจะจัดแบ่งความซับซ้อนของของพราหมณ์เหล่านี้ลงไปอีกก็จะเห็นว่า พราหมณ์ และผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในเมืองนครคงมีทั้งกลุ่มที่นับถือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระคเณศ ซึ่งเทพทั้งสามองค์ต่างมีนิกายย่อยดังเช่นในอินเดีย แต่โดยหลักแล้วก็คงมีเพียงสองนิกายหลักคือ นิกายไศวนิกาย และไวษณพนิกาย เนื่องจากพราหมณ์ในราชสำนักอยุธยามีความรู้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ จึงเป็นผู้พิจารณาชี้ตัวบทกฎหมายในคดีต่าง ๆ แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับคดี พราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ลูกขุนในศาลหลวงมีทั้งสิ้น 12 คน โดยมีมหาราชครูปุโรหิต และมหาราชครูมหิธรเป็นหัวหน้าสังกัดกรมวัง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายที่ปรากฏอยู่ในตำนานพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชนอกจากกล่าวถึงคัมาภีร์พระธรรมศาสตร์แล้วยังกล่าวถึงพระกำหนดที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจถึงหลักธรรมในศาสนาพราหมณ์ ดังเช่นบทลงโทษพราหมณ์ที่กระทำผิด ด้วยการตีด้วยไม้ไผ่และให้เนรเทศที่สำคัญคือปลงพรตสังวาลย์ โดยที่กษัตริย์ไม่สามารถลงโทษประหารชีวิตได้เพราะถือเป็นบาปหนัก แม้กระนั้นพราหมณ์ที่ถูกเนรเทศซึ่งถือเป็นโทษสถานหนักที่สุดก็ยังได้รับอนุญาตให้นำทรัพย์ติดตัวไปได้ แต่หากมีความผิดฐานเป็นกบฏจะได้รับโทษถึงตาย แต่ก็จะไม่เป็นการประหารชีวิตด้วยการตัดคอ เป็นการถ่วงลงมหาสมุทร หลักการลงโทษนี้มาจาก “คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์” ซึ่งกล่าวถึงกฎหมายและบทลงโทษผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ และรวมถึงการลงโทษแก่พราหมณ์ คัมภีร์นี้ยังได้กล่าวว่าผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และถูกพระราชาทำเครื่องหมายคนหัวขาดไว้ที่หน้าผาก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รับสิทธิและโทษเหล่านี้เช่นเดียวกับพราหมณ์ในอยุธยา นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชยังมีกฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่เหมือนกับพราหมณ์ในอินเดีย ถ้าผู้ใดทะเลาะกับพราหมณ์ก็จะโดนโทษปรับไหม และในชั้นศาลก็ยังห้ามนำเอาเงินจากพราหมณ์ ดังเช่น “พระยาและอธิบดีเสนามนตรีและหัวเมืองอำเภอที่ใดก็ดีอย่าพึงไหมเอาเงินของชีพ่อพราหมณ์ผู้พิรุธคดีแพ้สำนวนเลย แลให้ไหมเอาทองแดงแทนตามบรรดาศักดินา” ซึ่งจะมีการคำนวณที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ถูกปรับเป็นไหมเหล่านี้ก็จะไม่นำเข้าคลัง แต่จะนำไปทุ่มมหาสมุทร ในขณะที่ผู้ทำร้ายพราหมณ์นั้นก็จะใช้หลักการปรับจากศักดินาเช่นเดียวกัน ดังเช่น พระเจ้าอยู่หัวได้บัณฑูรว่าพญาหมื่นมียศถาศักดิหรือผู้ที่เป็นญาติถ้าหากล่วงเกินพราหมณ์ให้ลงโทษด้วยการใช้ไม้ไผ่ตี 50 ที และให้ปรับไหมตามศักดินา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถือศักดินา 10,000 จนถึง 20 ไร่ (ขุนนางชั้นสูงถึงไพร่นั่นเอง) ทรัพย์ที่ได้จากการปรับไหมจะตกเป็นผลประโยชน์แก่พราหมณ์
วิถีชีวิตของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางศาสนา แล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายต่างๆที่ออกมาถือเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของพราหมณ์ให้อยู่ในกรอบทางศาสนาและทางโลก ประเด็นสำคัญที่น่าสังเกตก็คือ เพราะเหตุใดพราหมณ์เหล่านี้จึงมีความขัดแย้ง หรือเรื่องราวทะเลาะวิวาทกับผู้คนต่างๆมากมาย จากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องกับคดีความการทำร้ายพราหมณ์ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองจนถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ ชาวจีน สุรัง (ซึ่งน่าจะหมายถึงชาวอินเดียจากสุรัต) วิลันดา (ฮอลันดา) ฝรั่ง แขก (หมายถึง ชาวมุสลิม) และคนไทย รวมถึงขุนนางที่ปกครองพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช ทั้งหมดนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นเพราะพราหมณ์เหล่านี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์บางอย่างนั่นอาจจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในนครศรีธรรมราชอันเป็นผลมาจากการค้า ทั้งหมดนี้แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการชำระกฎหมาย (ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช) นี้ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันถือเป็นรัชกาลสุดท้ายที่การค้าของอยุธยารุ่งเรือง และเป็นรัชกาลสุดท้ายที่ปรากฏหลักฐานในเมืองนครศรีธรรมราช
ในเรื่องของกฎหมายที่ปรากฏในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนี้พบว่าเมื่อจัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่แล้วก็จะพบว่ามีความสอดคล้องกับกฏหมายในกฏหมายตราสามดวง กฎหมายนี้รวบรวมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกฎหมายแทบทั้งหมดเป็นกฎหมายเก่าครั้งสมัยอยุธยา ประเภทของกฎหมายในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชหรือเนื้อหาของกฎหมายที่ปรากฏอาจแบ่งออกได้เป็นเรื่อง ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบกฎหมายในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชกับกฎหมายตราสามดวง
กฎหมายในตำนานพราหมณ์ กฎหมายตราสามดวง
เมืองนครศรีธรรมราช

พระกำหนด = พระราชกำหนด เป็นกฎหมายเก่าครั้งสมัยอยุธยา
พระธรรมสาสตร = พระธรรมสาสตร์ (พระธรรมศาสตร์) ประกอบด้วยเรื่องมหาสมมติราช, เรื่องทางตระลาการ มูลคดีทางตระลาการ ถือเป็นรากฐานของกฎหมาย
กฎหมายควบคุมและคุ้มครองพราหมณ์ = เทียบเท่ากับการออกกฎหมายกฎพระสงฆ์เพื่อควบคุมความเรียบร้อย
กฎหมายเกี่ยวกับพราหมณ์มาตราต่างๆ*= สามารถจัดหมวดหมู่ได้ตรงกับกฎหมายตราสามดวงหลายเรื่องด้วยกัน คือ
พระธรรมนูญ เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องการศาล
พรมศักดิ ว่าด้วยค่าชดเชยที่ผันแปรกับศักดินา
ตำแหน่งนาพลเรือน เป็นกฎหมายกำหนดศักดินา ซึ่งปรากฏว่าพราหมณ์ได้รับการกำหนดศักดิ
กฎหมายการแบ่งคน (บานแผนก)
ลักษณะรับฟ้อง
ลักษณะมรดก
ลักษณะเบ็ดเสร็จ ที่ประกอบด้วยหลายเรื่องด้วยกัน เช่น สาเหตุ (แห่งการวิวาท)
ลักษณะการวิวาทตีด่ากัน
ลักษณะเหล่านี้เป็นต้น
*เนื้อหาของกฎหมายในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชขอให้ไปอ่านในหัวข้อ 4.2 (หน้า 13-16) ซึ่งจะพบว่ามีความสอดคล้องกับหมวดหมู่ของกฎหมายตราสามดวงที่ยกมานี้

ดังนั้นกฎหมายเกี่ยวกับพราหมณ์เป็นการออกกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายทั่วไปดังเช่นตัวอย่างที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง แต่โดยรายละเอียดแล้วจะสอดคล้องกับคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์หรือจารีตทางศาสนาพราหมณ์ในขณะเดียวกันด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมพราหมณ์เมืองนครได้ถูกเชื่อมโยงสัมพันธ์เข้ากับสังคมอยุธยาทั้งทางด้านศาสนาและการปกครอง
พัฒนาการของสังคมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชได้เสื่อมโทรมลงในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ความเสื่อมโทรมนี้ส่วนหนึ่งคงพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะสามารถสังเกตได้จากพระกำหนดกฎหมายต่างๆที่เพิ่มขึ้นหลายมาตราเพื่อให้ครอบคลุมกรณีวิวาททั้งหลายมากที่สุด กฎหมายที่ปรากฏในสมัยพระเจ้าอู่ทองพบว่ามีจำนวนเพียง 3 เรื่องหลักๆ ซึ่งล้วนออกมาเพื่อควบคุมคุ้มครองข้าพระที่กัลปนาไปจากอยุธยาจำนวน 200 คน นั่นอาจหมายถึงอำนาจจากส่วนกลางที่ในระยะต้นยังมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่เมื่อเข้าสู่สมัยพระมหาจักรพรรดิ์จำนวนของมาตรากฎหมายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25 มาตรา โดยมีรายละเอียดและความชัดเจนที่มากขึ้นกว่าในสมัยพระชัยราชาธิราช และยังเป็นกฎหมายที่ออกมาซ้ำกับสมัยของพระชัยราชาธิราช ซึ่งแสดงถึงปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมพราหมณ์ แต่สิ่งนี้ก็แสดงถึงอำนาจรัฐจากส่วนกลางที่มีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง จะเห็นได้ว่าแม้ว่าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจะถูกควบคุมจากอำนาจส่วนกลางจากราชธานีอยุธยาไม่มากก็น้อย แต่ฐานะของพราหมณ์ยังคงมีเหนือกว่าบุคคลทั่วไปในชนชั้นอื่นดังเห็นได้จากศักดินาที่มากกว่าบุคคลในชนชั้นไพร่ เป็นต้น หรือในส่วนของกฎหมายพระกำหนดต่างๆก็ออกมาเป็นการเฉพาะทั้งในเรื่องของบทการลงโทษต่อบุคคลที่กระทำผิดต่อพราหมณ์ หรือบทลงโทษกับพราหมณ์ที่กระทำผิด แม้ว่าจะมีโทษหนักเพียงใดก็ปรากฏให้เพียงอยู่ในขั้นเนรเทศ และ “ถอดสุวรรณชักเกสาชักกุณทานเด็จทุรำถอดประวิศ สินเกส” (ดังปรากฏในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
5.1.2 เศรษฐกิจการค้ากับความสัมพันธ์ของการออกกฎหมาย
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวถึง การทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งของพราหมณ์กับกลุ่มคนต่างๆอันได้แก่ “...จีนสุรังวิลันดา แขกไทยนานาประเทศต่างภาษา…” (หน้า 29) และยังมีการกล่าวถึง “ทวยราษฎร์กตุมภี” (ในหน้าเดียวกัน) กตุมภี คือ กระฎุมพี อันหมายถึงชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่า ชนชั้นกระฎุมพีนี้คงเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายอันเป็นผลมาจากการค้า แต่ปรากฏบทบาทอย่างชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สาเหตุที่พราหมณ์เหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้จึงน่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและการค้า การเข้าใจพราหมณ์ในแง่มุมนี้ถือว่ายังมีไม่มากนัก
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ (2546) ได้ศึกษาบทบาทของขุนนางกรมท่าขวาพบว่าในกรุงศรีอยุธยามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าของพราหมณ์หรือชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูอันได้แก่ พราหมณ์เทศ หรือพราหมณ์เทษ หรือแขกพราหมณ์ กลุ่มคนเหล่านี้เชื่อว่าไม่ใช่พราหมณ์พิธี แต่เป็นราษฎรธรรมดาที่มาจากอินเดียหลักฐานที่กล่าวถึงพราหมณ์เทศปรากฏอยู่ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนโดยมีกำหนดตำแหน่งหลวงนนทเกษเป็นเจ้าท่าพราหมณ์เทศในสังกัดกรมท่าขวา ส่วนตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักสมัยพระเจ้าบรมโกษระบุว่าพราหมณ์ เทศมีหน้าที่รักษาพระนครว่า “สอรรประรำ วิประวาชี อำเภอพราหมณ์เทศ (รักษา) แต่หน้าวัดนางมุกมาหน้าวัดอำแมทั้งฉะกุนไปถึงเสาชิงช้า”
นอกจากนี้คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวงกล่าวถึงย่านพราหมณ์ไว้ว่า “...มีตลาดขายของในบ้านแขกใหญ่ ใกล้วัดอำแมชื่อตลาดจีน 1 ถนนย่านบ้านพราหมณ์น่าวัดช้าง มีตลาดต้นซาย กะบุงตะกร้ากะโล่ครุเชือก เสื่อลวดเครื่องสารครบ ชื่อ ตลาดบ้านพราหมณ์”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพราหมณ์ที่อยู่ในอยุธยามีทั้งพราหมณ์ที่รับราชการในราชสำนัก (พราหมณ์พิธี) และพราหมณ์ที่ทำการค้าซึ่งอาจหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์และหรือพราหมณ์ผู้เป็นนักบวชซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าโดยตรง ดังเช่น พราหมณ์ในอินเดียนั้นสามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้อีกหลายอาชีพตามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์
ในกฎหมายตราสามดวงได้ปรากฏกฎหมายมาตราหนึ่งกล่าวว่า“แขก พราหมณ ยวน ประเทศ ฝารัง อังกฤษ จีน จาม วิลันดา ฉวา มลายู กวย ขอม พม่า เข้ามาค้าขายทางบกทางเรือ ให้เจ้าพนักงานเก็บเครื่องสาสตราวุธ และอย่าให้ลอบลักซื้อขายกฤษนา ฝาง ดีบุก”จะเห็นได้ว่ากฎหมายมาตราข้างต้นนี้มีสินค้าสำคัญชนิดหนึ่งคือดีบุก ซึ่งมีแหล่งผลิตและแหล่งการค้าสำคัญอยู่ในพื้นที่แถบภูเก็ตและนครศรีธรรมราช โดยนครศรีธรรมราชเป็นเมืองสำคัญที่ควบคุมการค้าดีบุก อย่างไรก็ตามเราไม่อาจทราบได้ว่าพราหมณ์ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายมาตรานี้จะเกี่ยวข้องกับการค้าดีบุกจริงหรือไม่ เพราะกฎหมายนั้นอาจพูดถึงในภาพรวมแต่ในที่นี้จะขออนุมานว่าพราหมณ์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าไม่ว่าจะเป็นกฤษนา ฝาง และดีบุก และเป็นไปได้ว่าพราหมณ์พวกนี้คงมีเครื่องศาสตราวุธเข้ามาด้วย ความเติบโตทางการค้าในนครศรีธรรมราชคงเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางลงมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกี่ยวข้องกับการค้าทางตะวันตกโดยเฉพาะการค้าดีบุกที่เติบโตอย่างมากในสมัยอยุธยาตอนปลายซึ่งปรากฏหลักฐานในสมัยพระนารายณ์เป็นต้น เมื่อการค้าเติบโตจึงได้ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดให้จัดข้าวของจากกรุงศรีอยุธยาออกไปทำพิธีเทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในขณะนั้นชุมชนพราหมณ์คงได้ขยายตัวขึ้นจากการค้านี่เอง ดังนั้น ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รับการชำระขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยเพิ่มเติมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์ซึ่งได้เกิดวิวาทกัน อันเนื่องมาจากการค้าที่ขยายตัวขึ้น กลุ่มคนที่ เกี่ยวข้องกับการค้าที่สำคัญที่สุดก็คือฝรั่งและวิลันดา เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการให้กฎหมายมีผลย้อนหลังเพื่อคุ้มครองพราหมณ์ บุคคลที่มีปัญหากับพราหมณ์และอาจรวมถึงข้าพระที่พระเจ้าอู่ทองได้กัลปนาจำนวน 200 คน จึงต้องเพิ่ม ฝรั่งและวิลันดาเข้าไปในกฎหมายที่ตราขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง (หรือสมเด็จองค์นารายน์รามาธิบดี) จนถึงสมัยพระมหาจักรพรรดิ์
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ความเสื่อมโทรมของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าอาจเป็นเพราะเกิดการขยายตัวของกลุ่มชุนชนพราหมณ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก และความเกี่ยวข้องกับการค้าแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณาให้น้ำหนักด้วยก็คือ ความเสื่อมนี้อาจเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในราชธานรอยุธยา เพราะก่อนการครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นบ้านเมืองในช่วงสมัยพระเพทราชาลงมานั้นอยุธยาไม่มีเถียรภาพทางการเมืองเท่าที่ควร ดังนั้นจึงน่าส่งผลต่อการทำนุบำรุงทางด้านศาสนาด้วยเช่นกัน ดังนั้นศาสนาพราหมณ์จึงมาได้รับการฟื้นฟูในสมัยของพระองค์นั่นเอง จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองได้แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการชำระตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และขณะเดียวกันได้สะท้อนภาพของพราหมณ์ในอีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของพราหมณ์ซึ่งเป็นชนชั้นสูงของสังคมอยุธยาที่บางครั้งเข้าใจว่าอยู่นอกเหนือจากกฎหมาย

5.2 พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในแนวคิดประวัติศาสตร์อิสระ
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เป็นของตนเองก่อนที่จะถูกผนวกเข้ากับอยุธยา ในระหว่างต้นพุทธศตวรรษที่ 15-18 แคว้นตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เป็นคู่ค้าที่สำคัญกับจีนและติดต่อกับอินเดีย ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า พ.ศ. 1998 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะละกา ซึ่งหมายความว่านครศรีธรรมราชคงกลายเป็นเมืองในอาณาเขตของอยุธยา แต่ในสมัยก่อนหน้านี้ในพงศาวดารฉบับจันพันทนุมาศ (เจิม) ได้ปรากฏว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชในบรรดา 16 เมืองสมัยพระรามาธิบดี อยู่ในความครอบครองของอยุธยาแล้ว แต่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าอำนาจทางการเมืองของอยุธยาที่แท้จริง คงเริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชคงเป็นเมืองประเทศราชก่อนที่จะมาเป็นเมืองพระยามหานคร ในกฏมณเฑียรบาลในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยต้องเข้ามาดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จากบันทึกของลาลูแบร์ และคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าเมืองนครศรีธรรมราชปกครองโดยคนที่ถูกส่งมาจากเมืองหลวง หรือบุคคลท้องถิ่นที่ได้รับการเห็นชอบจากเมืองหลวง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย หลักฐานจากรายงานของโตเม ปิเรส (Tome Pires) ที่เดินทางเข้ามาในมะละกาได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองท่าสำคัญ ๆ ที่มีบทบาททางการค้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกตรงกับตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ 21 ในจำนวนเมืองท่าสำคัญที่ปรากฏชื่อในรายงานของโตเม ปิเรส เรื่อง The Suma Oriental มีเมืองนครศรีธรรมราชรวมอยู่ด้วย ซึ่งให้ภาพที่แตกต่างจากเอกสารฝ่ายอยุธยาที่มักจะเน้นความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างนครศรีธรรมราชกับกษัตริย์อยุธยาที่ส่วนกลางเป็นสำคัญ ทำให้ฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชถูกลดทอนลง แต่โตเม ปิเรส ได้ระบุว่าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีฐานะเป็นอุปราชซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญรองลงมาจากกษัตริย์ ที่สำคัญโตเม ปิเรส กล่าวว่า เมืองนครศรีธรรมราช (รวมทั้งเมืองท่าสำคัญอื่น ๆ) ล้วนมีเจ้าเมืองปกครองเยี่ยงกษัตริย์ และกษัตริย์ในเมืองเหล่านี้ยังสามารถดำเนินการค้าสำเภาได้เป็นของตนเอง มีเจ้าผู้ครองเมืองท่าจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะแข็งข้อต่ออยุธยา และสำหรับเจ้าเมืองนครแล้วถือเป็นผู้ที่มั่งคั่ง แต่ในขณะนั้นเมืองนครก็เป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของอยุธยา ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานเอกสารทางฝ่ายอยุธยา เอกสารของชาวฮอลันดาในสมัยอยุธยาตอนกลางกล่าวถึงความสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะของเมืองท่าที่ส่งพริกไทยและดีบุกป้อนตลาดอุษาอาคเนย์  จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นเพื่อควบคุมพราหมณ์และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าดีบุก นอกจากหลักฐานของโตเม ปิเรสแล้ว ที่กล่าวถึงความเป็นอิสระของเมืองนครศรีธรรมราชแล้วจะสังเกตเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาของอาณาจักรอยุธยาเมืองนครศรีธรรมราชมักเกิดกบฏขึ้นเสมอ เช่น ในปี พ.ศ. 2235 อยุธยาได้ยกกองทัพทั้งทางบกและทางเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช การสู้รบดำเนินเป็นเวลายาวนานถึง 3 ปี ในที่สุดกองทัพอยุธยาก็เข้ายึดเมืองสำเร็จ และเพื่อเป็นการควบคุมเมืองนครพระเพทราชาจึงนำวิธีการกัลปนาวัดกลับมาใช้อีกครั้ง คือให้อำนาจการควบคุมชุมชนมาอยู่ที่พระสงฆ์ หลักฐานในชั้นหลังลงมาก็ได้สนับสนุนถึงความเป็นเมืองอิสระของนครศรีธรรมราช คือ ใน พ.ศ. 2319 พระเจ้าตากสินโปรดให้เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) กลับไปปกครองนครศรีธรรมราช โปรดให้บรรดาศักดิ์เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสิมามีเกียรติเสมอเจ้าประเทศราช การที่เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีบรรดาศักดิ์ที่ระบุชัดว่า เป็นเจ้าประเทศราช นั่นจึงหมายถึงความเป็นอิสระต่อการปกครอง จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นถึงการมองเมืองนครศรีธรรมราชตามแนวคิดของประวัติศาสตร์อิสระ (Autonomy) คำถามสำคัญคือ เพราะเหตุใดเมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่มีความเป็นอิสระในระดับที่มีกษัตริย์เป็นของตนเองและเกี่ยวพันอย่างไรกับพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เหตุผลก็คืออย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น พราหมณ์เป็นชนชั้นหรือสถาบันที่กษัตริย์จำเป็นจะต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อติดต่อกับเทพเจ้าและเสริมสร้างความเป็นกษัตริย์ตามแนวคิดเรื่องเทวราชา หรือ สมมติเทพ ดังนั้น ในเมื่อเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเคยมีกษัตริย์ปกครองเป็นของตนเองย่อมมีพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก เพื่อทำให้กษัตริย์เป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้เกิดชุมนุมพราหมณ์ที่มีทั้งพราหมณ์พิธี และพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า อนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตีความข้างต้นก็เป็นการอาศัยแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์อิสระ ซึ่งพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชที่มีเป็นจำนวนมากจนราชสำนักอยุธยาต้องตรากฎหมายจากส่วนกลางเข้ามาควบคุม (ดังปรากฏในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช) นั้น อาจเกี่ยวข้องกับการค้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นกฏหมายที่ออกมาในสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงมีผลบังคับเฉพาะคนของพระองค์เท่านั้นคือ ข้าพระที่กัลปนาไป 200 คนเท่านั้น ต่อเมื่ออำนาจทางการเมืองของอยุธยาสามารถมีเหนือเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา โดยนักวิชาการบางท่านกล่าวว่าอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงของอยุธยาคงปรากฏในสมัยหลังจากนั้นลงมา คือ สมัยพระนเรศวร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์กฎหมายจากส่วนกลางที่เข้าควบคุมพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้เพิ่มมากขึ้นหลายมาตรา และครอบคลุมถึงพราหมณ์ในสังคมของเมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมด

6. สรุป
พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในบริบทของสังคมอยุธยาที่ทำการศึกษาจะเห็นได้ว่า มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชได้ถูกควบคุมเข้าสู่โครงสร้างทางสังคมในระบบการปกครองของอยุธยาดังเห็นได้จากมีการกำหนดศักดินา ตำแหน่ง หน้าที่ไว้อย่างชัดเจน พราหมณ์เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจส่วนกลาง และในขณะเดียวกันพราหมณ์เหล่านี้ก็ได้รับบทลงโทษเช่นกันหากกระทำความผิด บทลงโทษเหล่านี้ที่ปรากฏในรูปของกฎหมายมีที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ตรากฎหมายขึ้นมาคงเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก เมื่อนำแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์อิสระเข้ามาร่วมศึกษาแล้วก็จะพบว่า กฎหมายที่ปรากฏในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ได้แสดงพัฒนาการทางสังคม หรืออำนาจทางการเมืองของอยุธยาที่มีต่อเมืองนครศรีธรรมราช เพราะในช่วงต้นเมื่อนครศรีธรรมราชยังเป็นอิสระจากอยุธยา (พอสมควร) นั้นกฎหมายที่ควบคุมพราหมณ์ในเมืองนครจึงปรากฏเพียงไม่กี่มาตรา ต่อเมื่ออยุธยามีอำนาจเหนือเมืองนครมากขึ้นชุนชนพราหมณ์ (ซึ่งส่วนหนึ่งทำหน้าที่รับใช้กษัตริย์เมืองนคร) ก็ได้ถูกกฎหมายจากส่วนกลางเข้ามาควบคุมอย่างเต็มที่จึงปรากฏกฎหมายตราขึ้นหลายมาตรา อย่างไรก็ตามพราหมณ์ก็ยังถือเป็นชนชั้นพิเศษในราชสำนักอยุธยาดังเห็นได้จากบทลงโทษ ข้อยกเว้นเกี่ยวกับการลงโทษ ที่แตกต่างไปจากชนชั้นทั่วไปในสังคม และยังมีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองพราหมณ์อีกด้วย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการทำร้ายพราหมณ์ก็คือการทำลายความมั่นคงความศรัทธาของสถาบันกษัตริย์ไปด้วย วิถีชีวิตของพราหมณ์ตามความเข้าใจโดยทั่วไปแล้วมักมองว่า มีความเกี่ยวข้องเฉพาะพิธีกรรมของราชสำนัก และกษัตริย์ แต่ผลจากการศึกษาครั้งนี้ได้ทำให้เห็นมิติของพราหมณ์ที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหลักฐานทางตรงที่บอกในเรื่องนี้แต่เมื่อนำมาประมวลเข้ากับหลักฐานอื่น และสภาพการณ์แวดล้อมแล้วก็จะพบว่า กฎหมาย ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชตราขึ้นมาจากสาเหตุความวุ่นวายอันเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของเมืองนครที่ขยายตัวขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าด้วยแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจนี้เองที่ทำให้สังคมพราหมณ์ในเมืองนครเกิดความซับซ้อน (และปัญหา) ตามมา จนในท้ายที่สุดอาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นในหมู่พราหมณ์ เพราะมัวแต่มุ่งหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับพราหมณ์เมืองนครนี้คงส่งผลกระทบต่อทางกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียว ทั้งทางด้านการเมือง คือ ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ และทางด้านเศรษฐกิจ คือ ส่งผลกระทบต่อการค้า การที่อยุธยาให้ความสำคัญกับเมืองนครศรีธรรมราชเช่นนี้ก็เพราะนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ และเมืองที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองในคาบสมุทรมลายู ดังนั้นความสงบเรียบร้อยของวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนคร โดยเฉพาะกลุ่มพราหมณ์ ซึ่งในขณะนั้นคงเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่นับถือพุทธศาสนาในเมืองนคร จึงจำเป็นต้องรักษาความสงบทางหัวเมืองด้วยการควบคุมด้วยการออกกฎหมายทั้งหมดนี้คือ ภาพของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในบริบทของสังคมอยุธยา ในทางกลับกันพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชก็ได้เป็นตัวแทนต่อการทำความเข้าใจพราหมณ์และราชสำนักอยุธยาในขณะเดียวกัน



บรรณานุกรม
กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง.
กรมศิลปากร. พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พระนคร : ไทยพาณิชยการ. 2503.
“------------“. กฎหมายตราสามดวง. เล่ม 1. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. 2515
“------------“. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ. 2544.
“------------“, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรรมราช, สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. ทำเนียบโบราณสถานในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช, วันที่ 14-15 พฤษภาคม 2545, จังหวัดนครศรีธรรมราช. 2545. (เอกสารอัดสำเนา)
กาญจนา สุวรรณวงศ์. วิถีชีวิต พิธีกรรม และการธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มพราหมณ์ราชสำนักในสังคมไทย: ศึกษากรณีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์พระนคร. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2539.
กาญจนาคพันธุ์. ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์. พระนคร : สำนักพิมพ์สาส์นสวรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 1. 2512.
ขุนวิจิตรมาตรา. ประวัติการค้าไทย. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น. 2511.
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา: การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2153-2435. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2546.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2542.
ชัยวุฒิ พิยะกูล. ตำราพราหมณ์เมืองพัทลุง. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. 2543.
ตรี อมาตยกุล. “นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา”, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์. 2521.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2527.
ปาริชาติ วิลาวรรณ. การค้าของป่าในประวัติศาสตร์อยุธยา พ.ศ.1893-2310. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2527.
ปรีชา นุ่นสุข. ร่องรอยชุมชนโบราณของพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2527.
“--------------“. “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช: ภาพของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ 19-23”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 7, ฉ.7, 2529.
“--------------“. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. นครศรีธรรมราช : โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ ฝ่ายสำนักพิมพ์สำนักงานอธิการบดี สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. 2539.
พระราชครูวามเทพมุนี. “พราหมณ์ในนครศรีธรรมราช”, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช. 2521.
พิเศษ เจียจันทร์พงศ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพ : บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์, มติชน. 2545.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547.
ไมเคิล ไรท์. “พราหมณ์กรุงเทพมาจากไหน”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 9, ฉ.9. 2531.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช. นครหลวง : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. 2473.
สนั่น ปรางค์ทอง. การศึกษาอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์บนเกาะเมืองอยุธยา. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2534.
สุกัญญา ห่อประทุม. การศึกษาวิเคราะห์เรื่องปุโรหิตในวรรณคดีสันสกฤต และในวัฒนธรรมไทย. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2531.
สุเนตร ชุตินธรานนท์. “ลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช ศึกษาจาก The Suma Oriental ของ Tome Pires”, เมืองโบราณ, ปีที่ 17 ฉบับ 1 2534 หน้า 84-88.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. 2536.
อาคม พัฒิยะ, นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์. 2527.
Sunait Chutintaranond and Chris Baker (edited). Recalling Local Past: Autonomous History in Southeast Asia. Chiang Mai: Silkworm Books. 2002.
Dhiravat na Pombejbeira. “Towards a History of Seventeenth-Century Phuket”, Recalling Local Pasts: Automonous History In Southeast Asia. 2002, 89-126.








เชิงอรรถ
กรุงศรีอยุธยาตอนต้น บางท่าอาจมีความเห็นว่าควรเรียกว่า “อโยธยา” สนใจเรื่องนี้ดู อาคม พัฒิยะ, นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร. 2527.
แต่ในที่นี้จะขอใช่คำว่า กรุงศรีอยุธยา หรือ อยุธยา เพื่อเป็นการใช้เรียกโดยทั่วไป
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. 2542.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547.
พิเศษ เจียจันทร์พงศ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. 2545.
กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง.
กรมศิลปากร. พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). 2503, 1.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2542; กาญจนา สุวรรณวงศ์. วิถีชีวิต พิธีกรรม และการธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มพราหมณ์ราชสำนักในสังคมไทย: ศึกษากรณีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์พระนคร. 2539; ตรี อมาตยกุล. “นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา”, 2521.
ปรีชา นุ่นสุข. ร่องรอยชุมชนโบราณของพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช. 2527.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช. 2473.
ปรีชา นุ่นสุข. 2527; กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539; พระราชครูวามเทพมุนี. “พราหมณ์ในนครศรีธรรมราช”, 2521; ไมเคิล ไรท์. “พราหมณ์กรุงเทพมาจากไหน”, 2531, 110-111.
บางท่านเรียกว่า ประวัติศาสตร์ตัวตน ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Autonomy ดูเพิ่มเติมใน Sunait Chutintaranond and Chris Baker (edited). Recalling Local Past: Autonomous History in Southeast Asia. 2002.
ในขั้นตอนพัฒนาการของศาสนาพราหมณ์หรือที่บางท่านเรียกว่า ศาสนาฮินดู นั้น ศาสนาพราหมณ์ได้มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เป็นต้นว่าในสมัยก่อนการเข้ามาของพวกอารยันศาสนานี้เรียกว่า ศาสนาสนาตนะ เมื่อพวกอารยันเข้ามาแล้วจึงเรียกศาสนานี้ว่า ศาสนาพระเวท เพราะยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก (พระเวท หมายถึงความรู้มาจากพระผู้ประเสริฐ คือ พรหม นั่นเอง) ในสมัยอินเดียโบราณตอนปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ 6) ได้เรียกศาสนานี้ว่า ศาสนาอารยะ ในระยะนี้ได้เกิดคัมภีร์ขึ้นจำนวนมาก เริ่มมีคำอธิบายพระเวท และประเภทของพราหมณ์ หลังจากยุคอินเดียโบราณแล้ว จึงได้เรียกว่า ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแปลว่าคำสั่งสอนของพราหมณ์ ในสมัยนี้ได้เกิดที่เชื่อว่า ชีวิตในโลกนี้เป็นทางเตรียมไปสู่โมกษะ คือ การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับองค์ปรมาตมัน เน้นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้พราหมณ์มีบทบาทในสังคม เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของอินเดีย ศาสนาพราหมณ์ได้รับการเรียกว่า ศาสนาฮินดู เป็นคำเรียกที่มาจาก แม่น้ำสินธุ ฮินดู แปลว่า ธรรมะที่สอนหลักอหิงสา บางครั้งมีการเรียกเป็นคำต่อเนื่องกันว่า ศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็มี อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปแต่นักบวชในศาสนานี้ก็ได้รับการเรียกขานว่า พราหมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม สั่งสอนหลักธรรม (กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 25-26)
ในแต่ละช่วงเวลาวรรณะพราหมณ์อาจถือว่าเป็นวรรณะสูงสุด แต่ในบางครั้งวรรณะกษัตริย์ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณะสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 34-35.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 61-62.
สุกัญญา ห่อประทุม. การศึกษาวิเคราะห์เรื่องปุโรหิตในวรรณคดีสันสกฤต และในวัฒนธรรมไทย.2531, 50.
ปรีชา นุ่นสุข. 2527; กรมศิลปากร. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช.2544.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 77-78; กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, เล่ม 1.
กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช. 2545.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 53.
กาญจนาคพันธุ์. ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์. 2512; พระราชครูวามเทพมุนี. “พราหมณ์ในนครศรีธรรมราช”, 2521; ปรีชา นุ่นสุข. 2529; ไมเคิล ไรท์. 2531; กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539; สุกัญญา ห่อประทุม. 2531.
ปรีชา นุ่นสุข. 2529; ไมเคิล ไรท์. 2531.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย. 2536.
ปรีชา นุ่นสุข. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอายุของเอกสารว่ายังมีความสับสนอยู่จึงทำให้นักวิชาการอีกหลายท่านไม่ให้ความเชื่อถือเอกสารฉบับนี้ (ดูปรีชา นุ่นสุข. “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช: ภาพของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ 19-23”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 7, ฉ.7, 2529.) แต่จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุของเอกสารชิ้นนี้ได้ และระยะเวลาที่เอกสารชิ้นนี้ได้ถูกชำระ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473, 1.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473, 38.
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. 2546.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2547, 114-116.
ขุนวิจิตรมาตรา. ประวัติการค้าไทย. 2511.
อย่างไรก็ตามการชำระนั้นไม่ได้หมายความว่าเอกสารนั้นจะไม่มีความน่าเชื่อถือเสียทีเดียว แนวคิดแบบไทยเกี่ยวกับการชำระเอกสารทางประวัติศาสตร์นั้นมีนัยยะหลากหลาย การชำระไม่เพียงแต่หมายถึงการแก้ไขข้อผิดพลาดในเอกสารเช่นการแก้ไขคำที่สะกดผิด หรือเติมข้อความที่ขาดหายหรือตัดส่วยที่เติมมาในภายหลังออก แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเอกสารในสาระสำคัญด้วย เช่นเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของบุคคลให้ตรงกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในสมัยหลัง การเติมข้อความ และรวมถึงการเขียนใหม่ โดยกระบวนการชำระนั้นเป็นสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง โยเนโอะ อิชิอิ เขียน, นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปล. “พระธรรมสาตรไทย”, กฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย. 2536, 14.
ปรีชา นุ่นสุข. 2529.
สาเหตุที่แบ่งออกเป็น 5 ตอนหลัก เพราะจากการอ่านในเบื้องต้นพบว่าตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช นอกจากจะถูกชำระแล้ว เมื่ออ่านสำนวนภาษาอย่างละเอียดก็จะพบว่าอาจจะสามารถแบ่งออกได้อีกหลายตอนเช่นกัน ซึ่งจะต้องเป็นการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิรุกติศาสตร์ สิ่งที่อยากให้สังเกตอีกประการหนึ่งคือ นักวิชาการที่ใช้เอกสารชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการขาดความระมัดระวังในการใช้หลักฐานโดยไม่ได้สังเกตว่าเอกสารชิ้นนี้มีการชำระที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ดังที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2473) ได้ให้ความเห็นว่าเมืองรามราชนครนี้ เป็นสำนวนที่ผู้เขียนตำนานได้ใช้เปรียบเทียบว่าเมืองนครศรีธรรมราชคือเมืองรามราช เพราะพราหมณ์จากเมืองนี้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองรามราช หรือพาราณสีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเขตอินเดียใต้ในขณะที่ไมเคิล ไรท์ (2531) ได้ให้ความเห็นว่าเมืองรามราชนครคือเมืองพาราณสีที่อยู่ในอินเดียใต้จริง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชที่อยู่ในการควบคุมของอยุธยา และเมืองพาราณสี
ความเข้าใจแต่เดิมเชื่อว่าชีพ่อพราหมณ์นั้นเป็นคำเดียวกัน แต่จากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนี้จะพบว่ามีการแยกคำชีพ่อ ออกจากคำว่าพราหมณ์ ทำให้สันนิษฐานว่าชีพ่อน่าจะหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ หรือพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรม ดังเช่น พราหมณ์เมืองพัทลุงที่นุ่งขาวห่มขาวซึ่งเรียกว่าชี เป็นต้น (ชัยวุฒิ พิยะกูล. ตำราพราหมณ์เมืองพัทลุง 2543) หรืออาจจะหมายถึงผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ที่ยังไม่ได้บวชเป็นพราหมณ์ ซึ่งยังไม่ผ่านการบวชทวิชาติ
ปรีชา นุ่นสุข (2529) น่าจะเกิดความสับสนในการอ่าน เพราะได้กล่าวว่า มีการลงโทษพราหมณ์สถานหนักถึงประหารชีวิต เพราะในความเป็นจริงแล้วตามคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ได้กำหนดโทษของพราหมณ์สูงสุดไว้เพียงการเนรเทศ (ดูรายละเอียดใน สุกัญญา ห่อประทุม 2531)
การปรากฏคำว่า จัณฑาล ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (หน้า 47) อาจแสดงให้เห็นถึงความรับรู้ และความเข้มข้นของระบบวรรณะในเมืองนครศรีธรรมราชที่มีมากกว่ากรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้
ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรธรรมราช. 2473, 19.
ความเข้าใจแต่เดิมเชื่อว่าชีพ่อพราหมณ์นั้นเป็นคำเดียวกัน แต่จากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนี้จะพบว่ามีการแยกคำชีพ่อ ออกจากคำว่าพราหมณ์ ทำให้สันนิษฐานว่าชีพ่อน่าจะหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ หรือพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรม ดังเช่น พราหมณ์เมืองพัทลุงที่นุ่งขาวห่มขาวซึ่งเรียกว่าชี เป็นต้น (ชัยวุฒิ พิยะกูล. ตำราพราหมณ์เมืองพัทลุง 2543) หรืออาจจะหมายถึงผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ที่ยังไม่ได้บวชเป็นพราหมณ์ ซึ่งยังไม่ผ่านการบวชทวิชาติ
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539.
สุกัญญา ห่อประทุม. 2531, 93-94.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473, 30.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473.
ขุนวิจิตรมาตรา. ประวัติการค้าไทย. 2511.
หลักฐานที่ปรากฏก็คือที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้กับการซ่อมแซมด้วยการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้าในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ.2275-2301 ซึ่งถือเป็นการบูรณะวัดสำคัญที่สุดของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยอยุธยา (กรมศิลปากร 2545)
สรุปและจัดหมวดหมู่จาก โยเนโอะ อิชิอิ เขียน นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปล. 2536.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ. 2527.
สุกัญญา ห่อประทุม.2531.
อ้างตาม ปาริชาติ วิลาวรรณ.2527.
Dhiravat na Pombejbeira. “Towards a History of Seventeenth-Century Phuket”, Recalling Local Pasts: Automonous History In Southeast Asia. 2002, 89-126. และใน ปาริชาติ วิลาวรรณ.2527.
ขุนวิจิตรมาตรา. 2511; กรมศิลปากร 2545.
กาญจนา สุวรรณวงศ์. 2539, 48.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2547.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2547, 84.
สุเนตร ชุตินธรานนท์. “ลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช ศึกษาจาก The Suma Oriental ของ Tome Pires”, เมืองโบราณ, ปีที่ 17 ฉบับ 1 2534 หน้า 84-88.
กรมศิลปากร.2545, 13.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2547.
กฎหมายมักเป็นสิ่งที่ตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเป็นส่วนใหญ่
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2547; สุเนตร ชุตินธรานนท์. 2534.

Pin It